สตรีมีกรรม

image

ในโอกาสวันสตรีสากล 8 มีนาคม หอภาพยนตร์จัดโปรแกรมใหญ่ตลอดเดือนมีนาคมและเมษายน ในชื่อ สตรีมีกรรม หรือ Female Trouble เพื่อสำรวจภาพยนตร์ที่นำเสนอสภาวะของความเป็นผู้หญิง ทั้งงานที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับอคติ การปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม หรือค่านิยมดั้งเดิมที่ทับถม ซึ่งก่อให้เกิด “กรรม” อันหมายถึง ความยากลำบาก ตลอดจนภาระทางกายและใจให้แก่สตรีเพศมาเนิ่นนาน รวมทั้งภาพยนตร์ที่พยายามก้าวข้ามเส้นแบ่งของคำนิยามเดิม หรือแม้แต่กระทั่งความหมายของ “ผู้หญิง” และ “ผู้ชาย”


เริ่มต้นด้วยผลงานในยุคหนังไทย 16 มม. ตั้งแต่งานก่อนปี 2500 อย่าง ห้วงรักเหวลึก (2498) ที่เพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติเมื่อปีที่ผ่านมา เนื้อหาของเรื่องนั้นตัดตอนมาจาก 10 บทแรกของนวนิยายขนาดยาวของหลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งเล่าถึงผู้หญิงที่ต่อกรกับอุปสรรคและการกดขี่จากผู้ชายอย่างเด็ดเดี่ยว นี่เป็นทั้งตัวแทนของนวนิยายและหนังไทยในยุคที่ค่านิยมเรื่องสิทธิสตรีเพิ่งเริ่มเฟื่องฟูในสังคมไทย และนำแสดงโดยนักแสดงระดับราชินีแห่งการละครที่โด่งดังมาตั้งแต่ยุคละครเวที สุพรรณ บูรณะพิมพ์ 


ถัดมาเป็น แม่นาคพระโขนง (2502) ตำนานหนังแม่นาคฉบับ ปรียา รุ่งเรือง ที่เป็นตัวอย่างสำคัญของ “ผีผู้หญิง” ซึ่งปรากฏอยู่มากมายในเรื่องเล่าของสังคมไทย และในทศวรรษเดียวกันนี้ ดาราหญิงที่โด่งดังที่สุดคือ เพชรา เชาวราษฎร์ โปรแกรมนี้มีผลงานการแสดงเรื่องแรกของเธอเรื่อง บันทึกรักของพิมพ์ฉวี (2505) ที่สะท้อนภาพผู้หญิงที่ถูกผู้ชายหลอกให้ส่งเสีย อุ้มทอง และรอคอยอย่างเจ็บช้ำ นอกจากนี้ยังมี แพรดำ (2504) หนังไทยระดับสากลที่มีตัวละครหญิงที่เข้มข้นและโดดเด่นที่สุดเรื่องหนึ่ง ผลงานของ รัตน์ เปสตันยี หนึ่งในคนทำหนัง 35 มม. เพียงไม่กี่คนในยุคหนังไทย 16 มม. กลางทศวรรษ 2510 อันเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากหนัง 16 มม. เข้าสู่ยุค 35 มม. อย่างเต็มตัว มีงานขนาดยาว 4 ชั่วโมง ของละโว้ภาพยนตร์เรื่อง แหวนทองเหลือง (2516) ที่เล่าถึงมหากาพย์ชีวิตของหญิงสาวคนหนึ่ง ซึ่งผ่านทั้งการคลุมถุงชน เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ขายตัว ตกเป็นเมียเช่า และสร้างฐานะเป็นเศรษฐินี จากนั้นในทศวรรษ 2520 โปรแกรมนี้ได้เลือกงานของผู้กำกับชายสองคนที่โดดเด่นในด้านการถ่ายทอดเรื่องราวของผู้หญิงคือ หัวใจที่ไม่อยากเต้น (2520) ของ เริงศิริ ลิมอักษร หนังตีแผ่ความรักซับซ้อนของผู้หญิงหลายคน รวมถึงรักระหว่างผู้หญิงด้วยกัน อีกเรื่องคือ วันนั้นคงมาถึง (2527) ภาพยนตร์สะท้อนศักดิ์ศรีผู้หญิง โดย ชนะ คราประยูร นอกจากนี้ยังมี มาธาดอร์จอมเพี้ยน (2528) อันเป็นตัวแทนของเนื้อหาว่าด้วยผู้หญิงที่จำต้องปลอมเป็นชายเพื่อปฏิบัติภารกิจบางอย่าง สองเรื่องหลังนี้นำแสดงโดย จารุณี สุขสวัสดิ์ นางเอกแถวหน้าของยุค


ทศวรรษถัดมา 2530 ยุคของนักแสดงหญิง จินตหรา สุขพัฒน์ ในโปรแกรมมีผลงานของเธอสองเรื่องที่ต่างพูดถึงการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี นั่นคือ ตลาดพรหมจารี (2531) ที่ว่าด้วยผู้หญิงซึ่งถูกพ่อเอาไปขายเพื่อนำเงินมาเล่นพนัน อีกเรื่องคือ ส.อ.ว. ห้อง 2 รุ่น 44 (2533) หนังถ่ายทอดชีวิตกลุ่มเพื่อนผู้หญิงที่มีเส้นทางชีวิตอันหลากหลาย 


เมื่อก้าวเข้าสู่ช่วงทศวรรษ 2540 ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างทั้งในสังคมไทย ตัวละครหญิงเริ่มได้รับการพูดถึงอย่างหลากหลายมากขึ้น ตัวอย่างในโปรแกรมคือ นางแบบ (2540) ที่เล่าถึงอาชีพในฝันของผู้หญิงจำนวนมากในยุคทุนนิยมเฟื่องฟู คืนไร้เงา (2546) งานสำรวจความสัมพันธ์ของชีวิตคู่ผ่านมุมมองของผู้หญิง โดยผู้กำกับหญิง พิมพกา โตวิระ และ ธิดาช้าง (2547) ภาพยนตร์ที่มีโจทย์เกี่ยวกับน้ำหนักตัวที่มีผลต่อรูปลักษณ์ภายนอก อันเป็นประเด็นหนึ่งที่มักถูกล้อเลียนและสร้างความกังวลให้แก่ผู้หญิงมาทุกยุค


ทศวรรษ 2550 ซึ่งวงการภาพยนตร์ไทยได้คลี่คลายไปสู่หลายมิติ ในโปรแกรมนี้มีทั้งงานสารคดีเรื่อง มูอัลลัฟ (2551) ซึ่งติดตามการเปลี่ยนผ่านของผู้หญิงที่ต้องเปลี่ยนศาสนาและวิถีชีวิตจากการแต่งงาน มีภาพยนตร์อิสระอย่าง รักจัดหนัก (2554) ซึ่งรวมหนังสั้นว่าด้วยปัญหาการ “ท้องไม่พร้อม” ที่ถูกผูกติดด้วยค่านิยมของสังคมไทย และ สาวคาราโอเกะ (2556) หนังนอกกระแสเล่าชีวิตสาวบ้านนอกที่มาทำงานในบาร์เพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ของผู้กำกับหญิง วิศรา วิจิตรวาทการ ในขณะเดียวกันยังมีหนังในระบบสตูดิโอในทศวรรษนี้หลายเรื่องที่นำเสนอภาพผู้หญิงได้อย่างน่าสนใจ ทั้ง 30 กำลังแจ๋ว (2554) ที่เน้นประเด็นเรื่องอายุกับการเลือกคู่ครองอันเป็นโจทย์สำคัญของผู้หญิงยุคใหม่ นางฟ้า (2556) ภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องราวของเหล่านางโชว์ ผลงานกำกับเรื่องแรกของนักแสดงหญิง บงกช คงมาลัย และ It Gets Better ไม่ได้ขอให้มารัก (2555) ผลงานถ่ายทอดปัญหาความรักของเพศชายที่มีหัวใจเป็นผู้หญิง โดย ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ คนทำหนังที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศ


ปิดท้ายโปรแกรมด้วยผลงานในทศวรรษปัจจุบัน ซึ่งมีทั้ง หน่าฮ่าน (2562) ของผู้กำกับหญิงรุ่นใหม่ ฉันทนา ทิพย์ประชาติ ที่พาคนดูไปทัศนาวิถีชีวิตวัยรุ่นหญิงภาคอีสาน ที่แตกต่างจากการรับรู้ในสื่อภาพยนตร์ไทยก่อนหน้านี้ พลอย (2564) สารคดีทดลองที่แกะรอยการเดินทางของหญิงค้าบริการผู้เป็นแรงงานต่างด้าวในสิงคโปร์ ซึ่งกำลังเดินสายจัดฉายในเทศกาลหลายแห่งทั่วโลก ไปจนถึงภาพยนตร์ต่างประเทศ ผลงานของผู้กำกับหญิงทั้งของอาเซียนและยุโรป ได้แก่ หนังผู้หญิงล้างแค้นจากอินโดนีเซีย Marlina the Murderer in Four Acts (2560) และ Petite Maman (2564) หนังฝรั่งเศสที่ถ่ายทอดโลกของผู้หญิงผ่านตัวละครเด็กหญิงตัวน้อย นอกจากนี้ในโปรแกรมภาพยนตร์โลกที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ นั้น ยังมีหนังเกี่ยวกับผู้หญิงที่โดดเด่นอีกหลายเรื่องที่เราเลือกมาจัดฉายควบคู่กับโปรแกรมสำคัญนี้



โลกแห่งวัยเยาว์ Youth Films for Summer Break

True Man Show ชายทั้งแท่ง

Histories in the (film) Making ประวัติศาสตร์ที่ภาพยนตร์สร้าง

คุณาวุฒิ ๑๐๑ : A Retrospective

เทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ประเทศไทย ครั้งที่ 19

ภาพยนตร์โลก WORLD CINEMA PROGRAMME