Law and Disorder กฎหมายกับความยุติธรรม?

image

ภาษิตละตินกล่าวว่า “Ubi societas, ibi jus” หรือ “ที่ใดมีสังคม ที่นั่นมีกฎหมาย” อันเป็นหลักนิติปรัชญาที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างกฎหมายกับสังคมที่ไม่อาจตัดขาดจากกันได้ เนื่องจากกฎหมายนั้นถือกำเนิดขึ้นจากสังคมและนำมาใช้เพื่อมนุษย์ในสังคม


อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายจะเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการปฏิบัติเพื่อควบคุมพฤติการณ์ในสังคม ตลอดจนผดุงและทำนุไว้ซึ่ง “ความยุติธรรม” แต่จากความผิดปรกติในหลาย ๆ อย่าง ทั้งความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้ ตลอดจนการใช้อำนาจในทางไม่ชอบของผู้บังคับใช้กฎหมาย ได้นำมาซึ่งคำถามที่ว่า หลักที่มนุษย์ทุกคนล้วนอยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกันอย่างเสมอภาคตามที่กฎหมายบัญญัติ และกระบวนการยุติธรรมเป็นที่พึ่งสุดท้ายให้แก่ทุกคน ยังคงเป็นไปตามนั้นอยู่หรือไม่


เนื่องในวันที่ 7 สิงหาคมของทุกปี ตรงกับ “วันรพี” หรือวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ผู้ทรงได้รับการยกย่องให้เป็นพระบิดาแห่งกฎหมายไทย ตลอดเดือนสิงหาคมนี้ หอภาพยนตร์จึงจัดโปรแกรม “Law and Disorder กฎหมายกับความยุติธรรม?” โดยคัดสรรชุดภาพยนตร์ไทยที่เกี่ยวพันกับประเด็นคำถามดังกล่าวข้างต้น เมื่อบรรดาผู้คนในหนังต้องเผชิญและต่อสู้ เพื่อให้ได้มาซึ่งความยุติธรรม ไม่ว่าจะด้วยการใช้กฎหมายหรือกฎเกณฑ์นอกระบบ 


เริ่มต้นจากผลงานที่ถ่ายทอดให้เห็นผลพวงที่เกิดจากกระบวนการยุติธรรมของไทย ทั้งความผิดพลาดครั้งใหญ่ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายยุติธรรมใน เชอรี่ แอน (2544) ภาพยนตร์ที่สร้างจากคดีฆาตกรรมสุดอื้อฉาว การต่อสู้อย่างยืดเยื้อในระบบศาลยุติธรรมของ สุภิญญา กลางณรงค์ ที่ถูกฟ้องหมิ่นประมาทจากบริษัทยักษ์ใหญ่ ในสารคดี ความจริงพูดได้ (2551) หรือภาพยนตร์ที่เล่าถึงชีวิตในเรือนจำ ทั้ง มนุษย์ 100 คุก (2522) ที่สร้างจากนิยายที่เขียนขณะเป็นผู้คุมของ คำพูน บุญทวี ว่าด้วยชะตากรรมของชายผู้ถูกจำคุกนับสิบ ๆ ครั้ง  และ น.ช. นักโทษชาย (2545) ภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องราวของสภาพชีวิตอันหลากหลายในเรือนจำผ่านตัวละครนักโทษที่แอบเป็นสายสืบให้ผู้บัญชาการ 


จากกระบวนการในระบบสู่นอกระบบ ภาพยนตร์ชุดนี้มี คืนยุติ-ธรรม (2562) หนังไทยร่วมสมัยที่ว่าด้วยชายที่ชีวิตต้องพลิกผันจากระบบยุติธรรมของรัฐ จนนำไปสู่การไล่ล่าล้างแค้นแบบ “ศาลเตี้ย” เช่นเดียวกับ คนแซ่ลี้ (2536) ที่กล่าวถึงศาลเตี้ยในอีกด้านหนึ่ง เมื่ออิทธิพลของผู้ที่อยู่ในวงราชการไทยได้คุกคามเอาชีวิตคนตัวเล็ก ๆ ที่ขัดขวางการทุจริต ในขณะเดียวกันยังมี ซุ้มมือปืน (2548) ซึ่งสะท้อนความเหลื่อมล้ำในการบังคับใช้กฎหมายผ่านโลกแห่งอำนาจและอิทธิพลมืดของบุคคลทั้งในและนอกเครื่องแบบ และ เสือ โจรพันธุ์เสือ (2541) ภาพยนตร์ที่เล่าถึงสภาพสังคมไทยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อผู้บังคับใช้กฎหมายไม่อาจพึ่งพิงได้ ชาวบ้านจึงต้องอาศัยผู้ที่อยู่นอกเหนือกฎหมายเพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นธรรม รวมไปถึง เจ้าแม่ (2519) หนังที่ว่าด้วยการต่อสู้ระหว่างอัยการหญิงผู้ฉ้อฉลกับตำรวจน้ำดี ซึ่งร่วมจัดอยู่ในโปรแกรมรำลึก สุริยา ชินพันธุ์ อีกด้วย



เทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 28 (The 28th Thai Short Film and Video Festival)

S-Express 2024 - เทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 28

รำลึก ฉลอง ภักดีวิจิตร

เทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ประเทศไทย ครั้งที่ 19

ภาพยนตร์โลก WORLD CINEMA PROGRAMME