ในวันอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย 4 ตุลาคม 2567 หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) กระทรวงวัฒนธรรม ขอเชิญทุกท่านร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 14 ประจำปี 2567 หลังจากได้ผ่านการพิจารณาตัดสินโดยนำรายชื่อภาพยนตร์ที่ประชาชนกว่า 1,700 คน ร่วมเสนอรายชื่อภาพยนตร์ 266 เรื่อง รวมกับภาพยนตร์ในคลังอนุรักษ์ภาพยนตร์บางส่วน มาเสนอให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาอาชีพ 34 ท่านตัดสิน โดยในปีนี้จะมีภาพยนตร์จำนวน 10 เรื่องที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ
พิธีประกาศรายชื่อภาพยนตร์ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ จะจัดขึ้นในวันอนุรักษภาพยนตร์ไทย ศุกร์ที่ 4 ตุลาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 14.00 น. เป็นต้นไป หลังจบพิธีจะมีการจัดฉาย นางนาก (2542) ในโอกาสภาพยนตร์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ เมื่อปี 2557 เรื่องนี้ ครบรอบ 25 ปี ให้ท่านได้รับชม
กำหนดการ
14.00 น. พิธีประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติประจำปี 2567
15.00 น. จัดฉายภาพยนตร์เรื่อง นางนาก (2542)
สำรองที่นั่งได้ที่ <<คลิก>>
หลักเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาคัดเลือกภาพยนตร์ขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ
1. คุณค่าทางประวัติศาสตร์และความทรงจำ
เป็นภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของ สถานที่ กาลสมัย บุคคล เหตุการณ์ ที่เกี่ยวข้องกับคนไทยและสังคมไทย ในมิติต่างๆ เช่น มานุษยวิทยา สังคมวิทยา เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ทั้งในฐานะปัจเจกและกลุ่มหรือมวลชน สามารถทำให้ผู้ชมเข้าถึงและเข้าใจมิติเหล่านั้นในเชิงประวัติศาสตร์หรือความทรงจำ
2. คุณค่าทางศิลปะภาพยนตร์
เป็นผลงานภาพยนตร์ที่สร้างสรรค์ อันแสดงถึงศิลปะวิทยาทางด้านภาพยนตร์
3. มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์
เป็นภาพยนตร์ที่มีความโดดเด่นเป็นพิเศษ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น การนำเสนอภาพยนตร์นั้นไม่ว่าการถ่ายทำ การแสดง การตัดต่อ ฯลฯ มีความคิดริเริ่ม ไม่เคยมีแบบอย่างมาก่อนในภาพยนตร์อื่นๆ
4. บูรณภาพ
คือความสมบูรณ์ครบถ้วนของผลงานภาพยนตร์ตรงตามต้นฉบับของผู้สร้างสรรค์ ภาพยนตร์ที่ออกฉายแล้วอาจถูกตัดทอน ถูกเสริมเติมแต่งเพิ่มเติม ถูกดัดแปลงไปด้วยเหตุต่าง ๆ
5. ความเสี่ยงต่อการสูญเสียหรือยากแก่การหาทดแทน
เป็นภาพยนตร์ที่ยังมีฟิล์มต้นฉบับหรือสำเนาในรูปแบบอื่นใดอยู่ แต่ตกอยู่ในภาวะความเสี่ยงที่จะสูญเสียภาพยนตร์นั้นไป ด้วยเหตุปัจจัยต่าง ๆ เช่น มีต้นฉบับหรือสำเนาอยู่เพียงชุดเดียว หรือภาพยนตร์นั้นกำลังเสื่อมสภาพ หรือสภาพการจัดเก็บไม่ปลอดภัย ไม่ได้มาตรฐาน เป็นต้น
6. อิทธิพลต่อคนและสังคม
ภาพยนตร์ที่สามารถส่งผลกระทบโดยตรงหรือโดยอ้อมต่อปัจเจกชนและหรือต่อสังคม ไม่ว่าทางด้านพฤติกรรม ความคิด ความเชื่อ อารมณ์ ฯลฯ อาจก่อให้เกิดกระแสสมัยนิยมเกิดการเปลี่ยนแปลง ค่านิยม ขนบธรรมเนียม ไม่ว่าชั่วระยะเวลาสั้นหรือยั่งยืนนาน
รายชื่อคณะกรรมการพิจารณาตัดสินภาพยนตร์ขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติประจำปี 2567
1. กฤติยา กาวีวงศ์ ภัณฑรักษ์
2. กษิดิศ อนันทนาธร บรรณาธิการ
3. กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน นักวิจารณ์ภาพยนตร์
4. ผศ.ดร.เกษม เพ็ญภินันท์ นักวิชาการด้านปรัชญา
5. โกวิท โพธิสาร สื่อมวลชน
6. ชญานิน เตียงพิทยากร นักวิจารณ์ภาพยนตร์
7. ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ นักจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ศึกษา
8. ศ. (พิเศษ) ธงทอง จันทรางศุ นักประวัติศาสตร์
9. ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ นักประวัติศาสตร์
10. ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ ผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์
11. นที กอนเทียน ผู้ดูแลเพจ 77PPP
12. นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ บรรณาธิการ
13. นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ นักวิชาการด้านศิลปะ
14. รศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์
15. ประวิทย์ แต่งอักษร นักวิจารณ์ภาพยนตร์
16. ปราปต์ บุนปาน บรรณาธิการ
17. ม.ร.ว.ปิยฉัตร ฉัตรชัย สื่อสารมวลชน
18. พรพิชิต พัฒนถาบุตร นักวิชาการอิสระ
19. ดร.พิชัยวัฒน์ แสงประพาฬ นักวิชาการด้านภาพยนตร์
20. ภาณุ บุรุษรัตนพันธุ์ บรรณาธิการ
21. มโนธรรม เทียมเทียบรัตน์ นักวิจารณ์ภาพยนตร์
22. ผศ.ดร.ลลิตา หาญวงษ์ นัก ประวัติศาสตร์
23. ดร.วิกานดา พรหมขุนทอง นักวิชาการด้านภาพยนตร์และวัฒนธรรมศึกษา
24. ศรัณย์ ทองปาน นักเขียนสารคดี
25. ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์แรงงาน
26. ศาสวัต บุญศรี นักวิชาการด้านภาพยนตร์
27. รศ.สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ นักวิชาการด้านมานุษยวิทยา
28. สุภัตรา ภูมิประภาส นักเขียน นักแปล
29. โสภิต หวังวิวัฒนา นักจัดรายการวิทยุ
30. อธิคม คุณาวุฒิ บรรณาธิการ
31. อธิป กลิ่นวิชิต สื่อมวลชน
32. อภินันท์ ธรรมเสนา นักวิชาการด้านมานุษยวิทยา
33. อัษฎาวุธ สาคริก นักดนตรีและที่ปรึกษางานศิลปวัฒนธรรม
34. ผศ.อุรุพงศ์ รักษาสัตย์ ผู้กำกับภาพยนตร์