ชมสยามผ่านกรุหนังกรมรถไฟหลวง
7 กันยายน 2567
เวลา 17:30 น.
โรงศาลาศีนิมา
เทศกาลภาพยนตร์เงียบ ประเทศไทย ครั้งที่ 8
2469
กำกับโดย -
สนับสนุนโดย -
นำแสดงโดย -
ความยาว 0 นาที
ภาษา -
พ.ศ. 2465 พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง ผู้ทรงเป็นนักถ่ายภาพยนตร์สมัครเล่นคนสำคัญ ได้ทรงจัดตั้ง “กองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว” เพื่อหน้าที่ผลิตภาพยนตร์เผยแพร่กิจการของหน่วยงานราชการ พระราชกรณียกิจและพระราชพิธีต่าง ๆ รวมถึงภาพยนตร์ส่งเสริมการท่องเที่ยวสยาม ตลอดจนรับจ้างผลิตภาพยนตร์ให้เอกชนทั่วไป นับเป็นหน่วยงานภาพยนตร์ของรัฐแห่งแรกในสยามและเป็นแห่งแรกแห่งหนึ่งในโลก โดยมีผลงานต่อเนื่องยาวนานนับ 10 ปี จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 จึงค่อย ๆ หมดบทบาทลงไป
พ.ศ. 2524 ขณะที่ โดม สุขวงศ์ กำลังค้นคว้าข้อมูลเพื่อเขียนประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย เขาได้ค้นพบกรุฟิล์มไนเตรตของ “กองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง” กว่า 500 ม้วน ถูกเก็บลืมอยู่ในตู้ที่อาคารเก่าโรงพิมพ์รถไฟ ส่งผลให้เกิดการเรียกร้องให้ทางราชการจัดตั้งหอภาพยนตร์เพื่อทำหน้าที่อนุรักษ์ภาพยนตร์ในประเทศไทยจนสำเร็จใน พ.ศ. 2527 โดยฟิล์มที่ค้นพบล้วนเป็นผลงานที่ถ่ายทำไว้ในสมัยรัชกาลที่ 7 ช่วง พ.ศ. 2469 – 2475 ซึ่งมีหลวงกลการเจนจิต หรือ เภา วสุวัต เป็นหัวหน้าช่างถ่ายภาพและภาพยนตร์ และแม้ทั้งหมดจะเป็นเพียงเศษที่ไม่สมบูรณ์ แต่ก็ยังนับได้ว่ามีคุณูปการมหาศาลต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ด้านต่าง ๆ ของไทย
เทศกาลภาพยนตร์เงียบ ประเทศไทย ได้คัดเลือกผลงานบางส่วนจากกรุทรงคุณค่านี้ เช่น พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ รัชกาลที่ 6 พ.ศ. 2469, การเสด็จเลียบเมืองเหนือของรัชกาลที่ 7 พ.ศ. 2470, ภาพยนตร์ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว “ชมสยาม” พ.ศ. 2473, การก่อสร้างสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ พ.ศ. 2474 ฯลฯ มาเรียบเรียงเพื่อจัดฉายเนื่องในวาระครบ 40 ปีหอภาพยนตร์ เพื่อให้ผู้ชมได้ประจักษ์ถึงความสำคัญแห่งการบันทึกประวัติศาสตร์ชาติด้วยฟิล์มภาพยนตร์ของกรมรถไฟหลวง ที่หอภาพยนตร์ได้เก็บรักษาไว้ พร้อมการแสดงดนตรีสดโดยวงกอไผ่