แนะนำหนังสือ : ภาพยนตร์กับกีฬา

สมัยเรียนมหาวิทยาลัยเจ้าหน้าที่ห้องสมุดเคยได้อ่านบทความเกี่ยวกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์อังกฤษ ซึ่ง Chariots of Fire (1981) เป็นภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่ถูกกล่าวถึงในบทความนั้น วันนั้นเจ้าหน้าที่ห้องสมุดอยากดูหนังเรื่องนี้ เพียงเพราะอยากรู้ว่า British Heritage Films เป็นอย่างไร จึงไปร้านเช่าหนัง จากวันที่ได้ดูหนังเรื่องนี้ เวลาผ่านมานานมากแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ห้องสมุดยังคงจดจำเกี่ยวกับ Chariots of Fire คือ การเล่าเรื่องความมุ่งมั่นของนักกรีฑาชาวอังกฤษที่แข่งวิ่งในกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ค.ศ. 1924 ณ กรุงปารีส สำหรับจดหมายข่าวฉบับนี้ ห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี ต้อนรับกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งที่ 32 หรือโตเกียว 2020 ที่จะเริ่มขึ้นในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้ โดยชวนอ่านหนังสือเรื่องราวของ “ภาพยนตร์กับกีฬา

 

Sport and Film

เขียนโดย  Seán Crosson



ภาพยนตร์กีฬา หรือ Sports Films กลายเป็นภาพยนตร์เชิงพาณิชย์แนวหนึ่งที่ผู้ชมรู้จักกันมาก ตั้งแต่ภาพยนตร์คลาสสิกชีวประวัติของนักกีฬาชกมวยเรื่อง Raging Bull (1980) มาจนถึงภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จด้านรายได้ ซึ่งมีแก่นเรื่องของกีฬาฟุตบอลอย่าง Bend it Like Beckham (2002) หนังสือเล่มนี้เปิดเล่มด้วยเนื้อหาที่ทำให้ผู้อ่านรู้ว่า การศึกษาภาพยนตร์กีฬาของหนังสือเล่มนี้จะศึกษาสิ่งใดบ้าง เช่น การถ่ายภาพยนตร์ การเล่าเรื่อง เสียง การตัดต่อ รวมถึงทฤษฎีต่าง ๆ ที่นำมาใช้เป็นพื้นฐานการวิเคราะห์ทั้งทฤษฎีตระกูลภาพยนตร์ แนวคิดหลังโครงสร้างนิยม แนวคิดวัฒนธรรมศึกษา ในบทต่อมาหนังสือเล่มนี้ได้เขียนถึงประวัติศาสตร์ของภาพยนตร์กีฬาที่เกิดขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 1890 (ค.ศ. 1890-1899) โดยตระกูลภาพยนตร์กีฬาจัดเป็นภาพยนตร์ประเภทบันเทิงคดี (Fiction) ซึ่งภาพยนตร์ประเภทนี้มีความโดดเด่นอย่างมากในแวดวงภาพยนตร์ฮอลลีวูดช่วงกลางทศวรรษ 1920 เช่น The Freshman (1925) เรื่อยไปจนถึงยุคร่วมสมัยอย่างภาพยนตร์รางวัลออสการ์ Million Dollar Baby (2004) และ The Fighter (2010) รวมถึงหนังสือเล่มนี้นำเสนอการวิเคราะห์เชื่อมโยงกีฬากับศาสตร์สาขาวิชาต่าง ๆ ทั้งภาพยนตร์ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และบริบทต่าง ๆ ในสังคม อีกทั้งหนังสือเล่มนี้ได้แนะแนวทางสำหรับการพิจารณาภาพยนตร์ เพื่อช่วยให้ผู้สนใจในสาขาภาพยนตร์ศึกษา สาขาสื่อสารมวลชน สาขากีฬาศึกษา และสาขาวัฒนธรรมศึกษา สามารถศึกษาภาพยนตร์กีฬาได้อย่างเข้าใจ

 

Sportswomen in Cinema: Film and the Frailty Myth

เขียนโดย  Nicholas Chare

 


นักกีฬาหญิงในภาพยนตร์พบได้ทั้งในภาพยนตร์ประเภทสารคดีและบันเทิงคดี ในหลายยุคสมัยจากหลากหลายวัฒนธรรม และจากผลงานของผู้กำกับภาพยนตร์หลายท่าน เช่น แคทรีน บิเกโลว์ (Kathryn Bigelow) กูรินเดอร์ ชาดา (Gurinder Chadha) อิม ซุน-เร (Im Soon-rye) จอร์จ คูคอร์ (George Cukor) ไอดา ลูปิโน (Ida Lupino) และเลนี รีเฟนชตาล (Leni Riefenstahl) โดยหนังสือเล่มนี้นำเสนอการศึกษาภาพยนตร์บนพื้นฐานของทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalytic Theory) และทฤษฎีปรากฏการณ์นิยม (Phenomenological Theory) โดยการวิเคราะห์แสดงถึงลักษณะเด่นของกิจกรรมกีฬาหลากหลายประเภท ได้แก่ เบสบอล บาสเกตบอล เพาะกาย ชกมวย ปีนผา ฟุตบอล โรลเลอร์สเกต กระดานโต้คลื่น เทนนิส ตลอดจนกีฬาประเภทลู่ ประเภทลาน และหนังสือเล่มนี้ได้วิเคราะห์การเล่าเรื่องของภาพยนตร์กีฬา รวมถึงการต่อยอดความรู้ทางวิชาการด้านกีฬาศึกษา เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ว่ากีฬาไม่ได้เป็นแค่การแข่งขัน อีกทั้งยังนำเสนอความรู้เกี่ยวกับทฤษฎีภาพยนตร์ วาทกรรมสตรีนิยมแนวใหม่ของนักคิดหลายท่าน เช่น จูดิธ บัตเลอร์ (Judith Butler) บราชา เอตทิงเกอร์ (Bracha Ettinger) กริเซลดา พอลล็อก (Griselda Pollock) และมิเชล เซอร์เรส (Michel Serres) เพื่อนำมาพิสูจน์ว่าภาพยนตร์ที่มีนักกีฬาหญิงร่วมแสดงนั้นสะท้อนมุมมองเรื่องความเป็นเพศหญิงอย่างไร และส่งผลต่อความเข้าใจของผู้ชมในประเด็นนักกีฬาหญิงกับภาพยนตร์อย่างไร 

 

Contesting Identities: Sports in American Film

เขียนโดย  Aaron Baker

 


หนังสือเล่มนี้เจาะจงศึกษาประเด็น “กีฬา” ในภาพยนตร์อเมริกันเท่านั้น เช่น The Pinch Hitter (1917) Buster Keaton's College (1927) White Men Can't Jump (1992) Jerry Maguire (1996) Girlfight (2000) หนังสือเล่มนี้ได้วิเคราะห์ในแง่การเล่าเรื่องของภาพยนตร์กีฬาอเมริกันว่า ตั้งแต่ยุคเริ่มต้นหนังเงียบ ผู้สร้างภาพยนตร์อเมริกันมักนำเสนอลักษณะการเล่าเรื่องในแง่การแข่งขัน การต่อสู้เพื่อชัยชนะ และนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จเป็นรายบุคคล นอกจากนั้นในประเด็นการวิเคราะห์วิธีการสร้างอัตลักษณ์ของกีฬาประเภททีมและประเภทบุคคลของสังคมอเมริกันตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 หนังสือเล่มนี้เล่าว่ากีฬาในภาพยนตร์อเมริกันมักจะนำเสนออัตลักษณ์ทางชนชั้น เชื้อชาติ ลักษณะของชาติพันธุ์ เพศวิถี แต่อย่างไรก็ตามกีฬาในภาพยนตร์อเมริกันยังคงให้ความสำคัญในการนำเสนอประเด็น “การพึ่งพาตนเอง” และเมื่อพิจารณากีฬาประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพยนตร์เกี่ยวกับกีฬาชกมวย เบสบอล และฟุตบอล หนังสือเล่มนี้อธิบายถึงความเชื่อมโยงระหว่างกีฬากับกลุ่มคนชายขอบในภาพยนตร์ว่า หากกลุ่มคนชายขอบซึ่งเป็นคนกลุ่มเล็ก ๆ ของสังคมได้รับชัยชนะในการแข่งขันกีฬา พวกเขาจะได้การยอมรับจากกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่เป็นคนหมู่มากของสังคม อีกทั้งหนังสือเล่มนี้ได้อธิบายภาพสะท้อนของกีฬาที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ในภาพยนตร์อเมริกัน เช่น นักชกมวยอาชีพ นักกีฬาหญิงที่เข้มแข็งดังลูกผู้ชาย รวมถึงการวิเคราะห์ในแง่ผลกระทบเชิงสังคมกับภาพยนตร์ที่นำเสนอเรื่องราวของนักกีฬาอาชีพตัวจริงในวงการกีฬา เช่น แจ็กกี้ โรบินสัน (Jackie Robinson) เบบ ดิดริกสัน ซาฮาเรียส (Babe Didrikson Zaharias) โมฮัมหมัด อาลี (Muhammad Ali) และไมเคิล จอร์แดน (Michael Jordan) 


เรื่องโดย วิมลิน มีศิริ



 

ข่าวสารที่น่าสนใจ

อ่านข่าวทั้งหมด

ประกาศ รายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อบรรจุแ...

ตามประกาศหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เรื่อง รับสมัครบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นผู้ปฏิบัติงานของหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ตำแหน่งเจ้าหน้าที่พัสดุ จำนว...

อ่านรายละเอียด

Hommage à Chris Marker

23 ธ.ค. 64 - 23 ธ.ค. 64  กิจกรรม

Hommage à Chris Marker โปรแกรมพิเศษในเทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 25 ในวาระ 100 ปี คริส มาร์กเกอร์ คนทำหนังผู้บุกเบิกหนังแนว essay filmคริส มาร์กเกอร์...

อ่านรายละเอียด

วันหนังบ้านครั้งที่ 13 (ฉบับออนไลน์)

16 ต.ค. 64 - 16 ต.ค. 64  กิจกรรม

พบกับความอบอุ่นประทับใจจากหนังบ้านในวันวานของหลากหลายครอบครัว ใน Home Movie Day Thailand 2021 หรือ วันหนังบ้าน (ฉบับออนไลน์) เสาร์ที่ 16 ตุลาคมนี้ เวล...

อ่านรายละเอียด