ปิดทองหลังพระ (เศษที่เหลืออยู่)

ฟิล์ม ๓๕ มม. / ขาวดำ / เสียง / ๑๐.๕๑ นาที

๑๑ มกราคม ๒๔๘๒

ผู้สร้าง บริษัท ภาพยนตร์ไทย จำกัด

บริษัทสร้าง บริษัท ภาพยนตร์ไทย จำกัด

ผู้อำนวยการสร้าง พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล

ผู้ประพันธ์ พระยาโกมารกุลมนตรี

ผู้กำกับ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล

ผู้ถ่ายภาพ ม.ร.ว. อนุศักดิ์หัสดินทร์, ประสาท สุขุม A.S.C.

ผู้ลำดับภาพ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล

ผู้กำกับศิลป์ เฉลิม พันธุ์นิล

ผู้บันทึกเสียง น้อย บุนนาค

ผู้ประพันธ์คำร้อง ม.ล. พวงร้อย อภัยวงศ์

วงดนตรี บริษัท ภาพยนตร์ไทย จำกัด

ผู้แสดง ลิขิต สารสนอง, สุภาพ สง่าเมือง, พนม สุทธาศิริ, อบ บุญติด, รวมพันธุ์, ป้าสุ่น


ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เมื่อกลุ่มคนหนุ่มซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนนอก นำโดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล, พจน์ สารสิน และ ประสาท สุขุม ช่างถ่ายภาพยนตร์ไทยคนแรกที่ไปเรียนถ่ายทำภาพยนตร์ที่ฮอลลีวูด และเป็นสมาชิกสมาคมช่างถ่ายภาพยนตร์อเมริกัน (American Society of Cinematographer - A.S.C.) ได้รวมตัวกันก่อตั้ง บริษัท ภาพยนตร์ไทย จำกัด และสร้างโรงถ่าย “ไทยฟิล์ม” โรงถ่ายภาพยนตร์เสียงมาตรฐานสากลแห่งที่สองของประเทศ ที่บริเวณทุ่งมหาเมฆ พวกเขาได้กลายมาเป็นคู่แข่งในการผลิตภาพยนตร์ ๓๕ มม. เสียงในฟิล์มรายสำคัญของโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุง ซึ่งเปิดดำเนินการเป็นรายแรก ในขณะที่ภาพยนตร์ของผู้สร้างรายอื่น ๆ ล้วนไม่ได้บันทึกเสียงในฟิล์ม แต่ใช้นักพากย์มาพากย์สดขณะฉาย


โรงถ่ายไทยฟิล์มเริ่มผลิตภาพยนตร์เสียงออกฉายตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ โดยมีผลงานมากถึง ๓ เรื่องในปีแรก ได้แก่ ถ่านไฟเก่า แม่สื่อสาว และ วันเพ็ญ ก่อนจะเงียบหายไปเกือบ ๑ ปี และกลับมาอีกครั้งในช่วงต้นปี พ.ศ. ๒๔๘๓ (นับแบบปีปฏิทินปัจจุบัน) ด้วยเรื่อง ปิดทองหลังพระ และ ลูกทุ่ง แต่หลังจากนั้น บริษัทภาพยนตร์ไทยได้หมดทุนและจำต้องหยุดกิจการลง อย่างไรก็ตาม โรงถ่ายไทยฟิล์มยังมีบทบาทสำคัญต่อเนื่อง เมื่อ ปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ใช้โรงถ่ายที่ว่างอยู่และบุคลากรของไทยฟิล์มสร้างภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก ออกฉายใน พ.ศ. ๒๔๘๔ ต่อมา รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ซื้อกิจการโรงถ่าย ให้กองทัพอากาศดำเนินการภายใต้ชื่อ “กองภาพยนตร์ทหารอากาศ” ทำหน้าที่ผลิตภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อให้รัฐบาล และได้สร้างภาพยนตร์เรื่อง บ้านไร่นาเรา ออกฉายในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ช่วงที่ประเทศเข้าสู่ภาวะสงครามโลก ครั้งที่ ๒ จากนั้นไม่นาน ได้เกิดเหตุไฟไหม้อาคารแล็บล้างฟิล์มและที่เก็บฟิล์มของโรงถ่าย จนต้องยุติการดำเนินงาน ส่งผลให้ฟิล์มต้นฉบับภาพยนตร์ของไทยฟิล์มและกองภาพยนตร์ทหารอากาศสูญเสียไปหมดสิ้น


ปี พ.ศ. ๒๕๓๔ หอภาพยนตร์ได้ค้นพบฟิล์มสำเนาฉายของภาพยนตร์จากโรงถ่ายไทยฟิล์ม เรื่อง ปิดทองหลังพระ จำนวน ๑ ม้วน ความยาวประมาณ ๑,๐๐๐ ฟุต ปะปนอยู่กับเศษฟิล์มอื่น ๆ ในโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง เมื่อตรวจสอบกับเรื่องย่อในสูจิบัตรของภาพยนตร์ พบว่าเป็นม้วนที่อยู่ในช่วงท้ายเรื่อง ประกอบด้วยสามฉาก ฉากแรกถ่ายนอกโรงถ่าย เป็นฉากสวนอาหารมะริดรมณีย์ ปรากฏให้เห็น ยม ผู้ร้ายของเรื่อง บังคับให้ มะริด เจ้าของสวนเรียกนางเอกคือ วัฒนา ซึ่งยมหมายปองอยู่ มาร้องเพลงบำเรอแก่เขา โดยมีวงดนตรีที่มี เอื้อ สุนทรสนาน เป็นนายวงบรรเลงจนจบเพลง ฉากนี้ตัดสลับกับฉากห้องพักนางบำเรอ ที่วัฒนาผู้มาทำงานใช้หนี้แทนชายคนรัก ใช้เป็นที่นั่งรอแขกเรียกอยู่กับเพื่อนนางบำเรอ และฉากสุดท้ายเป็นฉากในบ้าน ซึ่งมะริดกับ เถ้าแก่ฮั่วหยง คู่รักที่เพิ่งแต่งงานกัน ได้พบกับ อาจารย์สุก หมอดูและสามีเก่าของมะริด ที่จู่ ๆ ก็ปรากฏตัวขึ้น ทั้ง ๆ ที่หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่าเขาตายแล้ว โดยในบรรดานักแสดงตามบทบาทเหล่านี้ มีแค่ อบ บุญติด ผู้รับบท เถ้าแก่ฮั่วหยง ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของแฟนภาพยนตร์ยุคหลัง เพราะมีผลงานยืนนานไปจนถึงยุคภาพยนตร์ ๑๖ มม. ซึ่งเริ่มต้นขึ้นหลังสงครามโลก ครั้งที่ ๒


เศษภาพยนตร์เรื่อง ปิดทองหลังพระ เป็นตัวอย่างผลงานประเภทภาพยนตร์เรื่องเพียงเรื่องเดียวของโรงถ่ายไทยฟิล์ม ในยุคบริษัท ภาพยนตร์ไทย จำกัด ที่ยังหลงเหลืออยู่ เมื่อนำมาเทียบกับเศษภาพยนตร์เรื่อง เลือดชาวนา ซึ่งเป็นผลงานของโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุงที่เหลือรอดมาเพียงเรื่องเดียวเช่นกัน ได้ทำให้เห็นถึงลักษณะภาพยนตร์ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนของสองโรงถ่ายคู่แข่งสำคัญ รวมทั้งยังปรากฏให้เห็นฉากร้องเพลง ซึ่งเป็นจุดขายอย่างหนึ่งของหนังเสียงไทยในยุคแรก และไม่อาจหาดูได้จากเศษภาพยนตร์ เลือดชาวนา


ความยาวเพียง ๑๐ นาทีของภาพยนตร์เรื่อง ปิดทองหลังพระ ที่ตกทอดมาสู่คนรุ่นหลัง จึงมีคุณค่าทั้งในแง่การเป็นบทบันทึกของโรงถ่ายภาพยนตร์ที่เคยยิ่งใหญ่ และเป็นซากดึกดำบรรพ์ชิ้นสำคัญ ที่ทำให้นักประวัติศาสตร์ภาพยนตร์สามารถปะติดปะต่อภาพรวมในช่วงยุคทองของหนังเสียงไทย จากร่องรอยที่หลงเหลืออยู่แค่เศษเสี้ยว


หมายเหตุ

ข้อมูลปี พ.ศ. ของภาพยนตร์ที่ออกฉายก่อนการเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่ เมื่อ ๑ มกราคม ๒๔๘๔ จะนับตามปฏิทินแบบเก่า (๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่)

มรดกภาพยนตร์ของชาติ

ดูทั้งหมด

Goal Club เกมล้มโต๊ะ

ฟิล์ม 35 มม. / สี /เสียง / 98 นาทีวันที่ออกฉาย               27 เมษายน 2544บริษัทสร้าง      &nb...

อ่านรายละเอียด

สาย สีมา นักสู้สามัญชน

ฟิล์ม 35 มม. / สี / พากย์ / 100 นาทีวันที่ออกฉาย      27 มิถุนายน 2524บริษัทสร้าง    พิฆเณศภาพยนตร์ผู้อำนวยการสร้าง ...

อ่านรายละเอียด

วิมานดารา

ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง /  141 นาทีวันที่ออกฉาย 19 มกราคม 2517บริษัทสร้าง            เทพชัยภาพยนตร์ผู้กำกับ&nbs...

อ่านรายละเอียด

ทอง

ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง / 113 นาทีฉายครั้งแรก               22 ธันวาคม 2516บริษัทสร้าง   ...

อ่านรายละเอียด