หนังไทยกับเส้นทางสู่ออสการ์

ในโอกาสที่ใกล้ถึงช่วงเวลาของงานมอบรางวัลประจำปีของสถาบันศิลปะและวิชาการทางภาพยนตร์ Academy Award หรือรางวัลออสการ์ ซึ่งเป็นรางวัลทางภาพยนตร์ที่ได้รับความสนใจมากที่สุดรางวัลหนึ่งของคนดูหนังทั่วโลก จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ จึงได้รวบรวมความคิดเห็นของบุคคลสำคัญหลากหลายบทบาทในวงการภาพยนตร์ไทย เกี่ยวกับการเสนอชื่อภาพยนตร์ไทยเพื่อรับการคัดเลือกรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม และผลกระทบต่อวงการภาพยนตร์ไทย มาในโอกาสนี้


นคร วีระประวัติ

สื่อมวลชน / ประธานคณะกรรมการคัดเลือกภาพยนตร์จากสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ



“เมื่อปี 2527 ผมทำจดหมายจากเมืองไทยในฐานะที่ผมเคยจัดงานประกวดภาพยนตร์ ทำเรื่องขอเข้าพบผู้อำนวยการสำนักงานออสการ์ที่แอลเอ ก็ได้พบกัน ผมเสนอเขาไปว่าหนังไทยเราตอนนั้นมีผลิตปีละ 200-300 เรื่อง แต่หนังไทยยังไม่ได้เข้าไปอยู่ในออสการ์เลย ขอให้ผู้อำนวยการมีหนังสือในนามสถาบันส่งไปยังรัฐบาลไทยขอให้ส่งหนังมาประกวด ผมก็ให้ชื่อรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องคือ ร้อยตำรวจโท ชาญ มนูธรรม ซึ่งเป็นรัฐมนตรีสำนักนายกฯ และมีอีกตำแหน่งคือ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย แล้วปรากฏว่าทางโน้นเขาก็ส่งมาจริง ๆ ทางคณะกรรมการก็ส่งเรื่องให้กับสมาคมผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ไทยเป็นผู้ดำเนินการ โดยสมาคมฯ ก็คัดเลือกหนังส่งไปประกวดปี 2527 เป็นครั้งแรกที่หนังไทยได้ส่งรายชื่อตัวแทนเข้าไป คือเรื่อง น้ำพุ ของคุณยุทธนา มุกดาสนิท


“ในปัจจุบัน ทางสมาพันธ์ฯ เขาก็ให้เกียรติผมเป็นประธานกรรมการคัดเลือก แล้วก็มีตัวแทนจากหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามา เมื่อก่อนเนี่ยเขาตั้งขึ้นมาเฉย ๆ แล้วก็ให้เราคัดเลือกกันเอง แต่ตอนหลังสัก 10 ปีที่ผ่านมาเนี่ย ทางอคาเดมี เขาขอให้เราแจ้งว่า คนที่มาเป็นกรรมการคัดเลือกเป็นใครบ้าง มาจากหน่วยไหน 


“หลักเกณฑ์คร่าว ๆ ที่ออสการ์เขากำหนดก็คือ หนึ่ง เป็นภาพยนตร์ที่พูดภาษาท้องถิ่นของประเทศนั้น สอง เป็นภาพยนตร์ที่แสดงขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของคนในประเทศนั้น สาม สำคัญที่สุดคือถ่ายทอดออกมาอย่างมีศิลปะ อันนี้เป็นสามข้อหลัก ๆ ที่ผมพอจำได้


“เราก็ดูว่าอะไรที่มันเหมาะสม ดีที่สุด หลัง ๆ มาสมาพันธ์ฯ เขาก็จะส่งหนังที่ได้รับรางวัลสุพรรณหงส์ แต่ว่ามันต้องอยู่ในช่วงเวลาที่เขากำหนดไว้คือ หนังที่ฉายในประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมปีนี้ ถึงวันที่ 30 กันยายนปีหน้า หากช่วงเวลาฉายของหนังที่ได้รางวัลยอดเยี่ยมสุพรรณหงส์ไม่ได้ก็ต้องมาเลือกกันใหม่ เพราะงั้นหนังในปีนี้ที่ส่งไปคือ แสงกระสือ ซึ่งฉายก่อนวันที่ 30 กันยายน และไม่ได้ฉายก่อน 1 ตุลาคมเมื่อปีก่อน”


ยุทธนา มุกดาสนิท

ผู้กำกับภาพยนตร์ น้ำพุ ตัวแทนภาพยนตร์ไทยเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม ปี 2527 


“น้ำพุ มันทำแบบตรงเรื่องของเขานะครับ (สร้างจาก “เรื่องของน้ำพุ” วรรณกรรมที่แต่งจากเรื่องจริงของสุวรรณี สุคนธา) ก็พยายามทำอย่างดีที่สุด แล้วก็เป็นเรียลิสติก ให้เป็นกึ่งสารคดีมากที่สุดน่ะครับ

“พอเขาเลือกได้ว่าจะส่งน้ำพุ ทางคุณเชน ผู้อำนวยการสร้างของไฟว์สตาร์ก็บอกผม ผมดีใจนะครับ เพราะไม่นึกมาก่อน มันไม่เคยมีมาก่อนด้วยไง แล้วคุณเชนก็เลยบอกว่า ให้ช่วยทำ press book ให้เป็นภาษาอังกฤษ แล้วก็ทำโปสเตอร์เป็นภาษาอังกฤษด้วย ก็ทำเต็มที่ ให้มันงดงาม แล้วก็ดีใจ ก็ต้องมีความหวังครับว่าอย่างน้อยก็เข้าไปติด 1 ใน 5 คิดว่าส่งไปก็ไม่ได้อายใครเขา เพราะเป็นหนังซาวด์ออนฟิล์ม  และไม่ได้เป็นหนังพระเอกนางเอก เป็นหนังที่พูดถึงปัจเจกและครอบครัวของวัยรุ่นที่จะก้าวผ่าน แต่น้ำพุเนี่ยก้าวไม่ผ่าน ก็สักประมาณมกราคมหรือกุมภาพันธ์ใช่ไหมครับ เขาก็ประกาศผู้เข้าชิงก่อนแล้วก็ไม่ติด แต่ก็เป็นความภาคภูมิใจว่า เออ หนังเราเป็นเรื่องแรก”


อนุชา บุญยวรรธนะ

ผู้กำกับภาพยนตร์ มะลิลา ตัวแทนภาพยนตร์ไทยเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม ปี 2561


“ความรู้สึกก็มีแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งก็คือรู้สึกว่าดีใจ ภูมิใจที่อย่างน้อยก็มีผู้ชมชาวไทย หรือคนในวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยให้การยอมรับภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นอย่างดีนะคะ ส่วนความรู้สึกอันที่สองคือรู้สึกว่างานเข้าแล้ว จะทำอย่างไรให้หนังเรื่องนี้มันโดดเด่นกับคู่แข่งของหนังต่างประเทศอีกเยอะมาก เราก็พยายามวิ่งหาทางที่จะประชาสัมพันธ์หนัง เราก็ไม่ได้คิดว่าจะได้เข้าไปเสนอชื่อเข้าชิง 5 เรื่องสุดท้ายหรือว่า 10 เรื่องสุดท้ายหรอก เพียงแต่ว่าก็อยากจะลองหาแนวทางในการโปรโมตดูว่ามันจะทำอย่างไรได้บ้าง เผื่อเป็นความรู้ให้กับคนที่จะได้รับเลือกครั้งต่อ ๆ ไป


“อย่างขั้นพื้นฐานที่สุด เราก็จะต้องจัดฉายที่แอลเอหรือในเมืองสำคัญ เพื่อที่จะเชิญให้คนที่มีสิทธิ์โหวตเข้ามาชม ก็ต้องจ้างพีอาร์ที่มีความสัมพันธ์กับ Academy Award voter ทั้งหลายให้เขาเชิญมาจัดฉายก่อน แล้วเราก็จะสามารถเชิญสื่อมวลชนเข้ามาให้เขียนข่าวลงไป แล้วอันที่สองก็คือซื้อสื่อเพื่อลงโปรโมตในนิตยสารของคนในวงการฮอลลีวูด อย่างที่สามก็คือถ้ามีการจัดฉาย เราต้องเอาผู้กำกับมาสัมภาษณ์ต่าง ๆ นานาเกี่ยวกับหนัง หาประเด็นที่เขาจะให้ความสนใจ แต่ทั้งหมดทั้งมวลมันต้องอาศัยเงิน คือขั้นต่ำอย่างน้อย ๆ คือ 1,500,000 - 2,000,000 บาทในการทำพีอาร์ขั้นพื้นฐาน อย่างสิงคโปร์ หนังที่เขาคัดเลือกเป็นตัวแทนส่งออสการ์ รัฐบาลจะให้ทุนเลย 1,500,000 บาทในการที่จะทำพีอาร์ขั้นพื้นฐานนี้ แต่ว่าเราก็ใช้วิธีขอสปอนเซอร์ในหน่วยงานที่เขาให้การสนับสนุนทางศิลปะต่าง ๆ ที่เรามีคอนเนกชัน เพียงแต่ว่ามันก็ค่อนข้างจะกระชั้น แล้วเราไปทำเองก็ไม่ได้ เพราะมันอยู่ที่อเมริกาเนอะ เราต้องจ้างพีอาร์ เอเจนซี่ สิ่งที่มะลิลาทำได้ด้วยเวลาที่มันกระชั้น เราก็ทำได้แค่ซื้อแอด ลงโฆษณาในนิตยสารสำคัญต่าง ๆ เพื่อให้หนังมันมีการถูกพบเห็นก่อนค่ะ


“การมีส่วนร่วมในรางวัลภาพยนตร์ที่มีความสำคัญในระดับโลกมันก็มีผลในแง่ที่ว่าจะทำให้เรารู้สึกว่าหนังไทยเราก็มีความอินเตอร์นะในความรู้สึกของคนทั่วไป แต่ว่าจริง ๆ มันก็ยังไม่ไปไหนนะคะ เพราะว่าขาดการสนับสนุนอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

ไม่ว่าจะจากทางภาครัฐหรือว่าทางวงการอุตสาหกรรมเอง อย่างหนังเกาหลีตอนนี้มันก็ชัดเจนว่าผลตอบแทนก็คุ้มค่า เพราะว่า วัฒนธรรมเขาก็เผยแพร่ทั่วโลก เป็น soft power ต้องอาศัยความต่อเนื่องแล้วก็ความชัดเจนในวิสัยทัศน์ค่ะ”


สิทธิศิริ มงคลศิริ

ผู้กำกับภาพยนตร์ แสงกระสือ ตัวแทนภาพยนตร์ไทยเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม ปี 2562


“ถ้าถามว่าดีใจไหม ก็ดีใจที่มีคนเห็นแล้วก็เลือกมา แล้วก็ออกจะเขินนิด ๆ คือจริง ๆ มันก็เป็นหนังเรื่องแรกของผมด้วยนะครับ มันก็คงยังไม่สมบูรณ์ตามแบบที่อยากให้มันเป็น  ก็ยังอยากจะพัฒนา ทำอะไรบางอย่างที่จะให้มันดีกว่านี้ อาจจะเป็นเรื่องต่อไป เพียงแต่ว่าถ้าเราทำหนังเรื่องหนึ่งแล้วมีคนสนับสนุน  ไม่ว่าจะได้รับโอกาสไหมผมว่าในแง่ของคนทำก็ยินดีเป็นธรรมดา


“พอช่วงนี้มันก็ต้องทำแคมเปญมีคนที่ส่งอีเมลมาเลยนะ พวกบริษัทล็อบบี้ยิสต์ แล้วผมก็เพิ่งรู้เหมือนกันว่ามันมีสิ่งเหล่านี้ด้วย ต้องจ้างเขาทำแคมเปญ ซึ่งเราคงไม่ได้ทำหรอกนะ เพียงแต่ว่าจะทำอย่างไรให้มันไปถึงมือกรรมการ ต้องทำแคมเปญอะไร เราก็คงไม่ได้ทำอะไรอย่างนี้มากมาย ตอนนี้ลุ้นอยากให้มันได้ฉายโรงหรือจอใหญ่ ๆ ออสการ์ก็ปล่อยให้มันเป็นอีเวนต์นึงอะไรอย่างเนี้ย คือตอนนี้ในแง่ของการทำงานอยากให้มันมีคนเอาไปฉาย ฉายหนังกลางแปลงอะไรอย่างนี้ก็ได้นะ


“ถ้าถามผม คือเราก็ร่วมสนุกกันเป็นปี ๆ  แสงกระสือ เข้าชิงออสการ์ เดี๋ยวปีหน้าก็มีตัวแทนอีกหนึ่งเรื่องอะไรอย่างนี้ ผมว่าเราก็จะยินดีกันอยู่พักหนึ่ง แล้วก็หาย ๆ กันไป ถามว่ามันมีผลอะไร มันไม่ได้มีผลขนาดนั้นนะ เพราะว่าวงการเราหรือแม้กระทั่งอุตสาหกรรมเรา มันถูกกำหนดด้วยโรงหนังหรือกลุ่มทุนเหมือนเดิม สุดท้ายผมก็ยังต้องหาตังค์ทำหนังเรื่องต่อไปเหมือนเดิม ก็ยังต้องตอบคำถามเดิม  ต้องสู้กับระบบกลไกของตลาดเหมือนเดิม ที่ถ้าหนังมันไม่เวิร์ก 3 วันก็ถอดออก คนทำหนังไม่ใช่ผมคนเดียวหรอก คนอื่นก็ไม่ได้รับโอกาส มันยากมากที่จะทำสิ่งนี้แบบต่อเนื่อง แล้วพอมันไม่ต่อเนื่อง มันเหมือนฟุตบอลอะครับ เราไม่มีทางได้ไปบอลโลกหรอก ถ้าเราไม่ได้ทำมันบ่อย ๆ หรือทำแล้วก็เรียนรู้ไป”


เขียนโดย ธิติพงษ์ ก่อสกุล

ข่าวสารที่น่าสนใจ

อ่านข่าวทั้งหมด

ประกาศ รับสมัครบุคคลเพื่อสรรหาเป็นผู้ปฏิบัติง...

หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) มีความประสงค์จะรับสมัครบุคคลเพื่อสรรหาและคัดเลือกเป็นผู้ปฏิบัติงานของหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ในตำแหน่งต่าง ๆ ดังนี้ตำแหน่ง...

อ่านรายละเอียด

Hommage à Chris Marker

23 ธ.ค. 64 - 23 ธ.ค. 64  กิจกรรม

Hommage à Chris Marker โปรแกรมพิเศษในเทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 25 ในวาระ 100 ปี คริส มาร์กเกอร์ คนทำหนังผู้บุกเบิกหนังแนว essay filmคริส มาร์กเกอร์...

อ่านรายละเอียด

วันหนังบ้านครั้งที่ 13 (ฉบับออนไลน์)

16 ต.ค. 64 - 16 ต.ค. 64  กิจกรรม

พบกับความอบอุ่นประทับใจจากหนังบ้านในวันวานของหลากหลายครอบครัว ใน Home Movie Day Thailand 2021 หรือ วันหนังบ้าน (ฉบับออนไลน์) เสาร์ที่ 16 ตุลาคมนี้ เวล...

อ่านรายละเอียด