รุ่งอรุณวันใหม่ในป่า

วิดีโอ ๘ / สี / เงียบ / ๓๒.๓๗ นาที

๒๕๒๓

ผู้สร้าง กลุ่มประสานงานศิลปวรรณคดีและโฆษณาการภูพาน โดย “สหายรัศมี”


หลังจากเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๖ ซึ่งนักศึกษาและประชาชนจำนวนมากออกมาชุมนุมเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร นำไปสู่การใช้กำลังทหารเข้าปราบปราม จนมีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิตและสูญหาย หลังเหตุการณ์นั้น จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร ต้องเดินทางออกนอกประเทศ และมีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ นำไปสู่การเลือกตั้งใน พ.ศ. ๒๕๑๘ ประเทศไทยเข้าสู่ช่วงสมัยที่เรียกกันว่า ประชาธิปไตยเบ่งบาน มีการชุมนุมการเดินขบวนเพื่อเรียกร้องต่าง ๆ ของแทบจะทุกกลุ่มทุกหมู่เหล่า และแทบทุกวัน อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน


แต่เบ่งบานอยู่ได้เพียงปีเศษ ได้เกิดความขัดแย้งขึ้นในสังคมไทยอันนำไปสู่เหตุการณ์ที่ปิดล้อมฆ่าและจับกุมนักศึกษาในกรณี ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ และกองทัพได้ทำรัฐประหาร ตั้งนายธานินทร์ กรัยวิเชียร นักต่อต้านคอมมิวนิสต์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีการกวาดล้างฝ่ายซ้ายซึ่งรัฐถือว่าเป็นคอมมิวนิสต์และคนขายชาติอย่างรุนแรง คนหนุ่มสาวเหล่านี้จำนวนมากได้หนีเข้าไปร่วมกับกองทัพปลดแอกประชาชนไทยของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในเขตจัดตั้งในป่าเขาของพรรคทั่วประเทศ อาจกล่าวได้ว่านโยบายปราบปรามคอมมิวนิสต์อย่างแข็งกร้าวของรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียรได้สร้างแนวร่วมให้กับทางพคท.เป็นจำนวนมาก และทำให้ในความรู้สึกนึกคิดของผู้ร่วมขบวนการฯ ขณะนั้น ความหวังที่จะรบชนะของพคท.อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมดังที่ปรากฏในบทเพลงสหายที่บอกว่าจะกลับมา “ปักธงแดงกลางนคร”


อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาของการต่อสู้ดำเนินไปนั้น การเปิดเผยตัวตนของผู้ปฏิบัติงาน พคท.เป็นเรื่องไม่ปกติ เพราะการที่เป็นขบวนการปฏิวัติใต้ดินนั้นจำเป็นจะต้องปิดลับ เพื่อความปลอดภัยทั้งของตัวเองและองค์กร แต่ภาพยนตร์ขนาด ๘ มิลลิเมตรซึ่งมีชื่อว่า รุ่งอรุณวันใหม่ในป่า ถ่ายทำโดย “สหายรัศมี” คนเชื้อสายเวียดนามในไทยซึ่งเป็นทหารพิทักษ์ของสหายเจริญผู้มีตำแหน่งเป็นกรรมการภาคของพรรคคอมมิวนิสต์ ได้บันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ของพรรค โดยเฉพาะกิจกรรมสำคัญในฐานที่มั่นบนเทือกเขาภูพาน ในวันที่มีกิจกรรมสำคัญของค่าย เมื่อมีสหายจากเขตงานอื่นมาเยือน สหายเข้าแถวจับมือส่งและต้อนรับผู้มาเยือนเขตงาน เห็นการรับประทานอาหารร่วมกัน การร้องรำทำเพลง การทำงานของหน่วยเภสัช กิจกรรมการเรียนการสอนและออกกำลังกายในโรงเรียนเยาวชนอนุชนปฏิวัติ เราได้เห็นเครื่องแต่งกายที่ต่างกันของปัญญาชนแนวร่วมกับสหายชาวนา และได้เห็นกิจกรรมในวาระพิเศษ คือ การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ชุดที่ ๓ ครั้งที่ ๑ ระหว่างวันที่ ๒๕ ก.พ. – ๓ มี.ค. ๒๕๒๓ ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมเหล่านี้เป็นสมาชิกพรรคสังคมนิยมอยู่แต่เดิม และได้เข้าป่าหลังเหตุการณ์ ๖ ตุลาฯ โดยกระจัดกระจายไปอยู่ตามเขตงานต่าง ๆ ต่อมาได้มารวมตัวกันที่เขตภูพานและจัดการประชุมพรรคสังคมนิยมครั้งนี้ขึ้น โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมดังปรากฏราว ๒๐ คน ภาพยนตร์บันทึกให้เห็นบุคคลสำคัญและมีบทบาทในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เช่น ชัยวัฒน์ สุรวิชัย, อุดร ทองน้อย, วัฒน์ วรรลยางกูร และเหวง โตจิราการ เป็นต้น


ภาพยนตร์ที่อาจเรียกเฉพาะกิจได้ว่า “หนังป่า” เรื่องนี้ รัชฎาภรณ์ แก้วสนิท ซึ่งเป็นบุคคลหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ ได้รับสำเนาที่มีการถ่ายลงเป็นตลับวีดิโอ ๘ และได้มอบให้หอภาพยนตร์ ส่วนฟิล์ม ๘ มิลลิเมตรต้นฉบับนั้น มีความเป็นไปได้ที่จะถูกขายให้หน่วยงานความมั่นคงแห่งหนึ่งไปตั้งแต่ในอดีต จากข้อมูลเหล่านี้ทำให้เข้าใจได้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้น่าจะยังไม่เคยมีการนำออกเผยแพร่สู่สาธารณะมาก่อน จึงนับเป็นเอกสารภาพเคลื่อนไหวที่สำคัญชิ้นหนึ่งในประวัติศาสตร์แห่งสงครามกลางเมืองหรือสงครามประชาชนไทย ซึ่งบันทึกและบอกเล่าโดยประชาชนที่ร่วมอยู่ในกองทัพประชาชนไทย


ผู้บริจาค รัชฎาภรณ์ แก้วสนิท

มรดกภาพยนตร์ของชาติ

ดูทั้งหมด

Goal Club เกมล้มโต๊ะ

ฟิล์ม 35 มม. / สี /เสียง / 98 นาทีวันที่ออกฉาย               27 เมษายน 2544บริษัทสร้าง      &nb...

อ่านรายละเอียด

สาย สีมา นักสู้สามัญชน

ฟิล์ม 35 มม. / สี / พากย์ / 100 นาทีวันที่ออกฉาย      27 มิถุนายน 2524บริษัทสร้าง    พิฆเณศภาพยนตร์ผู้อำนวยการสร้าง ...

อ่านรายละเอียด

วิมานดารา

ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง /  141 นาทีวันที่ออกฉาย 19 มกราคม 2517บริษัทสร้าง            เทพชัยภาพยนตร์ผู้กำกับ&nbs...

อ่านรายละเอียด

ทอง

ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง / 113 นาทีฉายครั้งแรก               22 ธันวาคม 2516บริษัทสร้าง   ...

อ่านรายละเอียด