โปรแกรมคัดสรรภาพยนตร์เควียร์* ของไทยที่นำเสนอความหลากหลายทางเพศ ซึ่งจัดฉายต่อเนื่องตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2566 โดยจัดแบ่งภาพยนตร์ออกเป็น 3 ชุด คือ ภาพยนตร์ตั้งแต่ก่อนจนถึงคริสต์ทศวรรษ 2000 หรือ พ.ศ. 2543 ที่จัดเป็นชุดหนังเควียร์คลาสสิก และหลังยุค 2000 ที่แยกออกเป็น 2 ชุด คือ หนังเควียร์กระแสหลัก และหนังเควียร์กระแสทางเลือก สำหรับเดือนกรกฎาคมนี้จะประกอบด้วยหนังยาว 18 เรื่อง และหนังสั้น 2 เรื่อง
เริ่มต้นจากชุดเควียร์คลาสสิก ที่นำเสนอตัวละครเควียร์ในลักษณะ “ตัวร้าย” ตั้งแต่ คนกินเมีย (2517) งานของ ดอกดิน กัญญามาลย์ เล่าเรื่องชายหนุ่มผู้ที่หญิงสาวที่มาแต่งงานกับเขาต่างต้องมีอันเป็นไป ก่อนจะพบว่า น้าชายที่หลงรักและหึงหวงตัวเขาเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง หัวใจที่ไม่อยากเต้น (2520) ภาพยนตร์โดย เริงศิริ ลิมอักษร ที่นำเสนอความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน โดยมีตัวละครครูสาวสอนพิเศษที่หลงรักลูกศิษย์ตัวเอง และตามหึงหวงจนก่อเหตุฆาตกรรม พิศวาส (2530) ผลงานกำกับ สรวงสุดา ชลลัมพี ที่ดัดแปลงจากนิยายเรื่อง รากแก้ว ของ กฤษณา อโศกสิน นำเสนอเรื่องสาวใหญ่ที่หลงรักหญิงสาวในการปกครองของตัวเอง และพยายามจะกักขังหน่วงเหนี่ยวไม่ให้ตีจากไป เฮโรอีน (2537) ของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้คนดู ด้วยการมอบบทบาทให้ เพชรรัตน์ ศรีแก้ว เป็นนางนกต่อหว่านเสน่ห์เย้ายวนตัวละครนำชาย ก่อนเฉลยในตอนท้ายว่า เธอเป็นกะเทยที่ผ่านการแปลงเพศ ความคลุมเครือของ “เพศ” ของนักแสดงยังถูกนำมาเสนออีกครั้งใน Go-Six โกหก ปลิ้นปล้อน กะล่อน ตอแหล (2543) ซึ่งสร้างตัวละครสาวสวยที่ปั่นหัวพระเอก (และผู้ชม) โดยผู้กำกับ พจน์ อานนท์ เพิ่มกิมมิกของเรื่องด้วยการเฉลยเพศของนักแสดงที่มารับบทนี้ในตอนท้าย
สำหรับหนังเควียร์ร่วมสมัยจะมี บิวตี้ฟูล บ๊อกเซอร์ (2546) ผลงานกำกับของ เอกชัย เอื้อครองธรรม ที่อิงจากชีวิตจริงของนักมวยกะเทยระดับอาชีพ ตุ้ม-ปริญญา เจริญผล ที่เป็นกระแสโด่งดังไปทั่วโลกยุคก่อนมีสื่อสังคมออนไลน์ในปีเดียวกัน สยิว (2546) ของ คงเดช จาตุรันต์รัศมี และ เกียรติ ศงสนันทน์ นำเสนอตัวละครสาวมาดทอมที่เขียนเรื่องเล่าประสบการณ์ทางเพศลงในนิตยสารปลุกใจเสือป่า ทั้ง ๆ ที่เธอก็ยังสับสนในรสนิยมทางเพศของตัวเอง แก๊งชะนีกับอีแอบ (2549) ผลงานกำกับของ ยงยุทธ ทองกองทุน ซึ่งเก็บเกี่ยวความสำเร็จของพิธีกรรายการ ผู้หญิงถึงผู้หญิง มาร่วมรับบทกลุ่มเพื่อนสาวที่สงสัยในพฤติกรรมทางเพศของว่าที่เจ้าบ่าวของเพื่อนในกลุ่ม โกยเถอะเกย์ (2550) โดย ยุทธเลิศ สิปปภาค ที่นำหนังอเมริกันเควียร์ชื่อดัง Brokeback Mountain (2548) มาเป็นต้นเรื่องล้อเลียนให้เป็นหนังตลกปนสยองขวัญตามแนวถนัด รักแห่งสยาม (2550) งานกำกับที่ ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้แก่หนังเควียร์ไทย ด้วยการนำเสนอความรักของหนุ่มวัยรุ่น 2 คน ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตและการค้นหาตัวเอง นอกจากนี้ยังเป็นแรงบันดาลใจให้ สรัสวดี วงศ์สมเพ็ชร สร้าง Yes or No อยากรักก็รักเลย (2553) ซึ่งนำเสนอคู่รักหญิงรักหญิงที่ต้องพิสูจน์ความรักให้ครอบครัวยอมรับ และประสบความสำเร็จอย่างสูงเช่นกัน ความสำเร็จของภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องนี้ ถูกต่อยอดกลายเป็น “ซีรีส์วาย” ที่ปัจจุบันเป็นซีรีส์กระแสหลักของไทย โดยในปี 2564 มี เพราะเราคู่กัน The Movie ซึ่งนำเอาซีรีส์ เพราะเราคู่กัน ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงมาตัดต่อใหม่ในรูปแบบภาพยนตร์ ส่วนในปี 2565 The Cheese Sisters ผลงานการสร้างสรรค์ที่นำโดย ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ได้หยิบเอานักร้องไอดอลวง BNK48 มาร่วมแสดงในหนังที่เล่าถึงความสัมพันธ์ของคู่รักหญิงรักหญิงในหลากหลายรูปแบบ
สำหรับหนังเควียร์กระแสทางเลือก เริ่มด้วยผลงานหนังสั้น 2 เรื่อง ว่าด้วยสายลับเควียร์ไทยในเกาหลีที่จะฉายคู่กันในโปรแกรม Mission in Korea ได้แก่ Top Secret (2548) ของ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ผลงานในโครงการ One Man Band Project ที่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศเกาหลีใต้ และ Iron Pussy : A Kimchi Affair (2554) โดย วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง อันเป็นหนึ่งในหนังสั้นชุด Camellia ที่เมืองปูซานได้ให้ผู้กำกับ 3 ชาติ ทำหนังสั้นโดยมีฉากหลังเป็นเมืองนี้ เจ้านกกระจอก (2552) หนังยาวเรื่องแรกของ อโนชา สุวิชากรพงศ์ ที่นำเสนอภาพบุรุษพยาบาล กับเด็กหนุ่มวัยรุ่นผู้ประสบอุบัติเหตุจนร่างกายท่อนล่างสูญเสียการรับความรู้สึก ซึ่งผู้ชมต่างสัมผัสถึงความสัมพันธ์อันมากกว่าแค่คนดูแลกับผู้ถูกดูแล พี่ชาย My Bromance (2557) ผลงานกำกับของ ณิชภูมิ ชัยอนันต์ เล่าถึงคู่เด็กหนุ่มวัยรุ่นที่ต้องมาเป็นพี่น้องกัน เพราะพ่อแม่ของทั้งคู่แต่งงานกัน ในขณะที่ ครูและนักเรียน (2557) ผลงานของ สราวุธ อินทรพรหม นำเสนอความสัมพันธ์ต้องห้ามระหว่างครูหนุ่มกับนักเรียนผู้ทำให้เขาหวนคิดถึงเรื่องราวในอดีต พี่ชาย My Hero (2558) ผลงานของผู้กำกับ จอช คิม ที่เล่าเรื่องเกย์หนุ่มผู้หาเลี้ยงครอบครัวด้วยการค้าบริการทางเพศ ผ่านสายตาของน้องชายที่พยายามเข้าใจโลกที่ซับซ้อนของผู้ใหญ่ ปิดท้ายโปรแกรมด้วย PlayBoy (and the gang of cherry) (2560) ผลงานของ อุ้มพล กิติกัมรา ที่พยายามสร้างความแตกต่างให้แก่หนังเควียร์ไทยด้วยการนำเสนอความสัมพันธ์ และการแสดงออกทางเพศในรูปแบบที่แตกต่างไปจากสังคมคาดหวัง
*คำว่า Queer เควียร์ และคำว่าหลากหลายทางเพศในที่นี้ จะหมายถึงกลุ่มคนที่มีเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศที่นอกเหนือจากกลุ่มคนรักต่างเพศ รวมทั้งกลุ่มคนข้ามเพศ คำว่า Queer ในที่นี้จึงรวมกลุ่มที่ระบุอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองเป็นเลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล คนข้ามเพศ คนที่ไม่ฝักใจทางเพศ คนที่เกิดมาพร้อมกับอวัยวะทั้งเพศหญิงและเพศชาย คนที่ไม่ต้องการระบุเพศใดเพศหนึ่ง คนที่ยังตั้งคำถามต่ออัตลักษณ์ทางเพศของตัวเอง เป็นต้น