วันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564
แม้คนไทยกับคนจีนจะมีความผูกพันเชื่อมโยงกันทางสายเลือดและวัฒนธรรมมาแต่โบราณ และปัจจุบันมิตรภาพทางการเมืองของสองประเทศได้งอกงามแน่นแฟ้น จนอาจเรียกได้ว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นประเทศมหาอำนาจที่ใกล้ชิดกับไทยมากที่สุดประเทศหนึ่ง แต่ในยุคสงครามเย็นที่โลกแบ่งออกเป็นสองขั้วตามลัทธิทางการเมือง ประเทศไทยและจีนกลับต้องเป็นศัตรูกัน นับตั้งแต่ที่จีนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ เมื่อ พ.ศ. 2492 และไทยเลือกยืนอยู่ข้างสหรัฐอเมริกา มหาอำนาจทางโลกเสรีประชาธิปไตย
เวลาผ่านไปเกือบ 30 ปี ความผันผวนทางการเมืองของสงครามเย็นกลับมาเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สถานะความสัมพันธ์ของไทยกับจีนค่อย ๆ ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้ง ก่อนจะเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เป็นผู้นำไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ที่เดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน และร่วมลงนามในแถลงการณ์ร่วมสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต กับโจวเอินไหล นายกรัฐมนตรีของจีน ในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2518
เหตุการณ์นี้นับเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์การต่างประเทศที่สำคัญที่สุดของไทยและโลก ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการปรับภูมิรัฐศาสตร์ในยุคปลายสงครามเย็น เและเป็นจุดเริ่มต้นของสัมพันธไมตรีทางการทูตระหว่างไทยกับจีน ประเทศที่เคยตกอยู่ในสถานะดินแดนต้องห้ามอันลึกลับและน่ากลัวสำหรับคนไทย โดยมีภาพจำสำคัญ เป็นภาพถ่ายการจับมือกันระหว่าง ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้มีบทบาทเป็นนักต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่สำคัญที่สุดคนหนึ่ง กับประธานาธิบดีเหมาเจ๋อตุง ผู้มีสถานะเปรียบดังหัวสูงสุดของโลกคอมมิวนิสต์
อย่างไรก็ตาม นอกจากภาพถ่ายประวัติศาสตร์ ยังมีภาพเคลื่อนไหวที่บันทึกการเดินทางดังกล่าวอีกจำนวนหนึ่ง ที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้ที่หอภาพยนตร์ หนึ่งในนั้นคือภาพยนตร์เรื่อง [ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ เยือนจีน] ที่ถ่ายโดยช่างภาพของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 ด้วยฟิล์มสี 16 มม. ซึ่งมีทั้งภาพจากกล้องที่ยังไม่ได้ตัดต่อ ปะปนอยู่กับภาพที่ตัดต่อแล้วเพื่อออกอากาศ และมีเสียงของ อาคม มกรานนท์ ผู้ประกาศข่าวและพิธีกรนักจัดรายการชื่อดัง บรรยายประกอบเหตุการณ์ โดยไม่เพียงแต่จะปรากฏให้เห็นภาพบุคคลสำคัญของทั้งสองประเทศ ภาพยนตร์ยังได้ถ่ายทอดเหตุการณ์สำคัญ เช่น การเจรจาและลงนามระหว่างคณะผู้นำของทั้งสองประเทศ และการกล่าวสุนทรพจน์บนเวทีในงานเลี้ยงรับรองของ เติ้งเสี่ยวผิง ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี และ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
ความสำคัญของภาพยนตร์เรื่องนี้ ทำให้หอภาพยนตร์ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ ประจำปี 2563 เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ผ่านมา นอกจากนี้ หอภาพยนตร์ยังได้อนุรักษ์ภาพยนตร์อีกฉบับหนึ่ง ที่ถ่ายด้วยฟิล์มขาวดำ ไม่บันทึกเสียง โดยช่างภาพของสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งส่วนมากเป็นภาพเหตุการณ์เดียวกับฉบับที่ได้รับการขึ้นทะเบียนป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ แต่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์เท่า อย่างไรก็ตามภาพยนตร์ฉบับนี้กลับปรากฏให้เห็นนาทีประวัติศาสตร์เมื่อ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ เข้าคารวะประธานาธิบดีเหมาเจ๋อตุง ซึ่งเป็นการบันทึกภาพผ่านหน้าจอโทรทัศน์ของจีนที่กำลังเผยแพร่เหตุการณ์ดังกล่าว
วันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 หอภาพยนตร์ขอเชิญย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นของสัมพันธภาพครั้งสำคัญดังกล่าวอีกครั้ง ใน กิจกรรมภาพยนตร์สนทนา “45 ปี คึกฤทธิ์เยือนจีน” ด้วยการชมภาพยนตร์บันทึกการเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่หอภาพยนตร์อนุรักษ์ไว้ พร้อมสนทนากับบุคคลที่ร่วมเดินทางไปในครั้งนั้น ได้แก่ เตช บุนนาค หนึ่งในคณะทำงานที่รัฐบาลไทยส่งให้ไปเจรจาสถาปนาความสัมพันธ์ที่จีนก่อนหน้าการเดินทางของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งต่อมาเป็นอดีตเอกอัครราชทูตไทย ประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่าง พ.ศ. 2529 – 2533 และ สุทธิชัย หยุ่น ผู้ร่วมเดินทางไปในฐานะคณะผู้สื่อข่าวไทย
เริ่มกิจกรรมตั้งแต่เวลา 14.00 น. เป็นต้นไป ณ โรงภาพยนตร์ศาลาศีนิมา ชั้น 6 อาคารสรรพสาตรศุภกิจ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
สำรองที่นั่ง <<คลิก>>