ราคาชีวิตของคนกอง

“คนกอง” อันหมายถึงคนทำงานในกองถ่ายหนัง คำ ๆ นี้สร้างทั้งความภาคภูมิใจในวิชาชีพ และความหวั่นใจต่อตัวคนกองเอง ความปลอดภัยในชีวิตคนกองกลายเป็นเครื่องหมายคำถามใหญ่ นับจากวันที่ มิตร ชัยบัญชา เสียชีวิตจากอุบัติเหตุพลัดตกบันไดเฮลิคอปเตอร์ในระหว่างการถ่ายหนังเรื่อง “อินทรีทอง” ในวันที่ 8 ตุลาคม 2513 ไม่เพียงแต่เป็นดาราหมายเลขหนึ่งของไทยในตอนนั้น แต่ มิตร ชัยบัญชา ยังเป็นนักแสดงไทยคนแรกที่เริ่มจัดคิวถ่ายทำของตนเอง จนทำให้เกิดระบบคิวการทำงานขึ้นครั้งแรกในวงการหนังไทย โศกนาฏกรรมครั้งนี้จึงถือเป็นการเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ในกองถ่ายภาพยนตร์ที่น่าเศร้าและน่าตกใจที่สุด อีกทั้งยังสร้างประวัติศาสตร์ความสูญเสียอันเกิดจากอันตรายร้ายแรงที่คนกอง ไม่ว่าจะเป็นดาราหรือช่างเทคนิค ต่างประสบในการทำงานทุกวัน


กว่า 50 ปีหลังจากมิตรเสียชีวิต สวัสดิภาพในการทำงานของคนกองแทบไม่เปลี่ยนไป ในฐานะ “แรงงาน” ดูราวกับว่าผู้ปฏิบัติงานในกองถ่ายทั้งภาพยนตร์ ละคร ซีรี่ส์ มักจะไม่ถูกนับรวมในนิยามของแรงงานประเภทอื่น ๆ และมักไม่ได้รับการดูแลตามกฎหมายแรงงาน สวัสดิการ หรือกฎเกณฑ์อื่น ๆ หากแต่ใช้วิธี “ทำตามแบบแผนที่กองถ่ายแบบไทยทำ ๆ กันมา” ทั้งชั่วโมงการทำงานที่ยาวกว่างานปกติ การควงกะ หามรุ่งหามค่ำ การไม่มีเวลาพักเพียงพอก่อนจะเริ่มถ่ายใหม่ การไม่มีค่าล่วงเวลา ไม่มีประกันสุขภาพหรือประกันชีวิต การไม่สามารถต่อรองหรือเรียกร้องการปฏิบัติอย่างยุติธรรม ฯลฯ


เหตุการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยิ่งทำให้ปัญหาคนกองดูหนักหน่วง ทั้งการไม่มีสวัสดิการเนื่องจากคนกองส่วนใหญ่เป็นอาชีพอิสระหรือ ฟรีแลนซ์ ที่สำคัญคือคนกองหลายคนไม่สามารถระบุ ”อาชีพ” ที่ชัดเจนเมื่อขอรับความช่วยเหลือจากรัฐ จนทำให้เสียโอกาสในการเข้าถึงเงินช่วยเหลือ เรื่อยไปถึงช่วงที่หนังเปิดกล้องได้อีกครั้ง มีการโหมถ่ายอย่างหนักหน่วงจนกลับไปเกิดปัญหาข้างต้นวนซ้ำมาอีก


การเสียชีวิตของมิตร ชัยบัญชา เป็นข่าวใหญ่ที่ยังส่งแรงกระเพื่อมมากว่าครึ่งศตวรรษ แต่มีคนกองอีกจำนวนมากที่สูญเสียสุขภาพ ชีวิต หรือความเป็นอยู่ที่ดี และไม่ได้เป็นข่าวเพียงเพราะคนเหล่านี้เป็นคนตัวเล็ก ๆ ในจักรกลของอุตสาหกรรมที่มักหลงลืมบุคลากรที่ไร้หน้าตาและชื่อเสียงเหล่านี้


หอภาพยนตร์จัดงานเสวนาภาพยนตร์ “ราคาชีวิตของคนกอง” โดยหวังจะเปิดพื้นที่ให้คนทำงานในกองถ่ายได้ร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยน และผลักดันเพื่อปรับมาตรฐานการทำงานและการดูแลสวัสดิภาพทางร่างกายและจิตใจของคนทำงานกองถ่าย ทั้งในแง่กฎหมาย ความเป็นไปได้ในการตั้งสหภาพแรงงานคนกอง การแลกเปลี่ยนประสบการณ์กองถ่ายไทยและกองถ่ายต่างประเทศ โดยมีวิทยากรร่วมเสวนาดังนี้


- ยุวดี ไทยหิรัญ ผู้จัดการกองถ่ายที่เริ่มทำงานในวงการภาพยนตร์ตั้งแต่อายุ 15 ปี ผ่านยุคหนัง 16 มม. มาจนถึงระบบสตูดิโอในยุค 35 มม. รวมไปถึงกองถ่ายละครโทรทัศน์

- โมไนย ธาราศักดิ์ ผู้ช่วยผู้กำกับภาพยนตร์ที่มีประสบการทำงานในกองถ่ายมากมายทั้งภาพยนตร์ไทยและต่างประเทศ

- ชาติชาย เกษนัส คนทำหนังไทยร่วมสมัย ตัวแทนจากสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยในการผลักดันนโยบายเกี่ยวกับค่าจ้าง ชั่วโมงการทำงาน และสวัสดิการต่าง ๆ ของคนทำงานในกองถ่าย

วันพุธที่ 10 มีนาคม 2564 เวลา 14.00 น. ณ โรงหนังช้างแดง ชั้น 2 หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

สำรองที่นั่งได้ที่ <<คลิก>>

ข่าวสารที่น่าสนใจ

อ่านข่าวทั้งหมด

ประกาศ รับสมัครบุคคลเพื่อสรรหาเป็นผู้ปฏิบัติง...

หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) มีความประสงค์จะรับสมัครบุคคลเพื่อสรรหาและคัดเลือกเป็นผู้ปฏิบัติงานของหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ในตำแหน่งต่าง ๆ ดังนี้ตำแหน่ง...

อ่านรายละเอียด

Hommage à Chris Marker

23 ธ.ค. 64 - 23 ธ.ค. 64  กิจกรรม

Hommage à Chris Marker โปรแกรมพิเศษในเทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 25 ในวาระ 100 ปี คริส มาร์กเกอร์ คนทำหนังผู้บุกเบิกหนังแนว essay filmคริส มาร์กเกอร์...

อ่านรายละเอียด

วันหนังบ้านครั้งที่ 13 (ฉบับออนไลน์)

16 ต.ค. 64 - 16 ต.ค. 64  กิจกรรม

พบกับความอบอุ่นประทับใจจากหนังบ้านในวันวานของหลากหลายครอบครัว ใน Home Movie Day Thailand 2021 หรือ วันหนังบ้าน (ฉบับออนไลน์) เสาร์ที่ 16 ตุลาคมนี้ เวล...

อ่านรายละเอียด