มรดกหนังดอกดิน: ร้อยปีศิลปินของประชาชน

“ล้านแล้วจ้า” “ดอกดินตัวดำ ๆ” “ดอกดิน ศิลปินของท่าน” “กัญญามาลย์ ภาพยนตร์ ในความอุปถัมภ์ของประชาชน” นี่เป็นสโลแกนอันติดหูติดตาแฟนหนังไทยของ ดอกดิน กัญญามาลย์ นักแสดงและนักทำหนังตัวเล็ก ๆ แต่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย


ไม่เพียงแต่จะมีวลีเป็นที่จดจำ ชื่อของดอกดินยังได้รับการยอมรับในฐานะผู้สร้างหนังไทยครบรส ทั้งรัก โศก ตลก บู๊ จนจับหัวใจของคนดูไว้ได้อยู่หมัด ขณะเดียวกันตัวเขาเองยังมีความสามารถรอบด้าน ทั้งแสดง คิดเรื่อง เขียนบท ไปจนถึงแต่งเพลง ซึ่งไม่ว่าด้านไหนก็เต็มไปด้วยความพลิกแพลง สนุกสนาน เป็นขวัญใจชาวบ้าน และเป็นสีสันของวงการหนังไทย


ดอกดิน กัญญามาลย์ เกิดเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2467 ก่อนจะได้เอ่ยคำว่า “ล้านแล้วจ้า” จนเป็นตำนานจากหนังเรื่อง นกน้อย (2507) เขาต้องประสบกับความยากจนข้นแค้นมาแต่เด็ก อันเป็นสภาพชีวิตที่มักนำมาถ่ายทอดในภาพยนตร์ โดยได้เรียนหนังสือในระบบแค่ระดับชั้น ป.4 แต่นอกระบบนั้นเขาไม่เคยหยุดเรียนรู้ ทดลอง และคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา 


ชีวิตของดอกดินเริ่มจากการเป็นศิลปินตลก ในครอบครัวของพ่อผู้เป็นทั้งพนักงานรถไฟและรับสวดคฤหัสถ์ ซึ่งเป็นการแสดงตลกรูปแบบแรกที่ดอกดินได้ฝึกหัด ต่อมาจึงได้เล่นทั้งจำอวด ละครเร่ มาจนถึงละครเวทีที่ทำให้เขาเริ่มมีชื่อเสียง ก่อนจะได้เรียนรู้งานภาพยนตร์จากการรับทำบทพากย์หนังต่างประเทศ โดยที่ไม่รู้ภาษาต่างชาติเลยสักคำ ดอกดินใช้วิธีการดูหนังซ้ำไปมา และค่อย ๆ แกะคำที่คิดด้วยปฏิภาณของตนให้ตรงกับจังหวะอ้าปากของตัวละครและเนื้อเรื่อง จากนั้นจึงได้ขอบทภาพยนตร์ต่างประเทศมาจ้างคนแปล เพื่อเอามาศึกษาศาสตร์ด้านนี้อย่างละเอียดด้วยตนเอง 


ความมุ่งมั่นผนวกกับประสบการณ์และจินตนาการเป็นเลิศ ส่งผลให้ดอกดินกลายเป็นคนทำหนังอาชีพอย่างไม่น้อยหน้าผู้กำกับที่ร่ำเรียนด้านภาพยนตร์หรือมีระดับการศึกษาสูง ๆ เขาทำหนังเรื่องแรกเมื่อปี 2495 เรื่อง สามเกลอถ่ายหนัง ร่วมกับเพื่อนศิลปินตลก ล้อต๊อก และ สมพงษ์ พงษ์มิตร โดยดอกดินรับหน้าที่คิดเรื่อง กำกับ และตัดต่อ นับตั้งแต่นั้นก็ไม่มีแฟนหนังไทยคนไหนไม่รู้จัก ดอกดิน กัญญามาลย์ 


จากผลงานเด่นตั้งแต่ยุคฟิล์ม 16 มม. ไปจนถึง 35 มม. เช่น แสงเทียน (2509) ลมเหนือ (2512) ไทยใหญ่ (2513) ไอ้ทุย (2514) คนกินเมีย (2517) แหม่มจ๋า (2518) แม่ดอกกัญชา (2520) ฯลฯ จนถึงเรื่องสุดท้ายคือ สาวแดดเดียว (2526) รวมแล้วมีผลงานกำกับในนามกัญญามาลย์ภาพยนตร์ของตนเองและผู้สร้างรายอื่นมากเกินกว่า 40 เรื่อง โดยมักจะใช้บริการดาราขาประจำ ทั้งสามพระเอกผู้ยิ่งใหญ่ มิตร ชัยบัญชา, สมบัติ เมทะนี และ สรพงศ์ ชาตรี ในขณะที่นางเอกนั้น เขาก็มีส่วนปลุกปั้นทั้ง เพชรา เชาวราษฎร์ และ มยุรา ธนะบุตร นอกจากนี้ยังมีนักแสดงอีกคนสำคัญที่กลายเป็นคู่ขวัญคือ อรสา อิศรางกูร ณ อยุธยา 


เนื่องในวาระหนึ่งศตวรรษชาตกาล ดอกดิน กัญญามาลย์ ผู้เป็นศิลปินแห่งชาติและศิลปินของประชาชน หอภาพยนตร์ขอร่วมเฉลิมฉลองด้วยการคัดสรรภาพยนตร์เหล่านี้มาให้ชมตั้งแต่เดือนกันยายนไปจนถึงตุลาคม โดยเฉพาะช่วงสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม อันเป็นวันคล้ายวันเกิด จนถึงวันมรดกโสตทัศน์โลก วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม จะนำผลงานที่เป็นหมุดหมายและอยู่ในความทรงจำของแฟนหนังไทยมาจัดฉายอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงสุดสัปดาห์ และมีไฮไลต์สำคัญอยู่ในวันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม กับกิจกรรม “มรดกหนังดอกดิน” ที่จะมีทั้ง สิงห์สำออย (2520) หนึ่งในรายชื่อ 100 ภาพยนตร์ไทยที่คนไทยควรดูของหอภาพยนตร์ ฉบับสแกนภาพใหม่ พร้อมโชว์ฟุตเทจภาพเคลื่อนไหวหาชมยากของดอกดิน ตลอดจนการแสดงดนตรีเพลงหนังดอกดินโดยวงกาญจนะผลิน และชมนิทรรศการ “มาลย์ (ลัย) ดอกดิน” ที่จัดทำขึ้นด้วยความระลึกถึงผู้สร้างมรดกแห่งเมล็ดพันธุ์อันงดงามให้แก่วงการภาพยนตร์ไทยท่านนี้


กำหนดการกิจกรรม มรดกหนังดอกดิน: 100 ปี ศิลปินของประชาชน 

วันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม 2567 ณ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) 

13.00 ฉายภาพยนตร์เรื่อง สิงห์สำออย (2520)

15.30  ฟังเพลงหนังดอกดิน บรรเลงโดย วงกาญจนะผลิน และชมฟุตเทจหาดูยากของ ดอกดิน กัญญามาลย์ 

17.30 เปิดป้ายกำแพงดอกดิน และ ชมนิทรรศการ มาลย์ (ลัย) ดอกดิน ณ หอศิลป์แนม สุวรรณแพทย์ พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย

กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งในการเฉลิมฉลองวันมรดกโสตทัศน์โลก ประจำปี 2567 ของหอภาพยนตร์

สำรองที่นั่งได้ที่ <<ลิ>>


ข่าวสารที่น่าสนใจ

อ่านข่าวทั้งหมด

ประกาศ รับสมัครบุคคลเพื่อสรรหาเป็นผู้ปฏิบัติง...

หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) มีความประสงค์จะรับสมัครบุคคลเพื่อสรรหาและคัดเลือกเป็นผู้ปฏิบัติงานของหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ในตำแหน่งต่าง ๆ ดังนี้ตำแหน่ง...

อ่านรายละเอียด

Hommage à Chris Marker

23 ธ.ค. 64 - 23 ธ.ค. 64  กิจกรรม

Hommage à Chris Marker โปรแกรมพิเศษในเทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 25 ในวาระ 100 ปี คริส มาร์กเกอร์ คนทำหนังผู้บุกเบิกหนังแนว essay filmคริส มาร์กเกอร์...

อ่านรายละเอียด

วันหนังบ้านครั้งที่ 13 (ฉบับออนไลน์)

16 ต.ค. 64 - 16 ต.ค. 64  กิจกรรม

พบกับความอบอุ่นประทับใจจากหนังบ้านในวันวานของหลากหลายครอบครัว ใน Home Movie Day Thailand 2021 หรือ วันหนังบ้าน (ฉบับออนไลน์) เสาร์ที่ 16 ตุลาคมนี้ เวล...

อ่านรายละเอียด