ทิ้งระเบิดกรุงเทพในสงครามโลกครั้งที่ ๒

๒๔๘๗

ผู้ถ่ายภาพ ช่างภาพสนามของกองทัพสัมพันธมิตร

 

เมื่อประเทศไทยประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ เมื่อ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๖ กองบินสัมพันธมิตรก็แห่มาทิ้งระเบิดกรุงเทพฯ ทันที ทำให้คนไทยโดยเฉพาะชาวเมืองหลวงได้สัมผัสอิทธิฤทธิ์ของสงครามโลกเป็นครั้งแรก

 

คนไทยเราที่เกิดไม่ทันสงครามโลกครั้งที่สอง ได้สัมผัส รับรู้เรื่องราวการทิ้งระเบิดทางอากาศในยามสงครามจากคำบอกเล่าของญาติผู้ใหญ่ที่ผ่านประสบการณ์มาโดยตรงบ้าง จากการค้นหนังสือพิมพ์สมัยนั้นบ้าง จากรูปถ่ายสภาพปรักหักพังของอาคารสถานที่บ้าง จากหนังสือเรื่องเล่าจากผู้ประสบเหตุโดยตรงบ้าง  แต่ส่วนใหญ่คนไทยน่าจะรับรู้หรือสัมผัสบรรยากาศการทิ้งระเบิดกรุงเทพ ฯ จากเรื่องแต่งประเภทนิยาย ตลอดจนจากภาพยนตร์และละคร โดยเฉพาะละครโทรทัศน์

 

ในบรรดาปฏิบัติการทิ้งระเบิดกรุงเทพ ฯ ของฝ่ายสัมพันธมิตรหลายร้อยครั้งนั้น มีหลักฐานการบันทึกเป็นรูปถ่ายหรือภาพนิ่งทั้งจากฝ่ายสัมพันธมิตร และจากฝ่ายทางการไทยเองอยู่พอสมควร แต่การบันทึกเป็นภาพยนตร์ ปัจจุบันพบว่ามีการบันทึกเป็นภาพยนตร์ขณะปฏิบัติการจริงเพียง ๑ ครั้ง ซึ่งเป็นฟิล์มภาพยนตร์ขนาด ๓๕ มิลลิเมตร ขาว-ดำ มีสำเนาเก็บอยู่ทั้งที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐอเมริกา และที่พิพิธภัณฑ์การสงครามจักรวรรดิ์อังกฤษ ซึ่งหอภาพยนตร์แห่งชาติ ได้รับมอบสำเนาชุดหนึ่งจากพิพิธภัณฑ์สงครามจักรวรรดิอังกฤษ

 

ภาพยนตร์ม้วนนี้ บันทึกจากเครื่องบิน บี ๒๙ ลำหนึ่งในฝูงบินที่ได้รับมอบภารกิจบินมาทิ้งระเบิดถล่มกรุงเทพในเวลากลางวัน ซึ่งคาดว่าคือปฏิบัติการของวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๔๘๗ ฝูงบินขึ้นบินจากสนามบิน ที่กัลกัตตา ท่ามกลางฝนพรำ มุ่งมาถล่มกรุงเทพประมาณเที่ยงวัน เห็นกรุงเทพฯ จากมุมสูงเต็มไปด้วยเลือกสวนไร่นา แม่น้ำเจ้าพระยาเส้นเลือดใหญ่ที่คดเคี้ยว ดูสงบเงียบ แต่ทันใดเราก็เห็นลูกระเบิดชุดแรกหล่นจากเครื่องลงไปสู่แผ่นดินข้างล่าง หายไปในความเงียบ สักอึดใจก็เห็นภาพการแตกระเบิดเป็นไฟและควันพวยพุ่งขึ้นจากพื้นดินเบื้องล่าง สำหรับผู้ชมคนไทยที่เห็นภาพนี้ครั้งแรกอาจรู้สึกตื้นตันในลำคอ และขนลุกวูบ ต่อมาจึงได้เห็นว่าเครื่องบินบินอยู่เหนือบริเวณท้องที่ย่านฝั่งธนบุรี เห็นวงเวียนใหญ่ วงเวียนเล็ก ผ่านไป และเห็นสะพานพุทธ ซึ่งดูเหมือนถูกระเบิดขาดอยู่แล้ว เครื่องบินทิ้งลูกระเบิดอีกเป็นชุด ๆ ลงไปแตกระเบิดในย่านหนึ่งของกรุงเทพฯ มีไฟไหม้และควันโขมงพวยพลุ่งขึ้นในอากาศ จากนั้นมีภาพของการบันทึกบนพื้นดิน ทั้งในเวลากลางคืน เห็นอาคารบ้านเรือนกำลังลุกไหม้ และภาพในเวลากลางวัน เห็นซากปรักหักพังของอาคารบ้านเรือน ร้านรวง ซึ่งภาพที่ถ่ายให้เห็นซากปรักหักพังนี้ ดูเผิน ๆ ก็อาจนึกว่าเป็นที่ใดที่หนึ่งบนโลกนี้ก็ได้ เพราะชินตาเหมือนภาพปรักหักพังทั่วไป แต่เมื่อตัดเป็นภาพมุมกว้างและกล้องกวาดไป เห็นหลังคาโบสถ์วิหารช่อฟ้าใบระกาและยอดเจดีย์ เราจึงเห็นประจักษ์ว่าภาพที่เห็นนี้คือกรุงเทพฯ จริง ๆ

 

ภาพยนตร์การทิ้งระเบิดกรุงเทพฯ นี้  มีความสำคัญในฐานะเป็นหลักฐานที่จะเตือนให้คนไทยในรุ่นต่อ ๆ ไป ประจักษ์ถึงความน่าสะพึงกลัว ความน่าสลดใจของการทำลายล้างอย่างมหันต์ของมนุษย์ด้วยกัน

มรดกภาพยนตร์ของชาติ

ดูทั้งหมด

Goal Club เกมล้มโต๊ะ

ฟิล์ม 35 มม. / สี /เสียง / 98 นาทีวันที่ออกฉาย               27 เมษายน 2544บริษัทสร้าง      &nb...

อ่านรายละเอียด

สาย สีมา นักสู้สามัญชน

ฟิล์ม 35 มม. / สี / พากย์ / 100 นาทีวันที่ออกฉาย      27 มิถุนายน 2524บริษัทสร้าง    พิฆเณศภาพยนตร์ผู้อำนวยการสร้าง ...

อ่านรายละเอียด

วิมานดารา

ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง /  141 นาทีวันที่ออกฉาย 19 มกราคม 2517บริษัทสร้าง            เทพชัยภาพยนตร์ผู้กำกับ&nbs...

อ่านรายละเอียด

ทอง

ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง / 113 นาทีฉายครั้งแรก               22 ธันวาคม 2516บริษัทสร้าง   ...

อ่านรายละเอียด