เพื่อเพิ่มความหลากหลายและสีสันของการชมภาพยนตร์ออนไลน์ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ร่วมกับ Cinematheque Francaise หรือภาพยนตร์สถานฝรั่งเศส ในโครงการ “French-Thai Cinema Exchange” โดยเว็บไซต์ของ Cinematheque Francaise จะเปิดให้คนดูได้ชมหนังไทยเก่า 4 เรื่อง จากการบูรณะของหอภาพยนตร์ ส่วนในเว็บไซต์ของหอภาพยนตร์ จะมีลิงก์พาท่านไปชมหนังคลาสสิกฝรั่งเศส 5 เรื่อง
หนังไทยที่ทางฝรั่งเศสเลือกไปฉายได้แก่ สันติ-วีณา, สวรรค์มืด, พรายตะเคียน และ กะเทยเป็นเหตุ โดยจะจัดฉายในแพลตฟอร์มชื่อ HENRI ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเว็บไซต์ของภาพยนตร์สถานฝรั่งเศส (https://www.cinematheque.fr/henri/)
ส่วนหนังฝรั่งเศสที่เราเลือกมานำเสนอให้ผู้ชม มี 4 เรื่อง ล้วนเป็นหนังฝรั่งเศสคลาสสิกโดยผู้กำกับคนสำคัญที่คนดูอาจจะไม่คุ้นชื่อ ทั้ง ฌอง เอปสไตน์, อังเดร อองตวน, ฌาคส์ โรซิเยร์ และ ฟรองซัวส์ ไรเชนบาค มีทั้งหนังเงียบและหนังเสียง รวมถึงหนังที่ท้าทายทั้งเนื้อหาและลีลาตามสไตล์ฝรั่งเศส
อ่านข้อมูลและกดชมภาพยนตร์ฝรั่งเศสทั้ง 5 เรื่องตามลิงก์ด้านล่าง
1. La chute de la maison Usher / The Fall of the House of Usher (Jean Epstein, 1928, 65 นาที)
หนึ่งในหนังเงียบแนวทดลองที่โด่งดังมากที่สุดของโลก ผลงานชิ้นเอกของ ฌอง เอปสไตน์ (Jean Epstein) ผู้กำกับหัวหอกแห่งกลุ่มเฟรนช์ อิมเพรสชันนิสต์ (French Impressionist) ผู้โดดเด่นในการสื่ออารมณ์ผ่านการใช้องค์ประกอบต่าง ๆ ของงานด้านภาพ โดยเขาได้เขียนบทร่วมกับหลุยส์ บุนเยล สุดยอดผู้กำกับหนังแนวเซอร์เรียล หนังเล่าเรื่องราวในคฤหาสถ์ของโรเดอริกและแมดเดอลีนแห่งบ้านอัสเชอร์ เมื่อวันหนึ่ง อัลลัน เพื่อนสนิทในวัยเด็กของโรเดอริกได้เดินทางมายังคฤหาสน์ ก่อนที่เขาจะได้พบกับเหตุการณ์สยองบางอย่างภายในคฤหาสน์หลังนี้
The Fall of the House of Usher ได้รับการบูรณะโดยหอภาพยนตร์เบลเยียม (Cinémathèque Royale de Belgique) และหอภาพยนตร์เมืองโบโลญญา (Cineteca del Comune di Bologna) ในปี ค.ศ.1997 จากฟิล์มต้นฉบับที่จัดเก็บโดยภาพยนตร์สถานฝรั่งเศส (Cinémathèque française) และฟิล์มสำเนาขาวดำของสถาบันภาพยนตร์เนเธอร์แลนด์ (EYE Film Institute Netherlands) โดยใช้ฟิล์มไนเตรตขาวดำจากคลังจัดเก็บของแฟร์นันโด เปเรดา แห่ง Archivo Nacional de la Imagen-Sodre, in Montevideo เป็นแนวทางสำหรับการบูรณะสี
ชมภาพยนตร์ได้ที่ https://www.cinematheque.fr/henri/film/48361-la-chute-de-la-maison-usher-jean-epstein-1928/
2. Le tempestaire (Jean Epstein, 1947, 23 นาที)
ภาพยนตร์สั้นของฌอง เอปสไตน์ (Jean Epstein) ผู้กำกับหนังทดลอง (Avant-Garde) คนแรก ๆ ของโลก เล่าเรื่องโดยใช้เทคนิคทางภาพและเสียงที่เล่นกับเวลา เช่น Slow motion และ Time-lapse เพื่อแทนอารมณ์และความรู้สึกหวั่นวิตกของหญิงสาว เมื่อคู่หมั้นของเธอออกเดินทะเล ขณะเกิดพายุกระหน่ำ ณ หมู่บ้านประมงแถบชายฝั่งทางตะวันตกของประเทศฝรั่งเศส
Le tempestaire บูรณะภาพเสียงใหม่ด้วยความละเอียดระดับ 2K ในปี ค.ศ. 2013 จากฟิล์มต้นฉบับที่อยู่ในคลังอนุรักษ์ของภาพยนตร์สถานฝรั่งเศส (Cinémathèque française) ที่ปัจจุบันสูญหายไปแล้ว โดยการสนับสนุนของศูนย์ภาพยนตร์และภาพเคลื่อนไหวแห่งชาติฝรั่งเศส (Centre national du cinéma et de l’image animée – CNC) และ เบียทริซ คอสตองทินี (Béatrice Costantini) นักแสดงชาวฝรั่งเศส
ชมภาพยนตร์ได้ที่ https://www.cinematheque.fr/henri/film/48399-le-tempestaire-jean-epstein-1947/
3. L'Hirondelle et la Mésange / The Swallow and the Titmouse (André Antoine, 1924, 78 นาที)
ผลงานของอังเดร อองตวน (André Antoine) นักแสดงและผู้กำกับละครเวที ผู้ผันตัวมาเป็นคนทำหนังจนได้รับยกย่องให้เป็นบิดาแห่งการจัดวางองค์ประกอบภาพยุคใหม่ (Modern Mise-en-scène) เล่าเรื่องราวของ ปิแยร์ กัปตันเดินเรือบรรทุก ซึ่งล่องแม่น้ำจากเบลเยียมไปยังเมืองทางตอนเหนือของฝรั่งเศส โดยมีภรรยาและน้องสาวเป็นผู้ร่วมเดินทาง แต่บรรยากาศกลับตึงเครียดขึ้น เมื่อ มิเชล ชายแปลกหน้าขึ้นมาโดยสารบนเรือ
The Swallow and the Titmouse สร้างเสร็จและเตรียมออกฉายในปี ค.ศ. 1920 แต่สตูดิโอปาเต๊ะ (Pathé) มองว่าหนังมีความเป็นสารคดีมากเกินไป จึงสั่งเก็บไว้จนกว่าจะตัดต่อใหม่ กระทั่งผ่านไปราว 60 ปี จึงมีการค้นพบฟิล์มสำเนาที่ยังไม่ได้รับการตัดต่ออีกครั้ง ในปี ค.ศ. 1982 โดยภาพยนตร์สถานฝรั่งเศส (Cinémathèque française) ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจาก อองรี โคลพิ (Henri Colpi) ผู้กำกับและมือตัดต่อหนังฝรั่งเศสเรื่องสำคัญหลายเรื่อง อาทิ Hiroshima mon amour (1961) และ Last Year at Marienbad (1963) เป็นผู้ตัดต่อฉบับใหม่ ซึ่งอาศัยบทภาพยนตร์ดั้งเดิมของกุสตาฟ กริลเยต์ (Gustave Grillet) และสมุดบันทึกการทำงานของอองตวนเป็นตัวช่วยในการทำงาน จนได้ความยาวออกมา 78 นาที และออกฉายอย่างเป็นทางการที่ภาพยนตร์สถานฝรั่งเศสในเดือนมีนาคม ปี 1984 โดยในปี 2559 ภาพยนตร์เรื่องนี้เคยมาจัดฉายที่ประเทศไทย ในเทศกาลภาพยนตร์เงียบ ครั้งที่ 3 ที่หอภาพยนตร์จัดขึ้นที่โรงภาพยนตร์ลิโด
ชมภาพยนตร์ได้ที่ https://www.cinematheque.fr/henri/film/46444-l-hirondelle-et-la-mesange-andre-antoine-1920/
4. Blue Jeans (Jacques Rozier, 1958, 23 นาที)
ภาพยนตร์สั้นของ ฌาคส์ โรซิเยร์ (Jacques Rozier) หนึ่งในผู้กำกับคลื่นลูกใหม่ของฝรั่งเศส (French New Wave) รุ่นเดียวกับฌอง ลุค โกดาร์ (Jean Luc-Godard) บันทึกโมงยามในช่วงหน้าร้อนที่เมืองคานส์ของเรเนและแดนี คู่เพื่อนสนิทที่แต่ละวันวุ่นอยู่กับการตระเวนขี่มอเตอร์ไซค์จีบหญิง
Blue Jeans บูรณะด้วยกระบวนการทางดิจิทัลด้วยความละเอียดระดับ 4K โดยแล็บอิวองตี (Hiventy Laboratory) โดยการสนับสนุนของศูนย์ภาพยนตร์และภาพเคลื่อนไหวแห่งชาติฝรั่งเศส (Centre national du cinéma et de l’image animée – CNC)
ชมภาพยนตร์ได้ที่ https://www.cinematheque.fr/henri/film/67927-blue-jeans-jacques-rozier-1957/
5. Male Nudes (François Reichenbach, 1954, 24 นาที)
ภาพยนตร์สั้นที่ใช้วิธีการจับจ้องเพื่อบรรยายภาพ “เพศชาย” ในทศวรรษปี 1950 ผลงานของ ฟรองซัวส์ ไรเชนบาค (François Reichenbach) ผู้กำกับสารคดีที่มักเล่าเรื่องโดยใช้วิธีเฝ้าสังเกตการณ์และนำเสนอมุมมองตามความเป็นจริง (Cinéma Vérité)
Male Nudes บูรณะและสแกนด้วยความละเอียดระดับ 2K จากฟิล์มรีเวอร์ซัล 16 มม. ที่ชำรุดและเสียหายอย่างหนัก ด้วยการสนับสนุนของซาราห์ มาร์ตี้ (Sarah Marty) ลอว์เรนซ์ บราวน์แบร์เกอร์ (Laurence Braunberger) และภาพยนตร์สถานฝรั่งเศส (Cinémathèque française)
ชมภาพยนตร์ได้ที่ https://www.cinematheque.fr/henri/film/132043-nus-masculins-francois-reichenbach-1954/