มรดกพระจอมเกล้า

พ.ศ. ๒๔๙๗

ความยาว ๖๐ นาที

ฟิล์ม ๑๖ มม. / สี / เสียง จำนวน ๓ ม้วน

อำนวยการสร้าง  สำนักข่าวสารอเมริกัน กรุงเทพ

ผู้สร้าง  ปรเมรุภาพยนตร์


          หลังจากที่สำนักข่าวสารอเมริกันได้เข้ามาตั้งสำนักงานในประเทศไทย บทบาทที่สำคัญหนึ่งคือการโหมประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับประเทศสหรัฐอเมริกาให้คนไทยรู้จัก และได้เชิญชวนนักสร้างหนังไทยมืออาชีพมาสร้างภาพยนตร์ที่เรียกว่าภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อให้สำนักข่าวสารอเมริกัน กรุงเทพ 

          ม.จ. ศุกรวรรณดิศ ดิศกุล หรือที่คนในวงการหนังไทยเรียกกันว่า “ท่านขาว” พระโอรสของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นหนึ่งท่านที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักข่าวสารอเมริกัน กรุงเทพ ท่านได้ฝากฝีไม้ลายมือการกำกับภาพยนตร์มาแล้ว ตั้งแต่สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ และสร้างชื่ออีกครั้งเมื่อสร้างภาพยนตร์เรื่อง “สุภาพ-บุรุษเสือไทย” ร่วมกับ แท้ ประกาศวุฒิสาร ในนามของบริษัทปรเมรุภาพยนตร์ ซึ่งเป็นภาพยนตร์เรื่องสำคัญที่ทำให้เกิดการสร้างภาพยนตร์ด้วยฟิล์มขนาด ๑๖ มม. ใช้การพากย์สดเมื่อนำออกฉาย และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เมื่อสหรัฐฯ คิดจะสร้างภาพยนตร์เพื่อเชิดชูคุณงามความดีของประเทศตนที่มีต่อประเทศไทย จึงได้ชักชวน “ท่านขาว” มาร่วมงานภาพยนตร์เรื่อง “มรดกพระจอมเกล้า” 

          เป็นผลงานเรื่องสำคัญของสำนักข่าวสารอเมริกัน กรุงเทพ ทางสำนักงานคงคิดอย่างดีแล้วว่าจะทำเรื่องอะไรดี ก็คงมาสรุปว่าเอาเรื่องที่แสดงความสัมพันธ์อันดีตั้งแต่เริ่มต้นระหว่างอเมริกันกับไทย ซึ่งก็คือเรื่องที่คนอเมริกันเข้ามาสยามและทำประโยชน์ให้ชาวสยาม มีตัวละครที่คนไทยรู้จักกันดี อยู่ในเรื่องด้วย ได้แก่ดอกเตอร์แดน แบรดลีย์ หรือที่คนไทยเรียกหมอปรัดเล หมอสอนศาสนาซึ่งเป็นนายแพทย์ด้วย เป็นตัวเอกฝ่ายอเมริกัน ตัวเอกฝ่ายไทย คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ และมรดกของพระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ 

          สำนักข่าวสารอเมริกันได้จ้างผู้สร้างหนังจากฮอลลีวู้ดเข้ามาเป็นผู้สร้าง แต่คงด้วยเหตุผลความเหมาะสมบางอย่าง จึงให้หม่อมเจ้าศุกรวรรณดิศ เป็นผู้ร่วมดำเนินงานด้วย ภาพยนตร์นี้ผู้สร้างเดิมคือ สำนักข่าวสารอเมริกัน ตั้งใจให้เป็นภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อให้สหรัฐอเมริกา แต่เมื่อมีคนไทยเข้าไปร่วมทำด้วย จึงมีความคิดของไทยเข้าไปผสมปนด้วย และน่าสังเกตว่ามีตัวละครอีกตัวหนึ่งของฝ่ายไทย คือกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ค่อย ๆ แสดงบทบาทอยู่หลังฉากแต่เอาเข้าจริงดูเหมือนว่าเป็นมรดกพระจอมเกล้าที่หนังไม่ได้เจตนาชวนเชื่อมาก่อน

          ถึงแม้จะใช้ผู้สร้างมืออาชีพมาจากฮอลลีวู้ด แต่กองถ่ายมิได้ใช้นักแสดงอาชีพ หากใช้ผู้แสดงสมัครเล่นหรือกิตติมศักดิ์ เช่น ผู้แสดงเป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ซึ่งมีบทตั้งแต่เมื่อเป็นพระภิกษุ ยังไม่ได้ขึ้นครองราชย์ จนขึ้นครองราชย์ ก็ได้ “สันตสิริ” หรือ สงบสวนสิริ นักประพันธ์นักหนังสือพิมพ์มาเล่น ซึ่งท่านได้เขียนเล่าที่มาว่า ที่ได้จับพลัดจับผลูไปแสดงภาพยนตร์มาจากวันหนึ่งได้ข่าวว่า “ท่านขาว” ไปตั้งกองถ่ายทำภาพยนตร์ให้อเมริกันที่วังท่าพระ จึงไปเยี่ยมชม เวลานั้นกองถ่ายยังหาคนแสดงบทพระจอมเกล้าไม่ได้ เมื่อนาย Arnold Belgard ผู้แต่งเรื่อง “มรดกพระจอมเกล้า” เห็นรูปร่างหน้าตาท่าทีของสันตสิริ ว่าเล่นเป็น ร.๔ ได้ จึงปรึกษาหารือท่านขาวให้ชักชวนมารับบทนี้ ส่วนหมอบรัดเลนั้นก็เอาคนวงใน คือ Daniel Moore เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของสำนักข่าวสารอเมริกันที่เชียงใหม่มาแสดง  สันตสิริเล่าเกร็ดเครื่องแต่งกายของตัวแสดงหมอบรัดเลว่า ใส่ชุดแต่งกายเป็นฝรั่งอเมริกันสมัยอับราฮัม ลินคอล์น ราวกับจะแข่งกับ เร็กซ์ แฮริสัน ในภาพยนตร์เรื่อง Anna and the King of Siam และให้ไว้ผมต่อจอนยาวยิ่งกว่าจอนของ “อิงอร” นักเขียนท่านหนึ่งเสียอีก

มรดกพระจอมเกล้า ดำเนินเรื่องตั้งแต่ครั้งเจ้าฟ้ามงกุฎยังทรงผนวชในรัชกาลที่ ๓ ภาพยนตร์แสดงให้เห็นว่าสมเด็จพระทรงมีพระสหายเป็นหมอสอนศาสนาชาวอเมริกัน คือ หมอบรัดเล ซึ่งทรงคุ้นเคยและเรียนรู้เรื่องราวทางวิทยาการสมัยใหม่จากพระสหายท่านนี้ มีฉากที่แสดงให้เห็นบทบาทสำคัญของหมอบรัดเล เช่น ครั้งหนึ่ง ในงานฉลองสมโภชที่วัดประยุรวงศาวาส ซึ่งสมเด็จพระเสด็จฯ อยู่ในงานด้วย มีการยิงสลุด แล้วเกิดอุบัติเหตุระเบิดขึ้น มีพระภิกษุรูปหนึ่งถูกสะเก็ดระเบิดอาการสาหัส สมเด็จพระให้ตามหมอบรัดเลมารักษา อันเป็นมูลเหตุให้มีการรักษาโดยการผ่าตัดสมัยใหม่ขึ้นเป็นรายแรกในสยาม ทำให้สมเด็จพระทรงมีความเลื่อมใสหมอฝรั่งคนนี้มากขึ้น

          ต่อมาได้เกิดโรคไข้ทรพิษระบาด ราษฎรล้มตายกันมาก สมเด็จพระทรงกลัดกลุ้มพระราชหฤทัยที่ราษฎรของพระองค์ต้องเสียชีวิตลงเพราะโรคร้ายมากมาย  ทรงทราบข่าวว่าหมอบรัดเลกำลังทดลองเพาะเชื้อเซรั่มหรือเชื้อโรคใส่เข้าไปในร่างกายคนเพื่อไม่ให้ติดโรคนี้ นั่นคือ วิธีการปลูกฝี โดยยอมทดลองทำกับลูกสาวของหมอเองก่อน เมื่อทรงเห็นความอุตสาหะของหมอบรัดเล จึงทรงคลายความกังวล อีกทั้งเมื่อปรากฏว่าเซรั่มนั้นใช้ได้ผลดีจริง จึงทรงให้มีการปลูกฝีให้ราษฎร ทำให้ราษฎรของพระองค์รอดพ้นจากการระบาดของโรคร้ายได้ในที่สุด

          แรก ๆ ชาวบ้านจะยังไม่ไว้เนื้อเชื่อใจหมอบรัดเล ด้วยหน้าตาที่ผิดแผกไปจากคนธรรมดา อีกทั้งรูปร่างที่ใหญ่โต เมื่อทำการตรวจรักษาโรคก็มีเครื่องมืออันแปลกประหลาด อาทิ หูฟังทางการแพทย์ เด็ก ๆ มักจะหวาดกลัวคิดว่าเป็นงูแฝดก็ไม่ยอมให้หมอตรวจร่างกาย  สมเด็จพระซึ่งเสด็จผ่านมาจึงทรงอธิบายให้เด็กได้เข้าใจว่าเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ 

          ต่อมาเมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๓ สมเด็จพระเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงมีกระแสพระราชดำรัสประกาศว่า ในรัชสมัยของพระองค์ทรงมีความนิยมและไม่มีความระแวงสงสัยคนอเมริกันในทุกกรณี ทรงมีพระราชสาส์นไปถึงประธานาธิบดีลินคอล์น ในเวลาที่กำลังมีสงครามกลางเมือง ทรงแสดงพระราชประสงค์จะส่งช้างไปช่วยในการรบ นับว่าความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับสหรัฐอเมริกาเป็นไปด้วยดีอย่างยิ่ง นับแต่นั้นมา ความเจริญทางด้านต่าง ๆ ก็หลั่งไหลเข้ามาสู่ประเทศสยามอย่างรวดเร็ว เช่น แท่นพิมพ์ เครื่องทำเหรียญกษาปณ์ การปกครองแผนใหม่ การเรียนการสอน โดยเฉพาะทรงโปรดฯ ให้แหม่มภริยาของมิชชั่นนารีอเมริกันเป็นครูสอนภาษาอังกฤษแก่สตรีในราชสำนักเพื่อจะได้ไปสอนสามีของตนต่ออีกทีหนึ่ง (แน่นอน เรื่องนี้จึงไม่มีครูแหม่มแอนนาชาวอังกฤษ)

          ภาพยนตร์แสดงให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์และทรงศึกษาค้นคว้าปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์อย่างมุ่งมั่น  ทรงตรากตรำในการคำนวณการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงที่หว้ากอ และเสด็จไปทอดพระเนตรที่นั่น เป็นเหตุให้ทรงประชวรและเสด็จสวรรคตอย่างปัจจุบันเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ พระราชโอรสได้ทรงสืบราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงเป็นกษัตริย์หนุ่มที่ตั้งพระทัยจะพัฒนาประเทศและทำนุบำรุงให้ราษฎรอยู่ดีกินดีขึ้น ได้เสด็จฯ ทรงเยี่ยมราษฎรอย่างเป็นการส่วนพระองค์ที่เรียกว่าประพาสต้นเสมอ  ซึ่งภาพยนตร์ได้แสดงฉากจากเหตุการณ์ประพาสต้นที่คนไทยรู้จักกันดี คือเสด็จฯ บ้านเจ๊กฮวด ที่สมุทรสงคราม 

          อยู่มาวันหนึ่งได้เกิดอหิวาตกโรคระบาดใหญ่อีก คราวนี้ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพทรงแนะนำให้ในหลวงก่อตั้งโรงเรียนแพทย์เพื่อให้ประเทศสยามสามารถผลิตหมอรักษาโรคระบาดได้เอง แล้วแนะนำฝรั่งชาวอเมริกัน ชื่อ ยอร์จ แมคคาแลน ซึ่งเป็นหมอทำฟันฝีมือดีและรักเมืองไทยพอ ๆ กับอเมริกาให้เป็นอาจารย์สอนนักเรียนแพทย์ เป็นอันว่าสยามจึงมีโรงเรียนสอนการแพทย์ขึ้นเป็นแห่งแรกด้วยความช่วยเหลือจากคนอเมริกัน จากนั้นกรมดำรงฯ ยังได้ทรงทำหน้าที่ถวายคำแนะนำและคำปรึกษาเมื่อในหลวงทรงปรึกษาในเรื่องต่างเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศ ทำให้ประเทศสยามมีความเจริญก้าวหน้าขึ้นมากมาย  

          สำนักข่าวสารอเมริกัน ได้นำภาพยนตร์นี้ออกฉายเผยแพร่ทั้งในโรงภาพยนตร์และหน่วยฉายหนังกลางแปลงทั่วประเทศ โดยเฉพาะการส่งไปฉายในเด็กนักเรียนดูกันถึงในโรงเรียน ก่อนที่สำนักข่าวสารอเมริกันนี้จะมีบทบาทในการสร้างความรู้สึกนิยมชมชื่นในประเทศสหรัฐอเมริกา ว่าเป็นมหามิตรใหม่ของคนไทย เป็นเพื่อนที่หยิบยื่นความช่วยเหลือนานาชนิดมาให้คนไทย เพื่อปกป้องมิให้ประเทศไทยอันแสนน่าอยู่ต้องตกไปเป็นสมุนหรือขี้ข้าของลัทธิคอมมิวนิสต์ที่คิดครองโลก

          มรดกพระจอมเกล้า ในปัจจุบันจึงมีค่าเป็นเอกสารหลักฐานการสร้างอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาต่อประเทศไทย ผ่านการทำสงครามจิตวิทยา ซึ่งกลายเป็นสงครามเย็นที่ครอบงำโลกในยุคทศวรรษของปี พ.ศ. ๒๔๙๐ – ๒๕๑๐ เป็นบันทึกความทรงจำของยุคสมัยที่สังคมไทยเริ่มผูกพันอันดีกับอเมริกันได้เป็นอย่างดี ซึ่งไม่อาจจะสัมผัสได้จากคำบอกเล่า


มรดกภาพยนตร์ของชาติ

ดูทั้งหมด

Goal Club เกมล้มโต๊ะ

ฟิล์ม 35 มม. / สี /เสียง / 98 นาทีวันที่ออกฉาย               27 เมษายน 2544บริษัทสร้าง      &nb...

อ่านรายละเอียด

สาย สีมา นักสู้สามัญชน

ฟิล์ม 35 มม. / สี / พากย์ / 100 นาทีวันที่ออกฉาย      27 มิถุนายน 2524บริษัทสร้าง    พิฆเณศภาพยนตร์ผู้อำนวยการสร้าง ...

อ่านรายละเอียด

วิมานดารา

ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง /  141 นาทีวันที่ออกฉาย 19 มกราคม 2517บริษัทสร้าง            เทพชัยภาพยนตร์ผู้กำกับ&nbs...

อ่านรายละเอียด

ทอง

ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง / 113 นาทีฉายครั้งแรก               22 ธันวาคม 2516บริษัทสร้าง   ...

อ่านรายละเอียด