Histories in the (film) Making ประวัติศาสตร์ที่ภาพยนตร์สร้าง

image

ปลายปี 2566 ที่ผ่านมา ประเด็นเรื่องประวัติศาสตร์ในภาพยนตร์ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันอีกครั้ง เมื่อเกิดกรณีวิวาทะระหว่างผู้กำกับฮอลลีวูดรุ่นใหญ่ ริดลีย์ สก็อตต์ กับนักประวัติศาสตร์ เกี่ยวกับการบิดเบือน ปรุงแต่งหรือละเลย ข้อเท็จจริงในภาพยนตร์เรื่อง Napoleon ในขณะเดียวกัน ความนิยมของละครโทรทัศน์ภาคต่อเรื่อง“พรหมลิขิต”ที่ใช้พื้นเรื่องในสมัยอยุธยามาแต่งเติมอรรถรส ก็ได้ทำให้เหตุการณ์และบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยกลายเป็นกระแสที่ได้รับการนำมาอรรถาธิบายในวงกว้าง


แม้ภาพยนตร์จะเพิ่งถือกำเนิดขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 อันตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ของไทย แต่สื่อภาพเคลื่อนไหวได้ทำหน้าที่เสกให้ประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาก่อนหน้านั้นกลับมามีชีวิตบนจออย่างต่อเนื่อง จนบางครั้งกลายเป็นภาพจำของเหตุการณ์ที่เคยปรากฏอยู่แค่ในเรื่องเล่าหรือเอกสารจดหมายเหตุ แต่แน่นอนว่าภาพจำนั้นย่อมไม่ใช่ภาพจริง และผู้สร้างภาพยนตร์ย่อมไม่อาจคาดหมายว่าทุกอย่างที่ปรากฏในนั้นจะเป็นข้อเท็จจริง ด้วยเงื่อนไขหลายประการ เช่น งบประมาณ กลวิธีเล่าเรื่อง เทคนิคการถ่ายทำ ไปจนถึงจุดประสงค์ในการสร้างที่มีทั้งเพื่อความบันเทิงตอกย้ำความเชื่อเก่าแก่ปลุกกระแสรักชาติแม้กระทั่งต้องการนำประวัติศาสตร์มาตีความหรือสร้างความหมายใหม่ 


โปรแกรมภาพยนตร์เปิดศักราชใหม่ 2567 ประจำเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ หอภาพยนตร์ขอพาไปสำรวจผลงานทั้งไทยและต่างประเทศที่สร้างเกี่ยวกับเรื่องราวในประวัติศาสตร์ยุคก่อนจะมีภาพยนตร์ ทั้งประวัติศาสตร์จากเหตุการณ์จริง และประวัติศาสตร์ที่สร้างขึ้นมาใหม่ เริ่มต้นจากภาพยนตร์ไทยที่เก่าแก่ที่สุดในโปรแกรมคือ พระเจ้าช้างเผือก (2484) โดย ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งนำตำนานสงครามระหว่างกษัตริย์ไทยกับพม่าในอดีตมาดัดแปลง เพื่อสื่อสารแนวคิดเรื่องสันติภาพในช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2 อันเป็นเสมือนด้านกลับของ เลือดสุพรรณ (2522) ผลงานที่สร้างจากบทละครเวทีแนวปลุกใจรักชาติของ หลวงวิจิตรวาทการ ปัญญาชนผู้มีบทบาทในด้านชาตินิยม ที่ก็ว่าด้วยการเรื่องไทยรบพม่า และประพันธ์ขึ้นมาในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน 


นอกจากนี้ยังมีงานที่มีนัยสำคัญทางการเมืองอีกเรื่องคือ มรดกพระจอมเกล้า (2497) ของสำนักข่าวสารอเมริกันซึ่งสร้างในยุคต้นสงครามเย็นเพื่อโฆษณาชวนเชื่อให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับไทยนั้นมีมายาวนานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ยังทรงผนวช โดยมีผู้กำกับคือ ม.จ.ศุกรวรรณดิศ ดิศกุล พระโอรสของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ บิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย


ผลงานหนังอิงประวัติศาสตร์ที่สร้างโดยเชื้อพระวงศ์ไทย ในโปรแกรมนี้ยังมีอีก 2 เรื่องคือ พันท้ายนรสิงห์ (2493) ที่ “เสด็จพระองค์ชายใหญ่” พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล สร้างจากบทละครเวทีอันโด่งดัง

ของพระองค์และกลายเป็นความทรงจำร่วมของผู้คนในยุคหนึ่งกับ ปักธงไชย (2500) ของ “เสด็จพระองค์ชายเล็ก” พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ ซึ่งผสมผสานเกร็ดประวัติศาสตร์เข้ากับความรู้ทางการทหารของพระองค์ และเป็นหนึ่งในหนังไทยน้อยเรื่องที่กล่าวถึงสงครามปราบฮ่อสมัยรัชกาลที่ 5


ในกลุ่มหนังไทยคลาสสิกยังมีงานที่สร้างจาก “นิยายปลอมประวัติศาสตร์” ของยาขอบ เรื่องผู้ชนะสิบทิศ ที่สร้างเป็นหนังไตรภาค ในโปรแกรมนำภาคสุดท้าย ผู้ชนะสิบทิศ ตอน ถล่มหงสาวดี (2510) มาให้ชม ควบคู่กับ มหาราชดำ (2524) หนึ่งในหนังที่กล่าวถึงวีรกรรมของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระมหากษัตริย์ที่ได้รับการบอกเล่าในสื่อภาพยนตร์อยู่บ่อยครั้ง ไปจนถึง เจาะเวลาหาโก๊ะ (2535) หนังตลกวัยรุ่นที่พาตัวละครย้อนเวลาเข้าไปอยู่ในยุคกรุงธนบุรี ท่ามกลางสงครามพม่ากับไทย


ต่อมาเป็นงานในยุคทศวรรษ 2540 ช่วงที่หนังประวัติศาสตร์ไทยถูกสร้างออกมาอย่างคึกคัก ในโปรแกรมนี้มี บางระจัน (2543) ผลงานที่ทั้งปลุกกระแสดังกล่าวและสร้างหัวข้อสนทนาในสังคมไทยยุคนั้น กับ ทวิภพ (2547) ภาพยนตร์ที่ทั้งเคร่งครัดต่องานสร้างอันสมจริงแต่ในขณะเดียวกันก็ยั่วล้อและตีความประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการรอดพ้นจากการถูกล่าอาณานิคมของสยามไว้อย่างน่าสนใจ ก่อนจะมาถึงชุดหนังไทยร่วมสมัยสามเรื่องในสามปีหลังคือ อโยธยา มหาละลวย (2564) หนังแอ็กชันโรแมนติก ที่กล่าวถึงความหลากหลายเชื้อชาติและวัฒนธรรมในสมัยอยุธยา บุพเพสันนิวาส 2  (2565) ผลงานที่ต่อยอดมาจากความโด่งดังของฉบับละครโทรทัศน์ ที่ฉบับภาพยนตร์ข้ามมาเล่าในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น และเรื่องล่าสุด แมนสรวง (2566) หนังแนวสืบสวนสอบสวนซึ่งมีฉากหลังเป็นจุดเปลี่ยนผ่านและการชิงไหวชิงพริบของชนชั้นนำสมัยรัชกาลที่ 3 ปิดท้ายด้วยกลุ่มหนังต่างประเทศ มีสองผลงานเก่าและใหม่ของ ริดลีย์ สก็อตต์ คือ Gladiator (2543) กับ Napoleon (2566) เวอร์ชันล่าสุดที่เป็นกรณีถกเถียง และสองเรื่องที่กล่าวถึงรัชสมัยพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 ซึ่งกลายเป็นคู่แข่งในเวทีออสการ์ปีเดียวกันคือ Elizabeth (2541) กับ Shakespeare in Love (2541) รวมถึงภาพยนตร์ที่สร้างจากนิยายของ ลีโอ ตอลสตอย ว่าด้วยสังคมชั้นสูงของรัสเซียช่วงศตวรรษที่ 19 เรื่อง Anna Karenina (2555)


พระเอกนักร้อง

มรดกภาพยนตร์ของชาติ 2567

Warm on a Cold Night

เทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 28 (The 28th Thai Short Film and Video Festival)

S-Express 2024 - เทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 28

รำลึก ฉลอง ภักดีวิจิตร

เทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ประเทศไทย ครั้งที่ 19

ภาพยนตร์โลก WORLD CINEMA PROGRAMME