เกี่ยวกับหอภาพยนตร์

ความเป็นมา และประวัติ

หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานของรัฐ ซึ่งคล้ายกับหอสมุด พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ แต่เป็นหอสมุด พิพิธภัณฑ์ และหอศิลป์ที่เก็บภาพยนตร์และ วีดิทัศน์ ตลอดจนสิ่งเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เพื่ออนุรักษ์ไว้เป็น ทรัพย์สินทางปัญญาและมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ และนำออกบริการ ให้ประชาชนได้ศึกษา ค้นคว้า และชื่นชมหรือใช้ประโยชน์อย่างสะดวกและกว้างขวาง

ภาพยนตร์เป็นสื่อการเรียนรู้ที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งของมนุษย์ และอาจยังให้เกิดปัญญาได้ ภาพยนตร์จึงอาจเปรียบดังศาสนา หอภาพยนตร์ก็คือ วัด ซึ่งมีโรงหนังเป็นโบสถ์ มีพิพิธภัณฑ์เป็นวิหารหรือเจดีย์ มีห้องเย็นเก็บรักษาฟิล์มเป็นหอไตร มีศูนย์ให้บริการ ค้นคว้าเป็นศาลาการเปรียญ โดยตราของหอภาพยนตร์ คือ ธรรมจักรภาพยนตร์ ซึ่งหมุนวนไปเพื่อเผยแผ่สัจธรรม สำหรับมวลมนุษย์

ประวัติความเป็นมา

ของหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

พ.ศ. ๒๕๐๙

ความคิดในการจัดเก็บรักษาภาพยนตร์ของชาติ

ความคิดในการจัดเก็บรักษาภาพยนตร์ของชาติเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ คือ เมื่อคณะอนุกรรมการสื่อสารมวลชน ในคณะกรรมการชาติว่าด้วยองค์การยูเนสโกแห่งประเทศไทย ซึ่งมี พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร ทรงเป็นประธาน มีมติในการประชุมเมื่อวันที่ ๔ ตุลาคมของปีนั้น เรียกร้องให้หอสมุดแห่งชาติเปิดแผนกเก็บภาพยนตร์ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมขึ้นอีกแผนกหนึ่งโดยหวังจะให้เยาวชนรุ่นหลังได้ทราบความเป็นไปในอดีต แต่น่าเสียดายว่าการเรียกร้องนั้นไม่สามารถทำให้เกิดการปฏิบัติจริงแต่อย่างใด

พ.ศ. ๒๕๒๔

ค้นพบฟิล์มรัชกาลที่ ๗ และการเรียกร้องการจัดตั้งหน่วยงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ในประเทศไทย

พ.ศ. ๒๕๒๔ นักวิชาการภาพยนตร์ โดม สุขวงศ์ (ต่อมาคือผู้ร่วมก่อตั้งหอภาพยนตร์) ได้ค้นพบฟิล์มภาพยนตร์เก่าสมัยรัชกาลที่ ๗ ของกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวงในอดีตจึงเรียกร้องต่อสาธารณะผ่านทางสื่อมวลชน ให้ทางราชการดำเนินการอนุรักษ์ภาพยนตร์เหล่านั้นและจัดตั้งหน่วยงานทำหน้าที่เก็บรวมรวมและอนุรักษ์ภาพยนตร์ขึ้นในประเทศไทย

พ.ศ. ๒๕๒๗

โครงการจัดตั้งหอภาพยนตร์แห่งชาติ

กรมศิลปากรจึงจัดทำโครงการจัดตั้งหอภาพยนตร์แห่งชาติและ ขออนุมัติโครงการนี้จากกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับอนุมัติเมื่อ วันที่ ๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๗ คณะกรรมการของโครงการได้เห็นชอบให้เรียก ชื่อหน่วยงานที่จะจัดตั้งขึ้นใน ประเทศไทยนี้ว่า "หอภาพยนตร์แห่งชาติ" ในระยะเริ่มต้นหน่วยงานใหม่นี้มีฐานะเท่ากับงานหนึ่ง ฝากไว้กับ กองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในขณะนั้น และได้รับอนุญาตจากกรมศิลปากร ให้ใช้อาคารเก่าทิ้งร้างหลังหนึ่งในบริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพ ซึ่งเคยเป็นอาคารโรงกษาปณ์ของกรมธนารักษ์มาก่อน ทำเป็นที่ทำการของหอภาพยนตร์แห่งชาติ โดยจ้างลูกจ้างชั่วคราว ๔ นาย และ แต่งตั้งข้าราชการคนหนึ่งมาปฏิบัติหน้าที่เป็นหัวหน้างาน

พ.ศ. ๒๕๓๐

โครงการจัดตั้งหอภาพยนตร์แห่งชาติ

พ.ศ. ๒๕๓๐ กรมศิลปากรให้โอนหอภาพยนตร์แห่งชาติ ไปสังกัดเป็น ฝ่ายหนึ่งในกองหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และในปีนี้เองหอภาพยนตร์แห่งชาติ เริ่มเปิดให้บริการแก่สาธารณชนซึ่งมี ๒ ลักษณะ คือการให้บริการแก่ผู้เข้าไป ขอค้นคว้าภาพยนตร์และสิ่งเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์ อีกลักษณะคือ การจัดกิจกรรมฉายภาพยนตร์ การจัดนิทรรศการ การจัดบรรยายเกี่ยวกับ ภาพยนตร์นอกจากนี้หอภาพยนตร์แห่งชาติยังได้สมัครเป็นสมาชิกสังเกตการณ์ ของสมาพันธ์หอภาพยนตร์ระหว่างชาติและในปีนี้หอภาพยนตร์แห่งชาติได้ รับรางวัลเหรียญเงินขององค์การยูเนสโกนับเป็นเกียรติภูมิสำคัญอย่างหนึ่ง ของหน่วยงานและของชาติ

พ.ศ. ๒๕๔๐

ย้ายสถานที่ไปศาลายา

ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ หอภาพยนตร์แห่งชาติได้ย้ายสถานที่ตั้งจากอาคารเก่า ในบริเวณหอศิลป์ ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพ ไปยังสถานที่ตั้งใหม่ที่ ถนนพุทธมณฑลสาย ๕ ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม

พ.ศ. ๒๕๕๒

จากหอภาพยนตร์แห่งชาติ สู่ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

หลังจากใช้เวลาเรียกร้องยืนหยัดต่อเนื่องนานถึง ๘ ปีเต็ม ในการ ขอปฏิรูปหน่วยงานเป็น องค์การมหาชน ตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. ๒๕๕๒ โดยได้รับการ อุดหนุนจากรัฐบาล และได้รับการพัฒนาหน่วยงานให้มีประสิทธิภาพ

ปัจจุบัน

หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์มรดกภาพยนตร์

ทั้งในรูปแบบฟิล์ม เทปแม่เหล็ก ดิจิทัล และสิ่งเกี่ยวเนื่องอื่นๆ และดำเนินงานเผยแพร่ จัดฉาย อบรม ให้ความรู้ ควบคู่ไปกับแผน ยุทธศาสตร์ชาติในการส่งเสริมการเข้าถึงวัฒนธรรมอย่างเท่าเทียมกัน หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ยังเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบของ สมาพันธ์หอภาพยนตร์ระหว่างชาติ (INTERNATIONAL FEDERATION OF FILM ARCHIVES)

สมบัติและมรดกของหอภาพยนตร์

ปัจจุบันหอภาพยนตร์ เก็บรักษาภาพยนตร์ต่าง ๆ ซึ่งจำแนกเป็น

  • ภาพยนตร์ข่าว โทรทัศน์ ประมาณ ๕๐,๐๐๐ เรื่อง
  • ภาพยนตร์สารคดี ประมาณ ๘,๐๐๐ เรื่อง
  • ภาพยนตร์เรื่องหรือหนังไทยประมาณ ๑,๕๐๐ เรื่อง และวีดิทัศน์ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐

เรื่องสิ่งเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์ ได้แก่

  • บทภาพยนตร์ ๒๐๐ เรื่อง รูปนิ่ง ๒๓,๐๐๐ รูป
  • ใบปิดหรือโปสเตอร์ ๒,๕๐๐ เรื่อง
  • หนังแผ่นหรือโชว์การ์ด ๑,๐๐๐ เรื่อง
  • หนังสือ ๕,๐๐๐ เล่ม สูจิบัตรภาพยนตร์ ๓๕๐ เรื่อง
  • แผ่นเสียง ๗๐๐ แผ่น
  • วัตถุพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ ๖๐๐ ชิ้น

หอภาพยนตร์เป็นหน่วยงานอนุรักษ์ภาพยนตร์แห่งแรกและแห่งเดียว ในประเทศไทยที่ทำหน้าที่เก็บรักษาและดูแลภาพยนตร์ของทั้งประเทศ และมีหน้าที่ซับซ้อนทุกมิติของหอภาพยนตร์ที่มีอยู่ทั่วโลก โดยมี หน่วยกู้หนัง เป็นทีมปฏิบัติการเชิงรุกของงานอนุรักษ์ เป็นหน่วยเคลื่อนที่ เร็วที่จะคอยสืบเสาะแสวงหาและไปให้ถึงฟิล์มภาพยนตร์ สื่อโสตทัศน์ และสิ่งเกี่ยวเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ในยุคปัจจุบันและอดีตที่ยังคง หลงเหลือและตกค้างกระจายอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อนำ มาอนุรักษ์ให้ทันท่วงที เพราะมรดกภาพยนตร์เหล่านั้นอาจจะกำลังเสื่อม สภาพหรือใกล้สูญสลายไปตามกาลเวลาเนื่องจากไม่ได้รับการดูแลเก็บ รักษาที่ถูกวิธี โดยเฉพาะหลังจากภาพยนตร์โลกได้ปรับเข้าสู่ยุคดิจิทัล

ขอบข่ายงานอนุรักษ์ถูกขยายไปยังการแปลงสัญญาณฟิล์มและเทปแม่เหล็ก เป็นไฟล์ดิจิทัล การบูรณะฟิล์มในระบบดิจิทัล และการเก็บรักษาภาพยนตร์ ในระบบดิจิทัล

การให้บริการ

หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ให้บริการสาธารณะใน ๒ ลักษณะ

๑. การให้บริการแก่ผู้สนใจเข้ามาขอศึกษาค้นคว้าจากภาพยนตร์และ สิ่งเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์ของหอภาพยนตร์ซึ่งหอภาพยนตร์จัดให้บริการ ทำนองเดียวกับหอสมุดหรือหอจดหมายเหตุและให้บริการทำสำเนาภาพยนตร์ และสิ่งเกี่ยวเนื่อง โดยผู้ใช้บริการต้องปฎิบัติตามระเบียบและเสียค่าบริการ

๒. การให้บริการแก่สาธารณชนเข้าชมและร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่หอภาพยนตร์ จัดขึ้น เช่นรายการจัดฉายภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ของหอภาพยนตร์ การแสดงนิทรรศการ การบรรยาย การอบรม รวมทั้งการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ ภาพยนตร์ไทยและเมืองมายาของหอภาพยนตร์