ไผ่แดง

วันแรกฉาย                      ๘ ธันวาคม ๒๕๒๒

ความยาว                        ๑๒๐.๑๓ นาที

ฟิล์ม ๓๕ มม. / สี / เสียง

บริษัทสร้าง                      ไฟว์สตาร์โปรดักชั่น

ผู้อำนวยการสร้าง               เกียรติ เอี่ยมพึ่งพร

ผู้กำกับ                          เพิ่มพล เชยอรุณ

ผู้ประพันธ์                       ... คึกฤทธิ์ ปราโมช

ผู้เขียนบท                       คุณดำและคณะมูฟวิ่งพิคเจอร์

ผู้กำกับภาพ                     เพิ่มพล เชยอรุณ

ผู้ลำดับภาพ                     เปรง

ผู้กำกับศิลป์                     ชัชวาล วัชรานุรักษ์

ผู้ทำดนตรีประกอบ               บรูซ แกสตัน

ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย       ศรีสุภลักษณ์ เวชวิรุฬห์

ผู้แสดง                                   สรพงษ์ ชาตรี, ผศ. สุรพล วิรุฬห์รักษ์, ลลนา สุลาวัลย์, สุเชาว์ พงษ์วิไล, ปาริชาติ บริสุทธิ์, ไกรลาส เกรียงไกร, เชาว์ แคล่วคล่อง, สมพงษ์ พงษ์มิตร, สุรชัย ดิลกวิลาส, พนา ธรรมศรี, นัยนา คชแสง, พนม ตราชู, ลุงชาลี

 

อีกหนึ่งผลงานภาพยนตร์ชิ้นสำคัญของ เพิ่มพล เชยอรุณ ผู้กำกับภาพยนตร์บรมครูของวงการภาพยนตร์ไทย ที่ดัดแปลงมาจากนวนิยายเสียดสีสังคมและการเมืองของ ม... คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกลงในหนังสือพิมพ์ สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ในปี ๒๔๙๗ เป็นตอน ๆ ก่อนจะมีการรวมเล่มออกมาเป็นหนังสือนวนิยายในเวลาต่อมา โดยภาพยนตร์ได้กล่าวถึงหมู่บ้านไผ่แดงซึ่งมีตัวละครหลัก ๒ ตัว ที่เป็นผู้นำความคิดของหมู่บ้าน ฝ่ายหนึ่งคือ แกว่น แก่นกำจร สหายหนุ่มผู้ยึดมั่นในลัทธิคอมมิวนิสต์จากตะวันตก เพราะเชื่อว่าจะเป็นแนวคิดที่นำพาชาวบ้านไปสู่ความเท่าเทียมและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นโดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากพวกนายทุน ส่วนอีกฝ่ายคือ สมภารกร่างเจ้าอาวาสวัดไผ่แดง ซึ่งเป็นเพื่อนของแกว่น ผู้ยึดมั่นในความคิดตามหลักพระพุทธศาสนาและมุ่งมั่นที่จะพัฒนาหมู่บ้านตามหลักธรรมคำสอนที่เหมาะสมกับสังคมไทย ทำให้ทั้งสองต่างต้องปะทะคารมถากถางกันอยู่เสมอ เพราะฝ่ายหนึ่งก็เชื่อมั่นกับความคิดแบบหัวก้าวหน้า ทว่าอีกฝ่ายก็ยึดมั่นอยู่กับความคิดแบบอนุรักษ์นิยม แต่ทว่าทั้งแกว่นและสมภารกร่างต่างก็มีความตั้งใจที่ดีต่อหมู่บ้านเช่นเดียวกัน จนทำให้แกว่นและสมภารกร่างต่างยอมละวางจากอำนาจแห่งความคิดเพื่อร่วมมือกันพัฒนาหมู่บ้าน ด้วยการพยายามจัดสร้างโรงเรียนให้แก่เด็ก ๆ ซึ่งเชื่อมระหว่างหมู่บ้านไผ่แดงและไผ่ตันขึ้นมา แม้ในตอนแรกชาวบ้านจะมีปัญหาขัดแย้งกันตรงที่ตั้งของโรงเรียนที่มีระยะทางไม่เท่ากันจนเกิดการทะเลาะเบาแว้งระหว่างหมู่บ้าน แต่สุดท้ายทั้งคู่ก็หาทางปรองดองด้วยการสร้างโรงเรียนไว้บนสะพานเชื่อมคลองของสองหมู่บ้านเพื่อไม่ให้มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ

แต่ในหมู่บ้านนั้นยังมีเสี่ยเหล็งเศรษฐีขี้โกง ที่หาทางฮุบที่ดินของชาวบ้านมาเป็นของตนเอง ด้วยการปล่อยเงินกู้จนชาวบ้านไม่สามารถใช้หนี้ได้ ตนเองจะได้ยึดที่ดินของชาวบ้านไป ทั้งแอบส่ง พระจรูญ พระปลอมที่เข้ามาแอบอ้างเป็นผู้วิเศษเพื่อให้ชาวบ้านหลงงมงาย แต่ที่ร้ายหนักไปกว่านั้นคือเสี่ยเหล็งพยายามจะใช้ที่ดินที่ชาวบ้านตั้งใจจะเอาไปปลูกสร้างเป็นโรงเรียน ไปทำเป็นเขื่อน ด้วยอ้างว่าเป็นที่ดินของตน แม้จะได้มาจากการคบคิดกับข้าราชการฉ้อราษฎร์บังหลวง เพื่อตนจะได้หาทางตัดทางน้ำเข้าสู่ไร่นาของชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านทำนาไม่ได้และยอมขายที่ดินให้แก่ตนเองในที่สุด แกว่นและสมภารกร่างจึงต้องร่วมมือกัน โดยแกว่นได้ใช้ความเป็นฆราวาสของตนในการช่วยเหลือแทนสมภารกร่าง ด้วยการจัดการกับพระจรูญและจับตัวเสี่ยเหล็งกับลูกน้องของมันที่ถือปืนเข้ามาขับไล่การสร้างโรงเรียนของชาวบ้าน ในขณะที่สมภารกร่างก็หาหลักฐานมาเปิดโปงเสี่ยเหล็งต่อทางการได้จนเสี่ยเหล็งถูกจับกุม ความสงบสุขจึงกลับคืนสู่หมู่บ้านไผ่แดง แม้ในท้ายที่สุดความคิดของสมภารกร่างและแกว่นจะยังคงอยู่กันคนละฟากฝั่งก็ตาม

ด้วยความที่นวนิยายไผ่แดงนั้นถูกแต่งขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งเป็นช่วงที่โลกกำลังเข้าสู่ยุคของสงครามเย็น หรือในยุคของการขับเคี่ยวกันระหว่างสองขั้วความคิดจากสองมหาอำนาจของโลกอย่างโซเวียตตัวแทนจากฝั่งของลัทธิคอมมิวนิสต์และสหรัฐอเมริกาตัวแทนจากฝั่งของทุนนิยม ซึ่งเป็นขั้วความคิดที่กำลังคืบคลานเข้าสู่ประเทศไทย ไผ่แดงจึงเป็นนวนิยายที่มีคุณค่าในทางประวัติศาสตร์เนื่องจากมันได้สะท้อนให้เห็นถึงบริบททางความคิดและความขัดแย้งต่าง ๆ ในยุคนั้นได้อย่างเด่นชัด ในขณะเดียวกันมันก็เป็นนวนิยายที่พยายามจะสอดแทรกแนวคิดของรัฐไทยลงไปได้อย่างแนบเนียน ผ่านตัวละครหลากความคิด โดยใช้หมู่บ้านแห่งหนึ่งเป็นเสมือนภาพจำลองเวทีแห่งการถกเถียงทางความคิดผ่านทางเหตุการณ์ต่าง ๆ จนทำให้นิยายถูกนำมาตีความในวงวิชาการวรรณกรรม รัฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์อยู่เรื่อยมา

ในส่วนของภาพยนตร์ ไผ่แดงถูกนำมาดัดแปลงและออกฉายในปี ๒๕๒๒ โดย เพิ่มพล เชยอรุณ ผู้กำกับคลื่นลูกใหม่แห่งยุค ที่สร้างขึ้นในช่วงเวลาที่บริบทของสังคมมีความหวาดระแวงในภัยคอมมิวนิสต์น้อยลง ภาพยนตร์อาจไม่ประสบความสำเร็จในแง่ของรายได้หรือรางวัล แต่ก็นับว่าเป็นภาพยนตร์ที่เปี่ยมไปด้วยศิลปะภาพยนตร์ เพราะมันสามารถถ่ายทอดภาพของท้องทุ่งชนบทได้อย่างงดงามแปลกตา มีการใช้ภาษาภาพและดนตรีประกอบเพื่อขับเน้นให้เห็นถึงการปะทะสังสรรค์กันระหว่างโลกเก่ากับโลกใหม่ที่ท้าทายการตีความ หนุนนำภาพยนตร์ที่ยังรักษาหัวใจของบทประพันธ์ที่พยายามจะถกเถียง โน้มนำและวิพากย์ความคิด ทั้งคอมมิวนิสต์ ประชาธิปไตย สังคมนิยม ทุนนิยม และพุทธศาสนา ผ่านทางเหตุการณ์และบทสนทนาที่ยอกย้อนแต่แฝงไว้ด้วยอารมณ์ขัน เพื่อชี้ชวนให้ผู้ชมได้ขบคิดไม่แพ้ตัวนวนิยาย

มรดกภาพยนตร์ของชาติ

ดูทั้งหมด

Goal Club เกมล้มโต๊ะ

ฟิล์ม 35 มม. / สี /เสียง / 98 นาทีวันที่ออกฉาย               27 เมษายน 2544บริษัทสร้าง      &nb...

อ่านรายละเอียด

สาย สีมา นักสู้สามัญชน

ฟิล์ม 35 มม. / สี / พากย์ / 100 นาทีวันที่ออกฉาย      27 มิถุนายน 2524บริษัทสร้าง    พิฆเณศภาพยนตร์ผู้อำนวยการสร้าง ...

อ่านรายละเอียด

วิมานดารา

ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง /  141 นาทีวันที่ออกฉาย 19 มกราคม 2517บริษัทสร้าง            เทพชัยภาพยนตร์ผู้กำกับ&nbs...

อ่านรายละเอียด

ทอง

ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง / 113 นาทีฉายครั้งแรก               22 ธันวาคม 2516บริษัทสร้าง   ...

อ่านรายละเอียด