หมอ พยาบาล และบุคคลด้านสาธารณสุข มีบทบาทโดดเด่นอย่างยิ่งในการควบคุมและบริหารสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ในประเทศไทย จนประสบความสำเร็จในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แต่บนจอภาพยนตร์ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน หมอ รวมทั้งผู้รับหน้าที่บำบัดโรคร้ายต่าง ๆ ได้รับการวางบทบาทอันแตกต่างหลากหลาย เป็นทั้งวีรบุรุษและเป็นผู้ร้าย ผู้สร้างเสียงหัวเราะและผู้มั่นคงในอุดมการณ์ ผู้ตกในห้วงรักและผู้สังเกตการณ์ความเปลี่ยนแปลงของสังคม ส่วนโรคภัยที่หมอต้องต่อกรด้วย มีทั้งโรคทางร่างกาย ทางจิตใจ โรคในจินตนาการของคนไข้ และโรคร้ายที่กัดกินสังคม ทั้งการคอร์รัปชัน หรือการครอบงำสภาพจิตใจให้คนตกอยู่ในกรอบความเชื่อจนกลายเป็นกรงขังร่างกายให้หลับใหล
ภาพยนตร์ทั้ง 8 เรื่องในโปรแกรม “การแพทย์และโรคร้าย” ครอบคลุมทั้งหนังที่สะท้อนความจริงและหนังที่สร้างจากจินตนาการที่คนทำหนังมีต่อบุคลากรทางการแพทย์และระบบสาธารณสุขของไทย มีทั้งหนังดรามา เข้มข้นในประเด็นสังคม เช่น เขาชื่อกานต์ และ รักใคร่ หรือหนังชวนหัวที่ทำให้เห็นว่า หมอไม่ได้เป็นอาชีพที่เคร่งขรึมเสมอไปแต่มีมุมขบขัน หรือถึงขั้นโปกฮาอยู่ด้วย เช่น หมอซ้ง และ หมอเจ็บ นอกจากนี้ยังมีหนังที่สร้างจากคดีอาชญากรรมอื้อฉาว นวลฉวี ที่หมอกลับตกเป็นเหยื่อของความแค้นและโทสะเสียเอง
ในขณะเดียวกันยังมี ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย..ห้ามพัก..ห้ามรักหมอ หนังโรแมนติก-คอเมดีร่วมสมัย ที่นอกเหนือจากจะมีตัวละครเป็นคุณหมอสาว ยังแฝงภาพระบบสาธารณสุขไทยให้เห็นอีกด้วย นอกจากนี้ โปรแกรมการแพทย์และโรคร้ายจะฉาย บ้านผีปอบ ภาคแรก ที่ยังคงความเป็นหนังสยองขวัญว่าด้วยหมอเมืองกรุงที่ต้องเผชิญหน้ากับผีสางและความเชื่อทางไสยศาสตร์ในชนบท และสุดท้ายในโปรแกรมคือ รักที่ขอนแก่น หนังที่เชื่อมโยงประวัติศาสตร์ ความฝัน และโรคภัยที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าเข้าด้วยกัน