เดือนกันยายน เป็นเดือนสำคัญในชีวิตของอดีตศิลปินเรืองนาม “เสน่ห์ โกมารชุน” ผู้เกิดเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2466 และเสียชีวิตในวันที่ 4 กันยายน 2514 เพียงสิบวันก่อนที่เขาจะมีอายุครบ 48 ปี ครั้งหนึ่งชื่อของเขาเป็นที่เลื่องลือจากความสามารถรอบด้าน ตั้งแต่การเป็นนักประพันธ์ นักแต่งเพลง นักร้อง นักพากย์ นักสร้างหนัง และนักแสดงหลายแขนง ทั้งจำอวด ลิเก ลำตัด แหล่ ละครเวที ฯลฯ ไปจนถึงภาพยนตร์
เสน่ห์ โกมารชุน เกิดที่ย่านตลาดพลู ฝั่งธนบุรี กรุงเทพมหานคร เขาฉายแววด้านการแสดงมาตั้งแต่เด็ก ไม่ว่าจะเป็นร้องเพลง พูดโต้วาที แสดงปาฐกถา และเล่นจำอวด เสน่ห์มุ่งหน้าเข้าสู่เส้นทางบันเทิงเพียงอย่างเต็มตัวหลังเรียนจบ เขาเคยเป็นนักร้องประจำวงดุริยางค์ทหารเรือ เคยร่วมแสดงละครย่อยกับดาวตลกเด่นอย่างล้อต๊อก ไปจนถึงละครเวทีแบบชายจริงหญิงแท้ ที่เริ่มนิยมช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 และเคยร่วมแสดงลิเกกับคณะหอมหวลจนมีชื่อเสียงโด่งดัง รวมทั้งตั้งคณะการแสดงของตนเองนามว่า “คณะเสน่ห์ศิลป”
ในโลกภาพยนตร์ บทบาทของเสน่ห์เริ่มต้นจากการเป็นนักพากย์ที่เขาได้เรียนรู้วิชามาจาก ทิดเขียว หรือ สิน สีบุญเรือง บรมครูแห่งการพากย์หนังของเมืองไทย และกลายเป็นนักพากย์หลักของวงการมาตั้งแต่ต้นยุค 2490 เขาได้รับรางวัลพากย์เสียงยอดเยี่ยมถึง 3 ครั้ง ในการประกวดรางวัลตุ๊กตาทองยุคแรก จากเรื่อง โบตั๋น (2498) เห่าดง (2501) และ สาวเครือฟ้า (2508)
ควบคู่ไปกับการพากย์ เสน่ห์ยังได้ก้าวออกมาเบื้องหน้าเป็นนักแสดงอีกจำนวนมาก เขามีผลงานเรื่องแรกคือ ทุ่งนเรศวร (2493) และเคยรับบทเป็นพระเอกในเรื่อง สามเกลอตามนาง (2494) แต่บทบาทการแสดงส่วนใหญ่มักจะเป็นบทตลกสมทบ ตามบุคลิกและเสน่ห์อันล้ำลึกซึ่งคอยสร้างเสียงหัวเราะให้แก่ประชาชนอยู่เสมอ
อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแค่อารมณ์ขัน เสน่ห์ยังมีความอัจฉริยะที่สามารถสะกดความรู้สึกของผู้ชมได้ทุกด้าน ทั้งจากฝีมือในการเขียนบทประพันธ์ เช่นเรื่อง โบตั๋น (2498) ที่เรียกน้ำตาจากแฟนภาพยนตร์จนท่วมจอ และกลายเป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ทำรายได้เกินหนึ่งล้านบาท หรือจากงานสร้างภาพยนตร์ที่โดดเด่นที่สุดของเขาคือ แม่นาคพระโขนง (2502) ที่สร้างความอกสั่นขวัญแขวนไปทั่วทุกย่าน และกลายเป็นตำนานหนังไทยเรื่องสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งตราบจนปัจจุบัน
ด้านหนึ่งเขาอาจเป็นศิลปินผู้มอบความบันเทิง แต่อีกด้านหนึ่ง เสน่ห์ก็เป็นผู้ที่มีจิตสำนึกทางการเมืองอย่างจริงจัง เขาเคยมีผลงานเพลงเสียดสีสังคมอันโด่งดังอย่าง “สามล้อแค้น” และ “ผู้แทนควาย” เคยคิดตั้งพรรคการเมืองโดยรวบรวมคนในวงการบันเทิงในชื่อ “พรรคศิลปิน” และเคยยื่นหนังสือเรียกร้องถึง จอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อครั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้รัฐช่วยเหลือวงการศิลปินหนังไทย
แม้จะยืนหยัดอยู่บนโลกภาพยนตร์ไทยเพียงไม่นานในช่วงชีวิตอันแสนสั้น แต่ เสน่ห์ โกมารชุน ก็ได้รับการยกย่องเป็น “ยอดศิลปินเอก” ที่สร้างสรรค์ผลงานไว้หลายหลากจนเกินจะกล่าวครบ เนื่องในวาระ 100 ปีชาตกาลของเขา หอภาพยนตร์ขอร่วมรำลึกถึง “เสน่ห์ โกมารชุน” ด้วยการจัดฉายผลงานเลื่องชื่อ แม่นาคพระโขนง (2502) ที่เขาอำนวยการสร้างและร่วมแสดงกับอดีตคู่ชีวิต ปรียา รุ่งเรือง พร้อมสนทนากับ ยอดสร้อย โกมารชุน นักแสดงภาพยนตร์ผู้เป็นทายาทของเสน่ห์และปรียา ซึ่งจะมาร่วมประทับรอยมือรอยเท้าบนลานดาราในวันเสาร์ที่ 16 กันยายน 2566