คำสั่งคำสาป

DEAD MAN’S VOICE


ฉบับที่ ๑

ฟิล์ม ๑๖ มม. / ขาวดำ / เสียง / ๑๓๘ นาที

[๒๔๙๔]

บริษัทสร้าง เซานด์ม๊าสเตอร์

ผู้กำกับการแสดง เบอร์เน๊ท ลาม๊อนท์

ผู้ประพันธ์ กุมุท จันทร์เรือง

ผู้ถ่ายภาพ ปอล โรกาลลี

ผู้บันทึกเสียง แคลเรนส์ วอล

ผู้กำกับแผนกศิลป์ สมิต บุราวาศ

ที่ปรึกษาเทคนิค วิลเลียม เจ. เก๊ดนีย์

ผู้ลำดับภาพ โฟล แคลิฟาโน

ผู้แสดง อารี โทณะวณิก, สวลี ผกาพันธุ์, วสันต์ สุนทรปักษิน, มารศรี อิศรางกูร ณ อยุธยา, สุคนธ์ แก้วอำไพ, อมร เศวตนันท์, อมฤต ตันกุลรัตน์, เฉลิม เศวตนันท์, อุโฆษ จันทร์เรือง, ประหยัด ศ. นาคะนาท, พจนา สาคริก


ฉบับที่ ๒

ฟิล์ม ๓๕ มม. / ขาวดำ / เสียง / ๑๐๒ นาที

๑๘ มีนาคม ๒๔๙๗

บริษัทสร้าง ภาพยนตร์อิสรภาพ

ผู้ประพันธ์ กุมุท จันทร์เรือง

ผู้กำกับแผนกศิลป์ สมิต บุราวาศ

ผู้แสดง อารี โทณะวณิก, สวลี ผกาพันธุ์, วสันต์ สุนทรปักษิน, มารศรี อิศรางกูร ณ อยุธยา, สุคนธ์ แก้วอำไพ, อมร เศวตนันท์, อมฤต ตันกุลรัตน์, เฉลิม เศวตนันท์, อุโฆษ จันทร์เรือง, ประหยัด ศ. นาคะนาท, พจนา สาคริก


ในยุคเริ่มต้นของสงครามเย็น ช่วงทศวรรษ ๒๔๙๐ เมื่อสหรัฐอเมริกาได้เข้ามาจัดตั้งสำนักข่าวสารอเมริกัน หรือที่เรียกกันว่า “ยูซิส” (United States Information Service – USIS) ขึ้นในเมืองไทย เพื่อเผยแพร่ลัทธิเสรีนิยมและต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ “ภาพยนตร์” ได้กลายเป็นหนึ่งในอาวุธที่ทรงพลังที่สุดของการโฆษณาชวนเชื่อที่ยูซิสนำมาใช้ครอบงำความคิดผู้คนทั่วประเทศ ทั้งในรูปแบบภาพยนตร์สารคดี การ์ตูน และที่สำคัญที่สุดคือภาพยนตร์ดำเนินเรื่อง


ภาพยนตร์เหล่านี้มีทั้งที่สำนักข่าวสารอเมริกันสร้างขึ้นเอง และสนับสนุนทุนให้แก่ผู้สร้างหนังในเมืองไทย แม้จะมีการทำสำเนาขึ้นมาหลายชุด เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ นำออกไปเผยแพร่แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง แต่เมื่อสำนักข่าวสารอเมริกันหมดบทบาทลงหลังสิ้นสุดสงครามเย็น “หนังยูซิส” ได้ถูกทำลายลงไปจำนวนมาก โดยมีเพียงบางส่วนที่เหลือรอดมาให้หอภาพยนตร์ได้อนุรักษ์ไว้ แม้จะอยู่ในสภาพที่ร่อแร่ แต่ก็กลายเป็นหลักฐานสำคัญในการศึกษาประวัติศาสตร์


กระทั่ง ปี พ.ศ. ๒๕๖๒ หอภาพยนตร์จึงพบว่ามีหนังยูซิสที่เคยสร้างเพื่อจัดฉายในเมืองไทย ได้รับการเก็บรักษาไว้ในสภาพสมบูรณ์ ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Archives and Records Administration - NARA) และบางเรื่องนั้นไม่มีอยู่ในคลังอนุรักษ์ของหอภาพยนตร์ หนึ่งในนั้นคือภาพยนตร์เรื่อง คำสั่งคำสาป ซึ่งมีทั้งหมด ๒ ฉบับ คือ ฉบับที่แปลงสัญญาณมาจากฟิล์ม ๑๖ มม. มีความยาว ๑๓๘ นาที และฉบับที่มาจากฟิล์ม ๓๕ มม. มีความยาว ๑๐๒ นาที


ก่อนหน้านี้ หอภาพยนตร์ทราบข้อมูลเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้จาก วสันต์ สุนทรปักษิน ซึ่งเป็นผู้แสดงหลักของเรื่องว่าภาพยนตร์มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Dead Man’s Voice สร้างในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ต่อมา เมื่อจัดทำภาพยนตรานุกรมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ จึงได้พบข้อมูลเรื่องย่อจากนิตยสารตุ๊กตาทอง พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งระบุว่า คำสั่งคำสาป ออกฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ปีดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีบทสัมภาษณ์ของ สวลี ผกาพันธุ์ ที่ให้ข้อมูลว่าภาพยนตร์ถ่ายทำที่โรงถ่ายไทยฟิล์ม โรงถ่ายสำคัญในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย


เมื่อค้นพบภาพยนตร์ซึ่งมีทั้งหมด ๒ ฉบับในความยาวที่แตกต่างกัน หอภาพยนตร์จึงได้หาข้อมูลเพิ่มเติมและพบข้อเขียนของ ประหยัด ศ. นาคะนาท ที่กล่าวถึงการถ่ายภาพยนตร์เรื่องนี้ไว้ในหนังสืองานศพของ อุโฆษ จันทร์เรือง เมื่อนำมาประกอบกับข้อมูลเดิม ทำให้สันนิษฐานได้ว่า คำสั่งคำสาป หรือ Dead Man’s Voice สร้างในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ และตัดต่อออกมาในความยาวตามฉบับของฟิล์ม ๑๖ มม. ซึ่งขึ้นชื่อผู้สร้างว่า “บริษัทเซานด์ม๊าสเตอร์” ตรงกับที่ประหยัดระบุไว้ แต่เกิดปัญหาเรื่องการจัดจำหน่าย จึงไม่ได้จัดฉาย


ต่อมาปี ๒๔๙๗ จึงมีผู้นำมาจัดฉายในโรงภาพยนตร์ของไทย โดยตัดต่อใหม่ให้สั้นลงกว่าเดิม เป็นความยาวตามฉบับของฟิล์ม ๓๕ มม. ซึ่งขึ้นชื่อผู้สร้างว่า “บริษัทภาพยนตร์อิสรภาพ” อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของหอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐฯ ได้ระบุชัดเจนว่าภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างโดย U.S. Information Agency (USIA) สำนักงานใหญ่ที่สหรัฐอเมริกา ของสำนักข่าวสารอเมริกันที่จัดตั้งไว้ตามประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยมีชื่อภาษาอังกฤษของภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า The Command That Dooms


คำสั่งคำสาป จึงนับได้ว่าเป็นหนังโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์เรื่องแรกสุดในเมืองไทย เท่าที่มีการค้นพบ และเนื้อหาของภาพยนตร์ยังแตกต่างจากหนังยูซิสในยุคหลังปี ๒๕๐๐ ที่มักแสดงภาพความเลวร้ายของกองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีต่อชาวบ้านในชนบทห่างไกลเป็นหลัก แต่ใน คำสั่งคำสาป ภาพยนตร์มีฉากหลังอยู่ในกรุงเทพฯ โดยดำเนินเรื่องผ่านกลุ่มคนหนุ่มที่มีทั้งนักสืบและนักวิชาการ ซึ่งร่วมกันสืบหาเบื้องหลังของเหตุการณ์ลึกลับ เมื่อรูปปั้นของ ดร.ทองคำ นักวิทยาศาสตร์ผู้มีใจรักในประชาธิปไตยและมีผู้คนศรัทธาเป็นจำนวนมาก กลับเปล่งเสียงเชิญชวนให้ผู้คนเลื่อมใสในลัทธิคอมมิวนิสต์ ซ้ำยังเกิดเหตุฆาตกรรมปริศนาภายในบ้าน


จุดเด่นที่สำคัญของ คำสั่งคำสาป คือการที่ทีมงานสร้างภาพยนตร์มาจากสหรัฐอเมริกา ภาพยนตร์จึงถ่ายทำและดำเนินเรื่องแบบเดียวกับหนังฮอลลีวูดคลาสสิกในยุคนั้น ทั้งบรรยากาศ การจัดแสง มุมกล้อง เทคนิคการบันทึกเสียง รวมไปถึงการแสดง ซึ่งดูแตกต่างอย่างชัดเจนจากหนังไทยเรื่องอื่น ๆ จนน่าทึ่ง โดยในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ที่มีการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ วงการภาพยนตร์ไทยเพิ่งตั้งต้นขึ้นใหม่จากพิษภัยของสงครามโลกครั้งที่ ๒ และนักแสดงหลักหลายคนของเรื่องล้วนโด่งดังมาก่อนจากละครเวทีที่เฟื่องฟูในระหว่างช่วงสงคราม ทั้ง วสันต์ สุนทรปักษิน, สวลี ผกาพันธุ์, มารศรี อิศรางกูร ณ อยุธยา, อารี โทณะวณิก, อุโฆษ จันทร์เรือง, สุคนธ์ คิ้วเหลี่ยม, เฉลิม เศวตนันท์ โดยผู้ประพันธ์เรื่องคือ กุมุท จันทร์เรือง ก็เป็นหนึ่งในนักเขียนบทละครเวทีที่มีชื่อเสียงที่สุดในเวลานั้น นอกจากนี้ยังมี ประหยัด ศ. นาคะนาท นักเขียน นักหนังสือพิมพ์นามปากกา “นายรำคาญ” ซึ่งต่อมาเป็นผู้มีบทบาทในฐานะนักต่อต้านคอมมิวนิสต์คนสำคัญด้านสังคมและการเมืองไทย มารับบทบาทร่วมกับนักแสดงคนอื่น ๆ ที่มีรายชื่อปรากฏในเครดิต คือ อมร เศวตนันท์, อมฤต ตันกุลรัตน์ และ พจนา สาคริก


การค้นพบ คำสั่งคำสาป ทั้ง ๒ ฉบับ จึงมีความสำคัญในหลายมิติ ทั้งในแง่หลักฐานชิ้นแรก ๆ ของการโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ผ่านสื่อภาพยนตร์ในเมืองไทย ที่สร้างออกมาในรูปแบบหนังฮอลลีวูดคลาสสิก และในแง่บทบันทึกทางประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยในช่วงที่เพิ่งเปลี่ยนผ่านมาจากละครเวที รวมถึงเป็นประจักษ์พยานให้แก่ฝีมือการแสดงของดาราชื่อดังในอดีตที่มีผลงานหลงเหลือมาในปัจจุบันเพียงน้อยนิด


หมายเหตุ

ข้อมูลภาพยนตร์ที่อยู่ใน […] หมายถึง ข้อมูลที่หอภาพยนตร์สันนิษฐานขึ้นเนื่องจากยังไม่มีหลักฐานชัดเจน

มรดกภาพยนตร์ของชาติ

ดูทั้งหมด

Goal Club เกมล้มโต๊ะ

ฟิล์ม 35 มม. / สี /เสียง / 98 นาทีวันที่ออกฉาย               27 เมษายน 2544บริษัทสร้าง      &nb...

อ่านรายละเอียด

สาย สีมา นักสู้สามัญชน

ฟิล์ม 35 มม. / สี / พากย์ / 100 นาทีวันที่ออกฉาย      27 มิถุนายน 2524บริษัทสร้าง    พิฆเณศภาพยนตร์ผู้อำนวยการสร้าง ...

อ่านรายละเอียด

วิมานดารา

ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง /  141 นาทีวันที่ออกฉาย 19 มกราคม 2517บริษัทสร้าง            เทพชัยภาพยนตร์ผู้กำกับ&nbs...

อ่านรายละเอียด

ทอง

ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง / 113 นาทีฉายครั้งแรก               22 ธันวาคม 2516บริษัทสร้าง   ...

อ่านรายละเอียด