เทศกาลภาพยนตร์เงียบ ประเทศไทย ครั้งที่ 8

image

เทศกาลภาพยนตร์เงียบ ประเทศไทย จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2557 ซึ่งเป็นปีที่หอภาพยนตร์ครบรอบ 30 ปี และด้วยความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของเทศกาล ทำให้มีมิตรรักแฟนหนังสนใจและให้การสนับสนุน หอภาพยนตร์จึงดำเนินการจัดเทศกาลนี้มาอย่างต่อเนื่อง และแม้ว่าจะต้องหยุดไป 3 ปี ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่เมื่อได้กลับมาจัดอีกครั้งเมื่อปีที่แล้ว เทศกาลภาพยนตร์เงียบก็ยังได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี 


ในปีนี้  ที่หอภาพยนตร์กำลังจะมีอายุครบรอบ 40 ปี ในวันที่ 7 กันยายน  เทศกาลภาพยนตร์เงียบ ประเทศไทย ครั้งที่ 8  จึงร่วมฉลองด้วยการจัดขึ้นให้ตรงกับช่วงเวลาสำคัญดังกล่าว ระหว่างวันที่ 6-8 กันยายน 2567 ณ โรงภาพยนตร์ศาลาศีนิมา โรงหนังไม้ตามแบบอย่างโรงหนังเมืองไทยยุคหนังเงียบ ที่ตั้งอยู่บนชั้น 6 อาคารสรรพสาตรศุภกิจ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายในการเข้าชม


หนังเงียบจากต่างประเทศที่นำมาจัดฉายในปีนี้ จะมีตั้งแต่หนึ่งในหนังดังที่สุดของยุคหนังเงียบอย่าง A Trip to the Moon (2445) โดย Georges Méliès ผู้พาโลกภาพยนตร์ไปเหยียบดวงจันทร์เป็นครั้งแรก Paris qui dort (2468)  โดย René Clair ซึ่งสะกดนครปารีสที่สวยงามให้หลับใหล Secrets (2467) ผลงานของ Frank Borzage หนังรักคลาสสิกที่ยืนยันว่า ความรักคือการให้อภัย ไปจนถึงผลงาน 2 เรื่องของผู้กำกับชื่อดังชาวญี่ปุ่น Yasujiro Ozu ที่จะฉายในรูปแบบฟิล์ม 35 มม.  เรื่อง Tokyo Chorus (2474) ที่จะทำให้เราหวนไห้ถึงความฝันในวัยเด็กที่ห่างไกลจากปัจจุบันที่เป็น และ I was Born, but (2475) เมื่อเด็กน้อยได้เรียนรู้ความซับซ้อนของชีวิตมนุษย์เงินเดือนผ่านพ่อของตัวเอง 


นอกจากนี้ยังมีผลงานอนุรักษ์โดยหอภาพยนตร์สวีเดน หน่วยงานแรก ๆ ที่สนับสนุนการจัดตั้งหอภาพยนตร์ไทยจนสำเร็จเมื่อ 40 ปีที่แล้ว เป็นหนังเงียบเขย่าขวัญ 2 เรื่อง คือ The Phantom Carriage (2464) โดย Victor Sjöström เรื่องของรถม้าลึกลับที่มอบบทเรียนชีวิตแก่หนุ่มสำมะเลเทเมา และ Häxan : Witchcraft Through the Ages  (2465) โดย Benjamin Christensen ที่พาไปสำรวจความเชื่อเรื่องแม่มด ปีศาจ ซาตาน ตั้งแต่อดีต  


สำหรับผู้ที่จะมาประกอบภาพยนตร์เงียบเหล่านี้แบบสด ๆ ได้แก่ Mie Yanashita นักเปียโนชาวญี่ปุ่น ที่เคยมาแสดงในงานเทศกาลครั้งแรก และ Matti Bye นักเปียโนชาวสวีเดน ผู้ที่มีผลงานการแสดงประกอบภาพยนตร์เงียบมาแล้วทั่วโลก


และที่พิเศษสุด สำหรับการเฉลิมฉลอง 40 ปีหอภาพยนตร์ เทศกาลภาพยนตร์เงียบได้เตรียมโปรแกรมพิเศษ ชมสยามผ่านกรุหนังกรมรถไฟหลวง โดยนำผลงานบางส่วนจากกรุของกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง สมัยรัชกาลที่ 7 ซึ่งถือเป็นกรุฟิล์มสำคัญที่มีส่วนให้เกิดการจัดตั้งหอภาพยนตร์ มาเรียบเรียงและจัดฉายประกอบการบรรเลงดนตรีสดของวงกอไผ่ นำโดย อานันท์ นาคคง ผู้เคยเล่นดนตรีประกอบการฉายหนังเงียบของหอภาพยนตร์มาตั้งแต่ยุคเริ่มต้น


ผู้ที่สนใจรายละเอียดเทศกาลฯ ในปีนี้ ติดตามรายละเอียดได้ที่ 

www.facebook.com/silentfilmthailand



ลานดารา สุประวัติ ปัทมสูต

Embrace the Bizarre

Misplaced ไม่ใช่ที่ของเรา

Fiction/Nonfiction

คุณาวุฒิ ๑๐๑ : A Retrospective

ลานดารา นันทวัน เมฆใหญ่

รำลึก วินัย ไกรบุตร

สายใต้

เทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ประเทศไทย ครั้งที่ 19

ภาพยนตร์โลก WORLD CINEMA PROGRAMME