มานี สุมนนัฏ ดาราดวงแรกแห่งโลกภาพยนตร์ไทย

นี่คือเรื่องราวอย่างเทพนิยายของหญิงสาวจากต่างจังหวัดคนหนึ่ง ผู้อุดมไปด้วยความใฝ่ฝันอันหอมหวานในการอยากเป็นนักแสดงภาพยนตร์ และโชคชะตาได้นำพาให้เธอก้าวเข้ามาเป็น “ดาราคนแรก” ของวงการภาพยนตร์ไทย  


ย้อนเวลากลับไปเมื่อ 104 ปีก่อน  ที่ชุมชนบ้านหน้าผา ตำบลปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ เด็กหญิงคนหนึ่งนามว่า ฉวีวรรณ ดอกไม้งาม ได้กำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2458 ในครอบครัวที่มีบิดาทำอาชีพค้าไม้ และมีมารดาเป็นผู้ที่นิยมดูหนังอย่างเป็นชีวิตจิตใจ  


นั่นคือยุคสมัยที่ภาพยนตร์ยังคงเป็นภาพยนตร์เงียบ โดยมีธรรมเนียมการฉายแบ่งออกเป็นชุด ๆ เริ่มตั้งแต่หนังข่าว หนังสั้น หนังภาคต่อหรือเรียกว่าหนังซีเรียล  และปิดท้ายด้วยหนังเรื่องยาว เริ่มฉายกันตั้งสองทุ่มเรื่อยไปจนถึงล่วงเที่ยงคืน  เมื่อถึงยามค่ำ มารดาและฉวีวรรณพร้อมด้วยน้องสาวจะอาบน้ำแต่งตัว กินข้าว เสร็จแล้วพากันเดินถือตะเกียงฝ่าความมืดไปยังโรงหนังอันเป็นที่รักจนเป็นกิจวัตร ไม่เว้นแม้เวลาฝนตกฟ้าร้อง  เมื่อได้ติดสอยห้อยตามมารดามานั่งชื่นชมดาราฝรั่งขวัญใจอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน อานุภาพของโลกมายาก็สะกดให้ฉวีวรรณเกิดความหลงใหลใฝ่ฝันอยากเป็นดาราผู้มีชื่อเสียงอย่างเธอพวกนั้นดูบ้างสักครั้ง

ช่วงเวลานั้น ในพระนคร วงการภาพยนตร์ไทยกำลังเริ่มตั้งต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ หลังจากที่ปี พ.ศ. 2465 ได้มีฝรั่งจากฮอลลีวูดข้ามาสร้างหนังเงียบที่ใช้คนไทยแสดงเรื่อง นางสาวสุวรรณ  ย่างเข้าปี พ.ศ. 2470 พี่น้องสกุลวสุวัตแห่งหนังสือพิมพ์ศรีกรุงก็ได้สร้าง โชคสองชั้น  หนังเงียบฝีมือคนไทยสำเร็จเป็นเรื่องแรก และเมื่อล่วงเข้าสู่ปี พ.ศ. 2475 ทีมงานวสุวัตก็ประสบชัยชนะอีกครั้งด้วยการสร้างหนังเสียงไทยเรื่องแรกออกฉาย ตั้งชื่อว่า หลงทาง ในชื่อบริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง


ต้นปี พ.ศ. 2477  ปู่โสมเฝ้าทรัพย์ ภาพยนตร์เสียงเรื่องที่ 2 ของสกุลวสุวัตได้ออกฉายในพระนคร และตระเวนไปตามต่างจังหวัด  เป็นจุดเริ่มต้นให้ฉวีวรรณซึ่งกำลังเติบโตขึ้นเป็นวัยรุ่น ได้รู้จักกับนักแสดงของบริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง คือ หลวงภรตกรรมโกศล (มงคล สุมนนัฏ) ผู้แสดงหนังมาตั้งแต่ นางสาวสุวรรณ และขณะนั้นเป็นตัวแทนของศรีกรุงนำ ปู่โสมเฝ้าทรัพย์ มาฉายที่นครสวรรค์  


ความฝันของดอกไม้งามแห่งปากน้ำโพเริ่มฉายแววว่าจะเป็นจริง เมื่อหลวงภรตฯ ได้มีโอกาสดูตัวเธอและเกิดพอใจ จึงได้เสนอไปยัง มานิต วสุวัต ผู้อำนวยการของบริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง เวลาผ่านไป จดหมายจากศรีกรุงได้ส่งมาถึงบ้านที่ปากน้ำโพ เพื่อเรียกตัวฉวีวรรณให้ไปพบที่พระนคร


ขณะนั้นเป็นช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของบริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงและวงการภาพยนตร์ไทย เมื่อพี่น้องวสุวัตได้ตอกย้ำความเป็นผู้สร้างภาพยนตร์อันดับหนึ่งของประเทศ ด้วยการลงทุนสร้างโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงขนาดใหญ่ระดับมาตรฐานสากลขึ้นเป็นแห่งแรกของไทย ที่ทุ่งบางกะปิ สำเร็จเปิดดำเนินการในปี พ.ศ. 2478 ตั้งชื่อว่า โรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุง โดยภาพยนตร์เรื่องแรกที่ถ่ายทำในโรงถ่ายแห่งนี้ คือ พญาน้อยชมตลาด  ซึ่งได้เค้าเรื่องมาจากพงศาวดารมอญเรื่อง ราชาธิราช  และผู้ที่ได้รับการวางตัวให้เป็นนางเอกของเรื่องและนางเอกคนแรกของโรงถ่าย ก็คือสาวน้อยผู้หอบความฝันมาจากนครสวรรค์  ฉวีวรรณ ดอกไม้งาม 

ฉวีวรรณ ได้รับการตั้งชื่อใหม่เป็น “มานี สุมนนัฏ” ตามนามสกุลของหลวงภรตกรรมโกศล ผู้ชักนำเธอเข้าสู่วงการ และเป็นผู้รับบท“พญาน้อย” พระเอกของเรื่อง ด้วยความที่เป็นโรงถ่ายหนังแห่งแรก ระหว่างการถ่ายทำจึงมีแขกผู้มีเกียรติมาร่วมชมนับร้อยคน แต่มานี สุมนนัฏ ซึ่งรับบทเป็นสาวรามัญนามว่า “เม้ยเจิง”  กลับไม่ได้เผยให้เห็นถึงความประหม่า ทั้ง ๆ ที่ต้องแสดงบทบาทพร้อมร้องเพลงบันทึกเสียงสด ๆ ต่อหน้าผู้ชมจำนวนมาก จนถึงกับมีผู้เขียนชมเธอว่า “ช่างกล้าหาญและน่าเอ็นดู” รวมทั้ง “อดที่จะชมความไพเราะแห่งน้ำเสียงที่เธอร้องเสียมิได้”


พญาน้อยชมตลาด ออกฉายเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2478 แค่เพียงเรื่องแรก ความงามของนางเอกใหม่ผู้มาพร้อมใบหน้ารูปไข่ซึ่งแต้มด้วยปากอันเรียวงาม และประดับด้วยรูปจมูกที่บางคม กับดวงตาหวามหวานชวนฝันราวกับนางเอกหนังฮอลลีวูด  ก็ได้รับการเลื่องลือขจรขจายไปทั่ว และคำว่า “เม้ย” อันมาจากเม้ยเจิงนั้น ก็ได้กลายเป็นชื่อเรียกประจำตัวเธอที่ติดปากคนรอบข้างไปโดยปริยายในชีวิตจริง ราวกับเป็นตราประทับถึงการแจ้งเกิดในโลกภาพยนตร์


ภาพยนตร์เรื่องถัดมาของมานี สุมนนัฏ คือ เมืองแม่หม้าย ออกฉายเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478*  เธอรับบทเป็นนางพญาผู้เลอโฉมแห่งดินแดนอันลึกลับ ซึ่งขับให้เธอดูโดดเด่นยิ่งไปกว่าเรื่องแรก และหลังจากแสดงเรื่องนี้ โรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุงซึ่งได้รับเอาแบบแผนธรรมเนียมต่าง ๆ มาจากโรงถ่ายในฮอลลีวูด ก็ได้ให้สิทธิ์เธอนั่ง “เก้าอี้พิเศษ” ที่มีชื่อเธอจารึกติดไว้ในฐานะ “ดารา” ตามอย่างฮอลลีวูด  เป็นคนแรกของโรงถ่าย 


แม้ มานี สุมนนัฏ จะไม่ใช่นักแสดงหรือนางเอกภาพยนตร์คนแรกของไทย แต่ในยุครุ่งอรุณของวงการภาพยนตร์ไทยนี้ ก็ไม่มีนักแสดงก่อนหน้าคนใดเลย ที่จะแผ่ประกายรัศมีแห่งความเป็นดาราภาพยนตร์ได้เทียมเท่าเธอ  ณ เวลานี้ มานี สุมนนัฏ จึงไม่ใช่เพียงนักแสดงอย่างที่เคยมีมาในวงการ แต่เธอนับเป็นดารา ในความหมายอย่างคำว่า “สตาร์” ของภาพยนตร์โลก เป็นคนแรกของไทยอย่างแท้จริง ซึ่งเก้าอี้พิเศษของโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุงได้ทำให้คำนิยามนี้ปรากฏขึ้นเป็นรูปธรรม และทำให้ มานี สุมนนัฏ ได้กลายเป็นความจริงแห่งความฝันของเด็กน้อยฉวีวรรณ ดอกไม้งาม จากปากน้ำโพ ผู้มีภาพยนตร์เป็นรักแรกพบในวัยเยาว์

ภายหลังโด่งดังอย่างรวดเร็วจากภาพยนตร์สองเรื่องแรกในชีวิต  ในภาพยนตร์เรื่องถัดมาคือ กลัวเมีย ซึ่งออกฉายเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2479  มานีได้มีโอกาสประกบกับพระเอกหน้าใหม่ชื่อ จำรัส สุวคนธ์ ผู้มากด้วยเสน่ห์และมีน้ำเสียงอันไพเราะกังวาน รวมทั้งเคยรับบทรองจากหนังศรีกรุงเรื่อง เลือดชาวนา (2479) มาก่อน  การจับคู่ครั้งใหม่นี้ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง และ จำรัส สุวคนธ์ ก็ได้มีชื่อและสิทธิ์ในการนั่ง “เก้าอี้พิเศษ”  ประจำโรงถ่ายอย่างเดียวกับมานี สุมนนัฏ นับเป็นคนที่สองของโรงถ่ายที่ได้รับฉายาว่า “ฮอลลีวูดแห่งสยาม” นี้

ขึ้นปี พ.ศ. 2480 บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงได้เริ่มลงมือถ่ายทำภาพยนตร์เสียงเรื่องยิ่งใหญ่ อย่างที่โรงถ่ายเรียกว่า “หนังซูเปอร์” ตามความตั้งใจที่มีมาตั้งแต่เริ่มต้นสร้างโรงถ่าย หนังซูเปอร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ประเภทเพลงระบำ ตั้งชื่อว่า เพลงหวานใจ  ซึ่งทีมงานได้วางแผนเขียนบท แต่งเพลง ซักซ้อมการเต้นระบำและการแสดง รวมทั้งลงทุนตกแต่งฉากอย่างทันสมัยและมโหฬารทั้งในและนอกโรงถ่ายมานานหลายเดือน  


แน่นอนว่านักแสดงนำของหนังซูเปอร์เรื่องแรกของโรงถ่ายนั้นจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก จำรัส สุวคนธ์ และ มานี สุมนนัฏ ผู้ก้าวขึ้นเป็นคู่ดาราหวานใจอันดับหนึ่งของศรีกรุง  โดยจำรัสรับบทเป็นเรืออากาศเอกแห่งกองทัพไทยที่ขับเครื่องบินพลัดตกไปในประเทศสมมตินามว่า ซานคอสซาร์  ซึ่งมีมานีรับบทเป็นพระราชินี  ฉากเอกฉากหนึ่งคือ ฉากที่จำรัสแอบย่องมาข้างหลังพระราชินีที่กำลังอาบน้ำอยู่ริมห้วย ด้วยความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นสาวชาวเกาะ  ฉากนี้ทั้งนักแสดงและ ขุนวิจิตรมาตรา ผู้กำกับ กับหลวงกลการเจนจิต ผู้ถ่ายภาพยนตร์ ต้องลงไปอยู่ในน้ำเพื่อถ่ายทำอย่างพิถีพิถันกันยาวนาน โดยมานี สุมนนัฏ ให้สัมภาษณ์ว่า เธอกับจำรัส สุวคนธ์นั้น ต้องแช่น้ำอยู่ในห้วยนานถึง 8 ชั่วโมงเต็ม ๆ 


เพลงหวานใจ ออกฉายเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2480 นับเป็นภาพยนตร์ซูเปอร์เรื่องแรกของไทยและประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ตรึงใจสมความอลังการของภาพยนตร์  ทั้งยังส่งผลให้ จำรัส สุวคนธ์ และ มานี สุมนนัฏ ได้กลายเป็น “ดาราคู่ขวัญคู่แรก” ของวงการ  นับเป็นช่วงที่รุ่งโรจน์ที่สุดในอาชีพนักแสดงของทั้งคู่ แต่เป็นความรุ่งโรจน์ที่เสมือนพลุอันดังกึกก้องสว่างไสว เพียงชั่วครู่ก็พลันเลือนแสงและเงียบหายลงอย่างรวดเร็ว  เมื่อจำรัสและมานีได้แสดงร่วมกันอีกแค่ครั้งเดียวในภาพยนตร์เรื่องถัดมา คือ หลอกเมีย ซึ่งเป็นภาคต่อของ กลัวเมีย  ออกฉายเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2480*  ก่อนที่ มานี สุมนนัฏ จะหันหลังให้แก่วงการออกไปใช้ชีวิตกับ สง่า สามโกเศศ สามีซึ่งรู้จักกันตั้งแต่ช่วงต้นชีวิตการแสดง เมื่อขาดคู่ขวัญ จำรัส สุวคนธ์ ก็มีผลงานภาพยนตร์อีกเพียง 3 เรื่องคือ ในสวนรัก (2481)  ไม่เคยรัก (2483) และ น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง (2485) อันเป็นเรื่องสุดท้ายของโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุง  ก่อนจะปิดโรงถ่ายลงเพราะประสบน้ำท่วมครั้งใหญ่และต้องภัยจากสงครามโลก ครั้งที่ 2 


มหาสงครามครั้งนี้ย่างกรายมาถึงเมืองไทยตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2484 ไม่เพียงแต่ทำลายบ้านเมือง แต่ยังตัดตอนให้วงการภาพยนตร์ไทยที่กำลังพัฒนาขึ้นอย่างเป็นระบบต้องหยุดชะงักลง และกินเวลานานเกือบสิบปีกว่าจะพลิกฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งวงการภาพยนตร์ไทยยุคหลังสงครามนั้นเกือบจะเรียกได้เป็นวงการใหม่ ที่มีกำลังหลักเป็นเหล่าผู้กำกับและนักแสดงที่โด่งดังจากเวทีละครที่เฟื่องฟูในช่วงระหว่างสงคราม  และเริ่มต้นด้วยหนัง 16 มม.  ทิ้งให้ภาพยนตร์ 35 มม. เสียงในฟิล์ม ระดับมาตรฐานสากลของโรงถ่ายอันดับหนึ่งอย่างศรีกรุงต้องกลายเป็นอดีต  หลังสงคราม พี่น้องวสุวัตเลิกผลิตภาพยนตร์ และตัดสินใจเปลี่ยนแปลงโรงถ่ายกลายเป็นโรงหนังชื่อ “ศาลาศรีกรุง”  ในขณะที่พระเอกรูปงาม จำรัส สุวคนธ์ ได้เสียชีวิตลงอย่างอาภัพในช่วงระหว่างสงครามนั้นเอง และดวงดาราหมายเลขหนึ่งอย่าง มานี สุมนนัฏ ก็ยังคงหรุบแสงอยู่ในครอบครัวสามโกเศศอันอบอุ่นของเธอ ปล่อยให้นางเอกคนแล้วคนเล่าค่อย ๆ ก้าวขึ้นมาเป็นดาวฉายแสงดวงใหม่ โดยที่เธอไม่เคยคิดหวนคืนสู่ท้องฟ้ามายาผืนนี้อีกเลย


เรื่องราวของมานี สุมนนัฏ จึงค่อย ๆ ถูกลืมเลือนไปจากสังคมอย่างช้า ๆ ท่ามกลางการรุดหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้งของวงการภาพยนตร์ไทย  เวลาผ่านไปกว่า 40 ปี วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2530  หอภาพยนตร์ เมื่อครั้งยังเป็นหน่วยงานราชการชื่อว่า “หอภาพยนตร์แห่งชาติ” จึงได้เชิญ มานี สุมนนัฏ หรือ มานี สามโกเศศ ในวัย 71 ปี มาประทับรอยมือรอยเท้าบนลานดาราหน้าโรงหนังอลังการ ภายในบริเวณหอศิลป์เจ้าฟ้า เพื่อให้เป็นอมตนุสรณ์ถึงเกียรติยศแห่งการเป็นดาราดวงแรกแห่งโลกภาพยนตร์ไทย  จากนั้นไม่นาน ดาวค้างฟ้าดวงนี้ก็ได้ล่วงลับดับแสงลงอย่างเงียบ ๆ  ในวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2533  ด้วยอายุ 75 ปี


ปัจจุบัน หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้นำรอยมือรอยเท้าของมานี สุมนนัฏ มาจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย และได้จัดสร้างประติมากรรมแสดงการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง เพลงหวานใจ ระหว่างเธอกับจำรัส สุวคนธ์  รวมทั้งได้อนุรักษ์บทเพลงที่เธอเคยร้องประกอบไว้ในภาพยนตร์ทั้งหลายของศรีกรุง ที่คงเหลืออยู่ในรูปแบบของแผ่นเสียง ให้เป็นเครื่องระลึกถึงผลงานภาพยนตร์ของเธอที่ยังคงสูญหายไปหมดสิ้น 

*นับตามศักราชแบบเก่า (๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่)



เขียนโดย พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู

ข่าวสารที่น่าสนใจ

อ่านข่าวทั้งหมด

ประกาศ รับสมัครบุคคลเพื่อสรรหาเป็นผู้ปฏิบัติง...

หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) มีความประสงค์จะรับสมัครบุคคลเพื่อสรรหาและคัดเลือกเป็นผู้ปฏิบัติงานของหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ในตำแหน่งต่าง ๆ ดังนี้ตำแหน่ง...

อ่านรายละเอียด

Hommage à Chris Marker

23 ธ.ค. 64 - 23 ธ.ค. 64  กิจกรรม

Hommage à Chris Marker โปรแกรมพิเศษในเทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 25 ในวาระ 100 ปี คริส มาร์กเกอร์ คนทำหนังผู้บุกเบิกหนังแนว essay filmคริส มาร์กเกอร์...

อ่านรายละเอียด

วันหนังบ้านครั้งที่ 13 (ฉบับออนไลน์)

16 ต.ค. 64 - 16 ต.ค. 64  กิจกรรม

พบกับความอบอุ่นประทับใจจากหนังบ้านในวันวานของหลากหลายครอบครัว ใน Home Movie Day Thailand 2021 หรือ วันหนังบ้าน (ฉบับออนไลน์) เสาร์ที่ 16 ตุลาคมนี้ เวล...

อ่านรายละเอียด