True Man Show ชายทั้งแท่ง

image

บริบทและมุมมองของผู้คนในสังคมแต่ละยุคสมัยอาจกำหนดคำนิยามของสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้ตายตัวจนยากที่จะแปรเปลี่ยนใจความสำคัญ แต่เมื่อความเป็นไปของสังคมและโลกได้หมุนเคลื่อนไปตามเวลา โลกทัศน์ของผู้คนในยุคสมัยถัดมาจึงอาจเปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่เคยถูกจำกัดนัยเอาไว้อย่างเข้มงวดอาจถูกหยิบยกนำมาตั้งคำถามถึงการมีคุณค่าสำหรับช่วงเวลานั้น   


หนึ่งในกระแสตื่นตัวทางสังคมและวัฒนธรรมที่น่าสนใจในช่วงหลายปีหลังอันเกี่ยวข้องกับความเท่าเทียมทางเพศ ทำให้คำเปรียบเปรยที่เคยเป็นคำในเชิงยกย่องอย่าง “ชายแท้” ถูกพลิกแพลงให้กลายเป็นคำเชิงตำหนิหรือประชดประชันต่อการกระทำหรือการมีทัศนคติที่เป็นพิษภัยบางอย่างของความเป็นชาย ลักษณะทางกายภาพหล่อหลอมเข้ากับทัศนคติและค่านิยมที่ถูกปลูกฝังว่า เกิดเป็น “ลูกผู้ชาย” ต้องปกป้องผู้หญิง เหยียดความอ่อนแอ และห้ามยี่หระต่ออุปสรรคประการใด จึงกลายเป็นวัตถุดิบชั้นดีที่เหล่าผู้สร้างภาพยนตร์เลือกนำมาเล่าเรื่องผ่านผลงานต่าง ๆ โดยเฉพาะประเภทแอ็กชันและโรแมนติก ในขณะที่ผู้สร้างบางคนเลือกที่จะวิพากษ์องค์ประกอบของ “ชายแท้” ว่าเป็นสารตั้งต้นของการเกิดแรงกดดันทางเพศ ซึ่งไม่ได้ปะทุต่อเพียงเพศตรงข้ามเท่านั้น แต่กระทบกระทั่งกับฝั่งเดียวกันอีกด้วย 


โปรแกรม “True Man Show ชายทั้งแท่ง” เป็นชุดภาพยนตร์ที่สำรวจผลงานทั้งไทยและต่างประเทศที่สร้างเรื่องราวโดยใช้ความเป็นเพศชายเป็นจุดขาย ทั้งที่ส่งเสริมทัศนคติแบบเดิม หรือตั้งคำถามย้อนกลับไป เริ่มต้นด้วย อุ้งมือมาร (2529) ภาพยนตร์แนวตบจูบเรื่องดังของ พิศาล อัครเศรณี ผู้มักมีตัวละครชายนิสัยกักขฬะเป็นภาพจำ ที่ถึงแม้จะทำกิริยาป่าเถื่อนรุนแรงสักเพียงใด แต่ตัวละครหญิงก็ต้องสยบยอมอยู่เสมอ ซึ่งเป็นตัวละครที่มีนิสัยขั้วตรงข้ามกับบทบาทที่ ริชาร์ด เกียร์ เล่นใน An Officer and a Gentleman (2525) ในบทของนายทหารหนุ่มมาดเนี้ยบ ผู้ใช้ความเป็นสุภาพบุรุษพิชิตใจหญิงคนรัก โดยก่อนหน้าที่จะรับบทนี้ เกียร์แจ้งเกิดจาก American Gigolo (2523) ในบทของโสเภณีหนุ่มใบหน้าหล่อเหลา ผู้ใช้เสน่ห์และเรือนร่างเอาใจลูกค้าสาวคำเปรียบเป็นเปรยต่อชายฉกรรจ์ที่มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงว่า “ชายอกสามศอก” ถูกนำเสนอทั้งการนำมาเป็นจุดขายอย่างตรงไปตรงมาผ่านตัวละครหลักใน นักเลงเทวดา (2518) ที่ สมบัติ เมทะนี นำแสดงและกำกับ ขณะที่ Top Gun: Maverick (2565) บอกเล่าด้วยท่าทีในเชิงเดียวกัน พร้อมกับยั่วล้อการเหมารวมคตินิยมนี้ไปในตัว


“หนังแอ็กชัน” เป็นหนึ่งในประเภทของภาพยนตร์ที่มักนำเสนอเรื่องราวโดยหล่อเลี้ยงอารมณ์แบบผู้ชาย ๆ ทั้งผลักดันให้ตัวละครเอกเข้าสู่ชุดความท้าทายที่รุนแรงต่าง ๆ การถูกไล่ล่าอย่างโลดโผน และอาจมี “ผู้หญิง” เป็นเรื่องเดิมพัน โดยชุดภาพยนตร์นี้นำเสนอผ่านหนังแอ็กชันสองยุคอย่าง มังกรเจ้าพระยา (2537) และ พันธุ์ X เด็กสุดขั้ว (2547) แต่หนังที่เหมือนจะผูกติดกับการบอกเล่าผ่านสายตาของผู้กำกับชาย กลับได้รับการนำเสนอผ่านสายตาของคนทำหนังเพศตรงข้ามด้วยเช่นกันใน ปีนเกลียว (2537) ที่กำกับโดย อรนุช ลาดพันนา นอกเหนือไปกว่านั้น ยังมี เพื่อน กูรักมึงว่ะ (2550) ผลงานที่พยายามฉีกทลายกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของหนังประเภทนี้ 


ในชุดภาพยนตร์นี้ยังมีผลงานที่ว่าด้วยมิตรภาพแบบเพื่อนตายของเพื่อนชาย ซึ่งถูกนำเสนอผ่านผลงานต่างประเภทกันอย่าง 4KINGS (2564) และ ไทบ้านเดอะซีรีส์ (2560) ความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนที่ฝ่ายชายมีจำนวนมากกว่าฝ่ายหญิงใน ชู้ (2515) รักหนูมั้ย (2563) และ Fake โกหก...ทั้งเพ (2546) การตื่นรู้เรื่องเพศที่มองผู้หญิงเป็นเพียงวัตถุใน American Pie (2542) และ MAN เกิน 100 แอ้มเกินพิกัด (2546)  ไปจนถึงตัวละครที่มีทัศนคติแบบชายเป็นใหญ่ จนเกิดความสัมพันธ์ที่มีสภาวะความเป็นชายเป็นพิษกับหญิงคนรักใน Phantom Thread (2560)


นอกจากนี้ ชุดภาพยนตร์นี้ยังรวมถึงผลงานเรื่องอื่นที่อยู่นอกเหนือจากโปรแกรมทั้ง ชายสามโบสถ์ (2524) หนังแนวล้างแค้นจากโปรแกรม “Archive Rediscovery” Western (2560) และ Rodéo (2565) หนังยุโรปสองสัญชาติที่เล่าเรื่องราวในโลกของผู้ชายผ่านสายตาของผู้กำกับหญิงจากโปรแกรมภาพยนตร์โลก ก่อนจะปิดท้ายเดือนด้วยกิจกรรม “ทึ่ง! หนังโลก” Beau Travail (2542) ผลงานภาพยนตร์ของ แคลร์ เดอนีส์ ผู้กำกับชาวฝรั่งเศส ที่ได้รับคำยกย่องว่า จับจ้องและวิพากษ์ทัศนคติและเรือนร่างของเพศชายได้เฉียบคมมากที่สุดเรื่องหนึ่งของโลก


รำลึก ฉลอง ภักดีวิจิตร

รำลึก ชรินทร์ นันทนาคร

KinoFest 2024

เทศกาลภาพยนตร์จีน ณ กรุงเทพฯ ครั้งที่ 18

มรดกหนังดอกดิน: ๑๐๐ ปี ศิลปินของประชาชน

Poor People สงครามชีวิต

เทศกาลภาพยนตร์เงียบ ประเทศไทย ครั้งที่ 8

ลานดารา สุประวัติ ปัทมสูต

Embrace the Bizarre

Misplaced ไม่ใช่ที่ของเรา

Fiction/Nonfiction

คุณาวุฒิ ๑๐๑ : A Retrospective

ลานดารา นันทวัน เมฆใหญ่

รำลึก วินัย ไกรบุตร

สายใต้

เทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ประเทศไทย ครั้งที่ 19

ภาพยนตร์โลก WORLD CINEMA PROGRAMME