วันแรกฉาย ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕
ความยาว ๑๔๕ นาที
ฟิล์ม ๓๕ มม. / สี / เสียง
ที่ปรึกษา เกียรติ เอี่ยมพึ่งพร
ผู้จัดจำหน่าย อัศวินภาพยนตร์
ผู้สร้าง เปี๊ยก โปสเตอร์
ผู้ดำเนินงานสร้าง สุปราณี โพธิ์ชัยแสน
ผู้กำกับ เปี๊ยก โปสเตอร์
ผู้ประพันธ์ “จำลักษณ์”
ผู้เขียนบท “วิศณุศิษย์”
ผู้กำกับบท “นันทวัต”
ผู้กำกับภาพ สมบูรณ์สุข
ผู้ถ่ายภาพ โสภณ เจนพานิช, โชน บุนนาค, พูลสวัสดิ์ ธีมากร
ผู้ลำดับภาพ สมบูรณ์สุข
ผู้กำกับศิลป์ พิชัย เดชะวนิช
ผู้สร้างเพลง ประสิทธิ์ พยอมยงค์
ผู้ประกอบเพลง ประเสริฐ จุลเกศ
ผู้บันทึกเสียง สหัส ตู้จินดา
ผู้แสดง มานพ อัศวเทพ, กรุง ศรีวิไล, วันดี ศรีตรัง, ด.ญ. ไขนภา เจียรบุตร, นันทวัต, โชน บุนนาค
ชื่อของ สมบูรณ์สุข นิยมศิริ หรือที่คนไทยรู้จักกันในนาม เปี๊ยก โปสเตอร์ เป็นหนึ่งในชื่อผู้กำกับภาพยนตร์ชั้นนำของวงการภาพยนตร์ไทย ที่ตลอดช่วงชีวิตการทำงาน เปี๊ยก โปสเตอร์ ได้สร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์ไทยคุณภาพจำนวนมาก และถือเป็นผู้กำกับที่พร้อมจะนำเสนอเรื่องราวและรูปแบบใหม่ ๆ ที่แตกต่างไปจากที่ภาพยนตร์ไทยทั่วไปนิยมกัน ภาพยนตร์เรื่อง ชู้ เป็นหนึ่งในผลงานที่แสดงให้เห็นศักยภาพอันเปี่ยมล้นของเปี๊ยก โปสเตอร์ในกิจกรรม ชั้นครู ๔ ที่หอภาพยนตร์ฯ จัดขึ้น เปี๊ยก ได้เล่าที่มาของภาพยนตร์เนื้อหาแหวกแนวอย่าง ชู้ ว่า ในช่วงหลังจากที่เขาประสบความสำเร็จอย่างสูงจากภาพยนตร์เรื่อง โทน และ ดวง เขาก็กำลังอยู่ในช่วง “หมดพุง” จึงได้ประกาศหาพล็อตเรื่องดี ๆ เพื่อให้เขาจะนำไปพัฒนาต่อเป็นบทภาพยนตร์ต่อไป สุดท้ายเขาก็ตัดสินใจเลือกพล็อตความยาว ๓ บรรทัด ที่มีชื่อถูกใจเขาเป็นอย่างยิ่งว่า ชู้ ซึ่งเมื่อถึงเวลาจะจ่ายค่าเรื่องให้กับผู้เขียน เปี๊ยกจึงได้พบว่าเจ้าของพล็อตแปลกดังกล่าวคือ สำเนา หิริโอตัปปะ นักเขียนหนังสือผู้มีชื่อเสียงและเคยเขียนบทภาพยนตร์และกำกับภาพยนตร์มาแล้ว ภาพยนตร์เล่าถึง เหตุเรืออับปางทำให้หญิงเคราะห์ร้ายอย่าง เรียม ถูกพัดมาติดหาดที่เกาะแห่งหนึ่ง ที่ซึ่ง นายเชิง ชาวประมงใช้เป็นที่อาศัยอยู่แต่เพียงคนเดียว จึงได้ช่วยเหลือเรียมไว้ให้มีชีวิตรอด จนร่างกายเรียมดีขึ้น เชิงก็ถูกตัณหาเข้าครอบงำจับเธอเป็นเมียกระทั่งมีลูกด้วยกัน วันหนึ่งเชิงลงไปดำน้ำหาไข่มุกและถูกปะการังพิษเข้าตาจนตาแทบมองไม่เห็น เรียมต้องเดินทางออกจากเกาะไปตามหมอในตัวเมืองมาช่วยรักษา แต่ปรากฏว่าหมอที่เธอพบคือ นายเทพ คนรักเก่าของเธอ เทพมาช่วยรักษาเชิง และเกิดสงสัยในเหตุที่เชิงหลบมาอยู่เกาะร้างลำพังว่าน่าจะมีไข่มุกมูลค่ามหาศาลซ่อนอยู่ จึงวางแผนให้ยารักษาที่ยิ่งทำให้ตาบอด เทพหว่านเสน่ห์ปั่นหัวเรียมเพื่อให้เธอมีใจกับเขามากกว่าคนพิการ และให้ช่วยสืบถามหาที่ซ่อนของไข่มุก แต่ที่ร้ายไปกว่านั้นคือทั้งสองลักลอบเป็นชู้กันถึงขั้นต้องการกำจัดเชิงเสียให้พ้นในเร็ววัน โดยมิได้คาดการณ์ไว้เลยว่าเชิงจะรู้แกว ไม่ใช้ยาของเทพ และแกล้งทำเป็นตาบอด ทั้งที่ความจริงเขาหายจากอาการมานานแล้ว เรื่องราวชั่ว ๆ ของทั้งสองจึงมิอาจรอดพ้นไปจากสายตา กระทั่งเรี่ยวแรงของเชิงกลับฟื้นคืน เขาจึงวางแผนหลอกให้เทพและเรียมช่วยพาไปหาไข่มุกที่ซ่อนไว้ เพื่อที่จะพาทั้งคู่ไปยังเกาะเล็ก ๆ ที่น้ำท่วมถึงแห่งหนึ่ง เมื่อสบจังหวะเชิงชักปืนออกมาหมายฆ่าชายชู้และนังเมียแพศยาให้ตายเสียทั้งคู่ เรียมจึงยอมรับการกระทำนอกใจผัว แต่เปิดปากบอกความจริงมากไปกว่านั้นว่า เธอกับเทพนั้นเคยเป็นผัวเมียกันมาก่อนที่เรือจะอับปางและร่างเธอลอยไปติดเกาะ ชู้ในความหมายของเธอนั้นจึงไม่ใช่เทพแต่เป็นเชิงนั่นเอง เมื่อเชิงรู้ดังนั้นจึงคิดหนัก แต่เมื่อคิดตกก็ประกาศว่า ขอให้เรียมเป็นคนเลือกแล้วกันว่าจะอยู่กับใคร แต่ด้วยความชั่วช้า เทพได้โอกาสหยิบปืนขึ้นมาจะฆ่าเชิง แต่เชิงรู้ตัวจึงเกิดการต่อสู้กับเทพอย่างดุเดือด แล้วเกิดปืนลั่นไปถูกเรียม และเทพถูกเชิงตีจนสลบไป เชิงนำเรียมขึ้นเรือออกไปจากเกาะ ทิ้งให้เทพซึ่งฟื้นขึ้นมารับรู้ว่ากำลังถูกทิ้งให้รอความตายอยู่บนเกาะน้ำท่วมถึงนั้นโดยลำพัง
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า พล็อตเรื่องที่มีตัวละครนำอยู่เพียง ๓ ตัวละคร ที่มีด้านมืดด้านสว่าง ไม่ใช่เพียงแค่ตัวแทนความดีชั่วแบบพระเอกนางเอกและตัวร้ายแบบที่มักปรากฏในภาพยนตร์ไทยเรื่องอื่น และเนื้อหาของภาพยนตร์มีการพยายามตั้งคำถามถึงศีลธรรมของมนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องราวที่แตกต่างไปจากภาพยนตร์ไทยแทบจะทุกยุคทุกสมัย
ความแตกต่างของเนื้อหาภาพยนตร์เรื่องนี้กล่าวได้ว่าแปลกแยกจากขนบหรือกระแสความนิยมของภาพยนตร์ไทยทั่วไป อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ประสบความสำเร็จทางรายได้เหมือนภาพยนตร์ก่อนหน้าของเปี๊ยก โปสเตอร์ แต่ ชู้ ได้รับการคัดเลือกโดยสมาคมผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ไทยให้เป็นตัวแทนภาพยนตร์ไทยเข้าประกวดใน มหกรรมภาพยนตร์ เอเซีย - แปซิฟิก ครั้งที่ ๑๙ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ณ ประเทศสิงคโปร์ และที่สุดก็ได้รับเลือกให้ได้รางวัลพิเศษ ที่ไม่มีสาขา คือในฐานะภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาโดดเด่นแปลกแหวกแนว ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าความแปลกจากปกติของภาพยนตร์ ทำให้กรรมการไม่กล้าให้รางวัลปกติ แต่ความแปลกอันโดดเด่นนี้ก็ทำให้กรรมการไม่กล้าที่จะไม่ให้รางวัลเช่นกัน จึงต้องให้เป็นรางวัลพิเศษ
ชู้ จึงเป็นตัวอย่างอันหายากของภาพยนตร์ไทย เป็นตัวอย่างของภาพยนตร์ที่ผู้สร้างมีเจตนาใช้ศิลปภาพยนตร์แสดงธรรม ว่าด้วยกิเลส ตัณหา ราคะ ความโลภความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ ซึ่งไม่จำกัดว่าเป็น มนุษยชาติ ภาษา หรือกาลสมัยใด