เดือนเมษายน เนื่องในวาระครบรอบการสถาปนากรุงเทพมหานคร เมืองหลวงที่เป็นศูนย์รวมของทุกสิ่งทุกอย่างอันเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ หอภาพยนตร์จึงได้จัดโปรแกรม “กรุงเทพฯ ที่เคลื่อนไหว” หรือ “Bangkok in Motion” เป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรม “ใต้ร่มพระบารมี 239 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” ของกระทรวงวัฒนธรรม โดยคัดสรรภาพกรุงเทพมหานครกับสถานะที่เคลื่อนไปมาซึ่งปรากฏอยู่ในภาพยนตร์มาจัดฉายให้ชม ทั้ง ทวิภพ (2547) ฉบับ Director’s Cut ของผู้กำกับ สุรพงษ์ พินิจค้า ที่แสดงภาพกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งกำลังตกอยู่ในภาวะชี้เป็นชี้ตายอนาคตของบ้านเมืองโดยมีพระบารมีและพระปรีชาสามารถของบุรพกษัตริย์เป็นปัจจัยสำคัญ คนกลางแดด (2522) ผลงานที่ คิด สุวรรณศร ตั้งใจสร้างสำหรับโอกาสครบรอบ 200 ปี กรุงเทพฯ ในปี 2525 โดยเลือกนำเสนอกรุงเทพฯ ในฉากที่เป็นนาฏกรรมชีวิตของชนชั้นแรงงาน บางกอกแดนเจอรัส เพชฌฆาตเงียบ อันตราย (2543) หนังที่ตีแผ่ด้านมืดของกรุงเทพฯ จากมุมมองของผู้กำกับต่างชาติ แดนนี และ ออกไซด์ แปง และ รถไฟฟ้า มาหานะเธอ (2552) หนังรักพนักงานออฟฟิศ ที่มีจุดตั้งต้นจากการจราจรในกรุงเทพฯ และฉายภาพเมืองกรุงในด้านสว่างทั้งกลางวันและกลางคืน
นอกจากหนังยาว ไฮไลต์สำคัญยังอยู่ที่ชุดภาพยนตร์สั้นเกี่ยวกับกรุงเทพฯ ที่สมควรนำมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง ทั้ง สวัสดีบางกอก (2553) ชุดหนังสั้นว่าด้วยกรุงเทพฯ 9 เรื่องของผู้กำกับ 9 คน ซึ่งบางเรื่องได้เดินทางไปไกลถึงเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโทรอนโต และ Bangkok Stories (2559) โปรเจกต์หนังสั้นบอกเล่าความรัก 6 เรื่อง ที่มีฉากหลักเป็นย่านสำคัญต่าง ๆ ทั่วเมืองกรุง ทั้งหมดนี้เป็นเสมือนคอลเลกชันรวมภาพเคลื่อนไหวของเมืองที่ไม่เคยหยุดเคลื่อนไหวอย่างกรุงเทพมหานคร ผ่านสายตาและการสร้างสรรค์ของผู้กำกับคนสำคัญของไทยหลายต่อหลายคน