13 มิถุนายน – 8 ตุลาคม 2566
นิทรรศการใหม่ของหอภาพยนตร์ “ต้นธารสายรุ้ง : ประวัติศาสตร์ความหลากหลายทางเพศในหนังไทย” (Over the Rainbow) เป็นการสำรวจการนำเสนอภาพความหลากหลายทางเพศในหนังไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2470 เป็นการเดินทางย้อนกลับไปยัง “ต้นธาร” แห่งสีสันและการรับรู้อันหลากหลายที่ปรากฎบนจอภาพยนตร์ ผ่านข้อมูลประวัติศาสตร์ ภาพ โปสเตอร์ และคลิปภาพยนตร์หาชมยาก
นิทรรศการนี้เป็นการรวบรวมและขับเน้นมุมมองใหม่ให้กับหนังไทยอันมีเนื้อหาว่าด้วยความหลากหลายทางเพศ โดยเริ่มต้นจากสมมุติฐานว่า คนดูหนังไทยส่วนใหญ่มักเชื่อว่าหนังที่แสดงภาพ “เกย์” “กะเทย” หรือ “ทอม” เรื่องแรกของไทยคือ เพลงสุดท้าย (2528) ด้วยความโด่งดังและเป็นตำนานของหนัง ทั้งที่ตามข้อมูลจริงแล้ว การแสดงภาพความลื่นไหลทางเพศหรือการสร้างตัวละคร “ข้ามเพศ” มีมานานก่อนหน้านั้นหลายทศวรรษ
นิทรรศการ ต้นธารสายรุ้ง จะพามิตรรักแฟนหนังไทย ย้อนไปสำรวจวิธีคิดและภาพจำของตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศในยุคเริ่มต้นของภาพยนตร์ไทย เช่น ตัวละครหลากหลายทางเพศในฐานะผู้สร้างเสียงหัวเราะให้คนดู การใช้ความหลากหลายทางเพศมาเป็นจุดขายในภาพยนตร์ การใช้ตัวละคร LGBTQ ในบทเพื่อนสนิทนางเอก การสร้างตัวละครนางเอกที่สับสนอัตลักษณ์เพศตัวเองจนมาเจอพระเอก รวมไปถึงตัวละครหลากหลายทางเพศที่เป็นผู้ร้ายที่คุกคามกลุ่มคนรักต่างเพศ และสมควรจะต้องถูก “แก้ไข” พฤติกรรม
ตัวอย่าง ภาพยนตร์ที่นำเสนอในนิทรรศการนี้ เช่น [ตัดหัวต่อหัว] Trick Cinematograph หนังทดลองปี 2470 ถ่ายโดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ที่ทรงใช้เทคนิคด้านภาพยนตร์เพื่อสลับให้หัวนักแสดงชายอยู่บนร่างกายผู้หญิงและหัวผู้หญิงอยู่บนร่างกายผู้ชายอันเป็นภาพบันทึกแรกของ “การข้ามเพศ” ส่วนภาพยนตร์สั้นเรื่อง กะเทยเป็นเหตุ (2497) เป็นหนังไทยที่นำเสนอตัวละคร “กะเทย” ที่เก่าแก่ที่สุดที่ในกรุของหอภาพยนตร์
นอกเหนือจากนี้ยังนำเสนอข้อมูลจากหนังอื่น ๆ ที่โดยรูปลักษณ์ภายนอกไม่ได้เป็นหนัง LGBTQ เช่น เศรษฐีอนาถา (2499) หนังที่แสดงฉาก “บาร์กะเทย” เป็นครั้งแรก เก้ามหากาฬ (2507) หนังบู๊ที่เป็นเรื่องของตำรวจที่ต้องปลอมตัวเป็นกะเทยเพื่อสืบจับผู้ร้าย กุ้งนาง (2519) หนังที่ว่าด้วยผู้หญิงที่ถูก “สัมผัส” โดยตัวละครชายและเพิ่งรับรู้ได้ว่าเธอเป็นหญิง รวมทั้งหนังที่บ่งบอกค่านิยมเดิมว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศสมควรถูก “รักษา” และปรับพฤติกรรม เช่น สวัสดีคุณครู (2521) และ วัยเรียนเพี้ยนรัก (2528) และกลุ่มหนังที่ตัวละครหลากหลายทางเพศถูกนำเสนอในฐานะเป็นตัวร้ายอันมีพฤติกรรมที่คุกคามทางเพศตัวละครเอก มีองค์ประกอบของฉากที่ขับเน้นความ "วิปริต" ของตัวละคร หรือมีอารมณ์ที่รุนแรง หลายตัวละครเกี่ยวพันกับการฆาตกรรม เช่น คนกินเมีย (2517) เทวดาเดินดิน (2518) ช่องว่างระหว่างหัวใจ (2519)
นิทรรศการ “ต้นธารสายรุ้ง : ประวัติศาสตร์ความหลากหลายทางเพศในหนังไทย” (Over the Rainbow) จัดแสดงที่ห้องนิทรรศการชั้น 2 อาคารสรรพสาตรศุภกิจ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ตั้งแต่ 13 มิถุนายน ถึง 8 ตุลาคม 2566 เข้าชมฟรีทุกวัน ตั้งแต่ 9.30 – 17.30 น. ยกเว้นวันจันทร์ นอกจากนี้ ตลอดเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม หอภาพยนตร์ยังจัดโปรแกรมฉายหนัง Thai Queer Cinema Odyssey นำเสนอภาพยนตร์ว่าด้วยความหลากหลายทางเพศ ดูรายละเอียดได้ที่ <<คลิก>>