“สรุปสาระสำคัญจากกิจกรรมสนทนากับทีมงานไทยคนสำคัญของ Memoria ถึงรายละเอียดเบื้องหลังการทำงานและเกร็ดต่าง ๆ พร้อมการเข้าฉายรอบปฐมทัศน์โลก ณ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ประจำปีนี้”
เรียบเรียงโดย อธิพันธ์ สิมมาคำ
ที่มาภาพปก: ©Daniele Venturelli/Getty Images
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เปิดห้อง Clubhouse เพื่อร่วมสนทนากับทีมงานชาวไทยของภาพยนตร์เรื่อง Memoria ในวาระที่ผลงานการกำกับล่าสุดของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เรื่องนี้ เข้าฉายรอบปฐมทัศน์โลกที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ โดยทีมงานที่ร่วมการสนทนาได้แก่ คัทลียา เผ่าศรีเจริญ และ โสฬส สุขุม สองผู้อำนวยการสร้างร่วมจากบริษัท 185 Films ร่วมด้วย สมพจน์ ชิตเกษรพงศ์ ผู้ช่วยผู้กำกับซึ่งเคยร่วมงานกับอภิชาติพงศ์จากเรื่อง สัตว์ประหลาด! (Tropical Malady), แสงศตวรรษ (Syndromes and a Century) และ รักที่ขอนแก่น (Cemetery of Splendour) และเป็นผู้ที่ทำงานร่วมกับกองถ่ายทำที่โคลอมเบีย นอกจากนี้ยังมี ลี ชาตะเมธีกุล มือตัดต่อประจำของอภิชาติพงศ์ และ อัคริศเฉลิม กัลยาณมิตร มือผสมเสียงคนสำคัญที่ทำงานกับหนังของอภิชาติพงศ์มาตลอดเช่นกัน
Memoria เป็นภาพยนตร์ร่วมทุนสร้างหลายประเทศและเป็นผลงานขนาดยาวเรื่องแรกที่อภิชาติพงศ์ถ่ายทำนอกประเทศไทยทั้งหมด นำแสดงโดย ทิลดา สวินตัน นักแสดงชาวอังกฤษเจ้าของรางวัลออสการ์ ในบทของ เจสสิกา หญิงสาวชาวสก็อตติช ผู้ประสบปัญหานอนไม่หลับและเสียงปริศนาหลอกหลอนอยู่ในหัว ภาพยนตร์ได้เข้าฉายในสายประกวดหลักของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ครั้งที่ 74 ซึ่งก่อนหน้านี้อภิชาติพงศ์เคยได้รับรางวัลภาพยนตร์ชนะเลิศปาล์มทองคำ (Palme d'Or) ในสายประกวดดังกล่าวจากภาพยนตร์เรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ (Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives) เมื่อปี ค.ศ. 2010 ถือเป็นคนไทยคนแรกและคนเดียวที่สามารถคว้ารางวัลสูงสุดของเทศกาลภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกนี้มาครองได้
©Pascal Le Segretain/Getty Images
กิจกรรมสนทนาในวันนั้นดำเนินในช่วงเวลาเดียวกันกับที่อภิชาติพงศ์และทีมนักแสดงของ Memoria เดินพรมแดงก่อนเข้าไปภายในโรงภาพยนตร์กรองด์ เธียเตอร์ ลูมิแอร์ (Grand Théâtre Lumière) โดยทางคัทลียาได้มีการประสานกับ ศักดิ์ดา แก้วบัวดี นักแสดงคู่บุญของอภิชาติพงศ์ ซึ่งได้เดินทางไปร่วมงานในวันนั้น คอยอำนวยความสะดวกเพื่อให้อภิชาติพงศ์และทิลดา สวินตัน เข้ามาทักทายผู้ฟังก่อนกิจกรรมการสนทนาจะเริ่ม แต่ด้วยเหตุสุดวิสัยและสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวยบางประการ จึงทำให้พลาดโอกาสดังกล่าวไปอย่างน่าเสียดาย
การถ่ายทำที่โคลอมเบีย
ก้อง ฤทธิ์ดี รองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์และผู้ดำเนินรายการเริ่มการสนทนาด้วยการชวนสมพจน์พูดคุยถึงจุดเริ่มต้นในการทำงานร่วมกับอภิชาติพงศ์ และการทำงานกับกองถ่าย Memoria ที่โคลอมเบีย
“ผมเริ่มต้นทำงานกับพี่เจ้ย ช่วงประมาณเรื่อง หัวใจทรนง และ สัตว์ประหลาด! ตอนนั้นเรียนจบสถาปัตย์ อยากฝึกงานทำหนัง เลยมาขอฝึกงาน ตอนมาสมัครไม่ได้มีพอร์ตฟอลิโออะไรเกี่ยวกับหนังเลย ซึ่งอาจจะโชคดีที่พี่เจ้ยก็จบสถาปัตย์เหมือนกัน ตอนแรกถูกโยนให้มาทำฝ่ายอาร์ต ช่วยงานพี่เอก (เอกรัฐ หอมลออ - ผู้เรียบเรียง) อยู่พักหนึ่ง แล้วค่อย ๆ ขยับขยายที่ทางตัวเองมาเรื่อย ๆ”
“Memoria เริ่มถ่ายทำตอนปี 2019 ผมไปโคลอมเบียตอนเดือนกรกฎาคม แต่ก่อนหน้านั้นมีการทำงานผ่านทางอินเทอร์เน็ต ก่อนหน้านั้นสัก 2-3 เดือน จะมีทีมงานของโคลอมเบียคอยอัปเดตข้อมูลต่าง ๆ ผ่านทางอีเมลหรือการประชุมออนไลน์ แต่ช่วงต้นปีจะมีพูดคุยกันตลอด ผมเข้ามามีส่วนในการประชุมประมาณ 3 เดือนก่อนไปโคลอมเบีย ซึ่งพอรู้ว่าจะไปถ่ายที่โคลอมเบีย เลยไปลงเรียนภาษาสเปนเองแบบคลาสจริงจังที่จุฬาฯ ซึ่งพี่เจ้ยก็มีโอกาสเรียนเหมือนกัน แต่ไม่จริงจังเท่าผม ทุกวันนี้ผมก็ยังพูดไม่ได้อยู่ดี ได้แต่เบสิก ๆ กระบวนการทำงานของผม คือเริ่มต้นตั้งแต่ตรงนั้น”
©Kick the Machine Films, Burning, Anna Sanders Films, Match Factory Productions, ZDF/Arte and Piano, 2021.
“พอมาถึงโคลอมเบีย ก็ได้เจอเดียนา (Diana Bustamante - ผู้เรียบเรียง) ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมโปรดิวเซอร์และผู้ที่ประสานงานจัดการทุกอย่างของที่นั่น ทั้งการจัดหาทีมงานแคสติ้งและฝ่ายอาร์ต แต่ก่อนหน้านี้พี่เจ้ยมาโคลอมเบียตั้งแต่ปี 2017 เพื่อเข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์การ์ตาเฮนา (Cartagena Film Festival) ซึ่งตอนนั้นเดียนาเป็นหัวหน้าฝ่ายจัดเทศกาลและเป็นคนเชิญพี่เจ้ยไป ก็น่าจะมีการคุยกันถูกคอหรือหยอดความคิดให้พี่เจ้ยมาถ่ายทำหนังในโคลอมเบีย ซึ่งพี่เจ้ยมีความคิดที่อยากถ่ายหนังในแถบละตินอเมริกาอยู่แล้ว และประจวบเหมาะกับที่พี่เจ้ยอยากทำหนังกับทิลดา สวินตัน มาเนิ่นนาน แต่หาโอกาสไม่ได้สักที”
“จริง ๆ พี่เจ้ยมีความคิดอยากพาทิลดามาอยู่ใน รักที่ขอนแก่น แต่มันคงไม่เมคเซนส์และลงตัวเท่าไร ถ้าอยู่ดี ๆ ก็มีทิลดาและบทก็คงไม่เป็นอย่างนี้ สุดท้ายคือ รักที่ขอนแก่น ควรเป็นอะไรที่ไทยล้วน ๆ มากกว่า เลยเก็บไอเดียทิลดาไว้ก่อน แล้วคงมาลงตัวกับการที่ไปโคลอมเบีย เพราะมันเป็นสถานที่ที่ทั้งพี่เจ้ยและทิลดาไม่คุ้น มันอาจเป็นสถานที่ที่เหมาะที่สองคนจะได้มาเจอกัน จะได้สร้างพลังอะไรใหม่ ๆ ขึ้นมา ฉะนั้นพี่เจ้ย เลยได้สำรวจโคลอมเบียมาพักใหญ่ ๆ แล้ว เดินตามโลเคชั่นที่เขาสนใจ ซึ่งทีมงานที่นู่นก็ได้พาไปและมองเห็นว่ามีศักยภาพที่พอจะทำหนังได้”
“ข้อดีของพี่เจ้ย คือเขาเป็นเก็บข้อมูลและรายละเอียดในชีวิตประจำวันเก่ง เจออะไรหรือสัมภาษณ์ใคร เขาก็จดเก็บไว้หมด ทั้งในสมุดและคอม เป็นเหมือนคนที่เก็บอะไรรอบตัวไปหมด แล้วนำมาประกอบเป็นเรื่องราวในหนัง ก่อนหน้านี้พี่เจ้ยก็ทำแบบนี้มาโดยตลอด ป้าเจน (เจนจิรา พงพัศ ไวด์เนอร์ - ผู้เรียบเรียง) นี่ถือเป็นขุมทรัพย์ชั้นดีของพี่เจ้ย มีเรื่องที่ขุดได้ไม่มีวันหมด เพราะป้าเจนเป็นคนความทรงจำดีมาก ประจวบเหมาะกับพี่เจ้ยประสบกับอาการ Exploding Head Syndrome ที่ได้ยินเสียงระเบิดในหัว เขาเลยเอาเรื่องส่วนตัวนั้นมาผสมกับเรื่องราวต่าง ๆ ที่เขาพบระหว่างสำรวจโคลอมเบีย”
“พอเก็บเรื่องได้สักพักหนึ่ง ก็กลับมาเมืองไทย เพื่อเริ่มต้นพัฒนาบท แล้วเดียนาก็เริ่มฟอร์มทีมขึ้นมา พอพี่เจ้ยมีบท ก็ส่งบทไปให้ แล้วเริ่มประชุมผ่านทางออนไลน์หรืออีเมล บทก็มีการปรับแก้หลายเวอร์ชั่น ซึ่งพี่เจ้ยจะเขียนเป็นภาษาอังกฤษมาโดยตลอด จะเป็นผมที่คอยแปลเป็นภาษาไทย เหมือนอย่างใน แสงศตวรรษ และ รักที่ขอนแก่น เพราะหนังพี่เจ้ยจะขอทุนต่างประเทศเป็นหลัก ถ้าเขียนเป็นไทยแล้วมาแปลเป็นอังกฤษ อาจจะหลายขั้นตอนเกินไป”
©Kick the Machine
“การประชุมออนไลน์ก็เป็นกระบวนการที่สนุกดี อย่างที่ทุกคนทราบกัน ว่านี่เป็นครั้งแรกที่ทีมงานไม่ใช่คนไทยทั้งหมด ปรกติจะเป็นทีมงานที่คุ้นเคยกัน เป็นอีกความรู้สึกหนึ่ง ก็จะมีคุยกับ อังเคลิกา เปเรีย (Angélica Perea) ที่เป็นฝ่ายอาร์ตของโคลอมเบีย ซึ่งเขาก็ต้องรีเสิร์ชประเด็นต่าง ๆ อย่างละเอียดเรื่องการทำงานของนักโบราณคดี ความเฉพาะเจาะจงของแต่ละพื้นที่ แล้วส่งรายงานทางออนไลน์มาให้พี่เจ้ยตรวจ”
“ในกองถ่ายที่โคลอมเบีย มีคนไทยแค่ 3 คน คือผม พี่เจ้ย พี่สอง (สยมภู มุกดีพร้อม - ผู้เรียบเรียง) ที่เหลือก็จะเป็นคนจากโคลอมเบีย เม็กซิโก อุรุกวัย ส่วนใหญ่จะเป็นคนแถบนั้น ซึ่งคนในกองถ่ายเยอะมาก เป็นร้อย ๆ คน ถึงหน้ากองจะไม่เยอะ แต่ก็มีทีมงานอีกหลาย ๆ ฝ่ายที่ผมก็ไม่รู้ว่ามีเหมือนกัน เช่น ฝ่ายจัดการต่าง ๆ พอเวลาออกกองถ่าย แล้วไปเยี่ยมบ้านพักพวกเขา จะเห็นว่ามีคนกลุ่มใหญ่ที่นั่งประชุมเตรียมถ่ายในซีนถัดไป ซึ่งผมจำชื่อแต่ละคนไม่ได้เลย (หัวเราะ) แม้สเกลจะใหญ่ขึ้น แต่นี่ไม่ใช่หนังฮอลลีวูดที่จะมีเงินแล้วทำอะไรก็ได้ ทุกอย่างต้องมีการคิดหน้าคิดหลังเหมือนกัน”
“ส่วนระยะเวลาในการถ่ายทำ ถ่ายทำอยู่ประมาณ 43 วัน อาจฟังดูเยอะหากเทียบกับสเกลหนังไทย แต่กับสเกลหนังต่างชาติไม่ค่อยเยอะเท่าไร อย่างผมคุยกับคนทำคอนทินิวที่เคยทำเรื่อง Roma ของอัลฟองโซ กัวร็อง (Alfonso Cuarón) เขาบอกว่า Roma ถ่ายกันเป็นร้อย ๆ วัน Memoria ถือว่าไม่เยอะไม่น้อย”
สมพจน์กล่าวเสริมถึงการสำรวจสถานที่ของอภิชาติพงศ์ในโคลอมเบียต่อว่า “พี่เจ้ยไปกลับโคลอมเบียหลายรอบมาก พอจะมีโลเคชั่นในใจอยู่ก่อนบ้าง แต่พอไปถึงจริง ๆ ก็ต้องมีการเช็คซ้ำเกือบทุกจุด ว่าถ่ายทำได้จริงไหม หากขออนุญาตไม่ได้ เราควรไปถ่ายทำที่ไหน”
“ต่อมาพอพี่สอง ตากล้องมา เราก็ไปเช็คซ้ำว่า สถานที่เป็นแบบนี้ แสงของโลเคชั่นแบบนี้ พี่สองก็จะเช็คว่า แสงเป็นยังไง ต้องสั่งอุปกรณ์อะไรเพิ่มอีกหรือเปล่า ซึ่งต้องเช็คล่วงหน้ากับฝ่ายจัดการเยอะ เพราะเรื่องนี้ถ่ายด้วยฟิล์ม 35 มิลลิเมตร ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะจัดส่งอุปกรณ์มาที่โคลอมเบีย มีปัญหาช่วงแรกอยู่เหมือนกันที่สั่งกล้องมาแล้วอุปกรณ์พัง ก็วุ่นวายประมาณหนึ่ง รวมถึงเรื่องล้างฟิล์ม เกือบทุกวันที่มีการถ่ายก็จะมีทีมงานฝ่ายรันเนอร์บินไปกลับจากโคลอมเบียไปเม็กซิโก เพื่อไปล้างฟิล์ม แล้วสแกนเช็คดูว่า ซีนที่ถ่ายไป ถ่ายได้ไหม หากไม่ได้ ก็จะถ่ายซ่อม”
©Fireflies Press
ข้ามกำแพงภาษา
จากนั้นก้องถามสมพจน์ ถึงปัญหาของการที่สมพจน์และอภิชาติพงศ์ไม่ใช่คนที่พูดภาษาสเปนเป็นหลักว่า ถือเป็นประเด็นสำคัญในกองถ่ายหรือไม่ รวมถึงใช้ระยะเวลาเท่าไรในการถ่ายทำ
สมพจน์เล่าว่า “ทางเดียนาจะเลือกคนที่สื่อสารภาษาอังกฤษได้เป็นหลัก โดยเฉพาะคนที่เป็นหัวหน้าแต่ละฝ่าย ทุกคนต้องพูดภาษาอังกฤษได้คล่องประมาณหนึ่ง ซึ่งในกองก็จะใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารเป็นหลัก ส่วนภาษาสเปนจะใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันมากกว่าที่จะใช้ในการทำงานจริง ๆ ถึงตำแหน่งเครดิตในหนังของผมจะเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ 1 ก็จริง แต่ตอนทำงานจริง ๆ ผมมีทีมผู้ช่วยผู้กำกับที่อยู่ในทีมอีก 4-5 คน ซึ่งแต่ละคนเป็นฝ่ายที่ทำงานด้านการเป็นผู้ช่วยจริง ๆ เป็นหลัก ตอนผมมาถึงแรก ๆ ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผมทำตำแหน่งอะไร (หัวเราะ) คือพี่เจ้ยพาผมไป แล้วบอกว่าเป็นผู้ช่วยพี่นี่แหละ”
“ช่วงแรกผมก็คลำทางนานเหมือนกัน อย่างในเมืองไทยมันยังมีหน้าที่ชัดเจนของผู้ช่วยแต่ละฝ่ายว่าต้องทำอะไร แต่ด้วยอุปสรรคทางภาษาหรือความต่างของพื้นที่ที่มันใหม่มากสำหรับผม ซึ่งเอาเข้าจริง ผมไม่สามารถรันกองได้ทั้งหมดหรอก มันยากมาก หน้าที่ผู้ช่วยผู้กำกับหลักจริง ๆ จึงเป็นของทีมฝั่งโคลอมเบีย ผมเป็นเหมือนหัวหน้าทีมฝ่ายประสานงาน ระหว่างทีมงานโคลอมเบียกับพี่เจ้ยเข้าด้วยกันมากกว่า”
“ความที่มันเป็นหนังที่สเกลใหญ่ขึ้น การที่พี่เจ้ยไปคนเดียวที่ไม่คุ้นคนเลย ถือว่าหนักสำหรับพี่เจ้ยเหมือนกัน ผมจึงไปช่วยทั้งในแง่การจัดการ การทำงาน การซัพพอร์ตทางจิตใจ หรือการเป็นคนคุยด้วยในแง่เชิงครีเอทีฟ เป็นหน้าที่เชิงจิปาถะ”
©Kick the Machine Films, Burning, Anna Sanders Films, Match Factory Productions, ZDF/Arte and Piano, 2021.
ก้องถามเสริมถึงเรื่องของการที่ตัวละครใน Memoria พูดภาษาสเปน ถึงแม้ว่าอภิชาติพงศ์และสมพจน์จะเรียนภาษาสเปนมาบ้าง แต่ก็อาจสื่อสารไม่คล่องแคล่ว จึงทำให้สนใจว่า การที่นักแสดงพูดภาษาสเปน ซึ่งเราฟังไม่รู้เรื่องหรือเขาอาจพูดถูกพูดผิด มันได้ตามความต้องการของอภิชาติพงศ์หรือเปล่า และมีวีธีการรับมือกับสถานการณ์นี้หน้ากองถ่ายอย่างไร
สมพจน์อธิบายว่า “จะมีการคุยกันกับทีมงานเยอะมาก สำหรับทิลดาจะมีครูสอนภาษาสเปนของเธอคอยช่วยเหลือ ส่วนนักแสดงคนอื่น ๆ จะมีครูสอนการแสดงคอยประสานงานเพื่อให้เล่นกับทิลดาได้อย่างมั่นใจ แล้วตอนซ้อมบทที่เป็นภาษาอังกฤษ ต้องคอยมาหาคำว่า บทพูดนี้ จะแปลเป็นภาษาสเปนว่ายังไง ซึ่งมีความซับซ้อนตรงที่ว่า หนังพี่เจ้ยบางฉากมันต้องดูจริง แต่บางซีนมันจะมีความกึ่งจริงกึ่งไม่จริง แล้วเราจะหาภาษาสเปนที่มันเหมาะกับคำหรือประโยคเหล่านั้นได้อย่างไร”
“ในเมื่อผมกับพี่เจ้ยก็ไม่สามารถตัดสินได้ ฉะนั้นมันเลยต้องอาศัยการปรึกษากันกับครูสอนภาษาของทิลดา ครูสอนการแสดง รวมถึงผู้ช่วย 1 ของฝั่งโคลอมเบีย หรือบางทีก็จะมีการประชุมแบบรุมทึ้งและนั่งถกว่า ในเมื่อภาษาอังกฤษเป็นแบบนี้ ภาษาสเปนควรเป็นอย่างไร แบบไหนถึงเหมาะสมที่สุดกับสถานการณ์ของตัวละคร สุดท้ายคือมันอาศัยการไว้ใจของทีมงานจริง ๆ เพราะทีมงานถือว่าเข้าใจหนัง และเราก็ต้องเชื่อตามนั้น”
“มันจะซับซ้อนอีกตอนที่พอเสร็จแล้ว ต้องไปสื่อสารกับทิลดาอีกที เพราะเธอต้องจำไดอะล็อกพวกนี้เป็นภาษาสเปน ซึ่งพี่เจ้ยก็ฟังไม่ออกอีกว่า เธอพูดถูกพูดผิดหรือพูดด้วยอารมณ์ไหน คนโคลอมเบียพูดแบบนี้ไหม แล้วภาษาสเปนแต่ละที่ก็พูดไม่เหมือนกัน มันฟังยากจริง ๆ คือพี่เจ้ยเขาฟังด้วยจังหวะหรืออารมณ์ ซึ่งตัดสินจากตรงนั้น”
นักแสดงและการทำงานกับทิลดา สวินตัน
สำหรับกระบวนการคัดเลือกนักแสดงสมพจน์เล่าว่า “ในส่วนของการแคสติ้งเป็นอะไรที่สนุกมาก คือปรกติการคัดเลือกนักแสดงในหนังพี่เจ้ย ถ้าไม่ใช่คนที่คุ้นเคยอย่างโต้ง (ศักดิ์ดา แก้วบัวดี - ผู้เรียบเรียง) หรือป้าเจน โดยมากจะแคสต์ในเมืองไทยและไม่ใช้นักแสดงมืออาชีพ ปรกติจะเป็นผมและผู้ช่วย 2 หรือ 3 ช่วยดู แต่เรื่องนี้คือมีทางทีมโคลอมเบียช่วยทำงาน ซึ่งเราแจ้งว่าเราต้องการให้เขาแคสต์แบบไหน แต่สิ่งที่เขาทำ คือเขาไม่ได้เลือกนักแสดงที่ไม่ใช่มืออาชีพ แต่เลือกนักแสดงมืออาชีพที่เข้าใจบริบทหนังของพี่เจ้ย จังหวะแบบหนังพี่เจ้ย ซึ่งก็ผ่านขั้นตอนที่ซับซ้อนและหายากประมาณหนึ่ง”
“อย่างบทของ ฆวน ปาโบล อูร์เรโก (Juan Pablo Urrego) ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวละครสำคัญที่ชื่อเออร์นาน ก็จะมีการแคสต์ผู้ชายที่อยู่ในวัยนี้หลายคน ซึ่งทางนู้นก็ส่งคลิปวิดีโอมาให้ดู ผมกับพี่เจ้ยก็นั่งดูว่าใครน่าจะเหมาะกับบทที่สุด ที่เลือกคนนี้เพราะเขาเล่นดี มีความนิ่งอะไรบางอย่างที่พี่เจ้ยชอบ คืออยู่เฉย ๆ ก็น่าสนใจ พอจินตนาการตามว่าทิลดาจะเล่นแบบไหนและนึกว่าใครที่พอจะรับมือกับวิธีการเล่นของทิลดาได้ หรือมีลุคอะไรที่ไม่ได้ดูโดดออกจากกันมาก เพราะทิลดาเป็นคนที่ขาวมาก เลยยากที่จะหาใครมาแมตช์กันได้ง่าย”
“ทิลดาเวลาเดินตามท้องถนนในเมืองโบโกตา ส่วนใหญ่คนจะจำทิลดาได้จาก Narnia ซ้อม ๆ อยู่จะมีคนตะโกนว่านาร์เนียเข้ามา (หัวเราะ) คือเธอน่าสนใจมาก อย่างที่เห็นว่าเธอลุคโดดเด่นมาก ๆ จะทำยังไงให้เธอกลมกลืนไปกับหนังได้ อันดับแรกที่ต้องทำคือทรงผม ซึ่งก่อนถ่ายก็มีการเตรียมตัวว่า ทิลดาต้องมีสีผมยังไง ต้องปล่อยผมยาวประมาณไหน มีการเลือกทรงผมทิลดาและโฟโตช็อปกันหลายรอบมาก ว่าประมาณนี้ดีไหมที่เหมาะกับคาแรคเตอร์ ดูเป็นธรรมชาติและไม่เฟคจากทิลดาเกินไป พอมาถึงก็ย้อมผมที่ร้านทำผมกัน 3-4 รอบ กว่าจะได้สีที่เหมาะ และนำไปสู่การทำงานของทีมคอสตูมที่ทำงานหนักเช่นกัน เพราะเอาเสื้อผ้าอะไรไปใส่ในตัวทิลดา ก็ดูเก๋ ดูแฟชั่นไปหมด (หัวเราะ) ทำยังไงที่จะกดเธอลงมาให้ได้มากที่สุด แต่ยังดูธรรมชาติและไม่พยายามจนเกินไป จะหาความสมดุลของคาแรคเตอร์นี้ยังไง ซึ่งทิลดาทำงานง่ายมาก อย่างหาเสื้อผ้าอะไรให้เธอใส่ เธอก็ใส่ อย่างวันที่ลองฟิตติ้ง เปลี่ยนกันเยอะมาก เพราะว่าไม่ใช่แค่เสื้อผ้าของเธอ แต่ต้องดูด้วยว่าเธอจะแมตช์กับของคนอื่นไหม เธอก็ยืนให้เป็นหุ่นลองเสื้อเลย คือ Memoria ทิลดาเป็นตัวละครยืนทั้งเรื่อง ขณะที่ฌานน์ บาลิบาร์ (Jeanne Balibar) ก็จะแสดงความคิดเห็นเยอะต่อชุดที่เธอใส่ ว่าชุดนี้จะเหมาะกับเธอเหรอ คาแรคเตอร์ของเธอมันน่าจะแต่งแบบนี้ ส่วนทิลดาบอกจะให้ฉันลองอะไรก็บอกมา (หัวเราะ)”
©Sandro Kopp
“คือทิลดาเป็นคนน่ารักมาก เป็นความโชคดีของทีมงาน ซึ่งจะกลัวว่าทิลดาเป็นคนยังไง เธอจะทำงานยากหรือเปล่า แต่นี่คือไม่มีเลย คือในแง่การแสดงเธอมืออาชีพอยู่แล้ว อย่างซ้อมปุ๊บ เหมือนจัดให้และสั่งได้ พอพี่เจ้ยบอกให้ลองแบบนี้ ก็ดีเลย พอเล่นจริงเธอเก็บรายละเอียดได้ทุกเม็ด แล้วจัดรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ แบบที่พี่เจ้ยต้องการได้หมดเลย คือรู้สึกเลยว่าการทำงานกับคนที่เป็นมืออาชีพจริง ๆ มันเป็นแบบนี้นี่เอง ต่อให้ซีนยาวแค่ไหน แล้วบอกว่าตรงนี้ต้องมีโมเมนต์นี้นิดนึง เธอก็จัดให้ได้หมดเลย อีกอย่างคือเธอไม่ใช่คนที่อินอยู่กับบทตลอดเวลา ทันทีที่มีการสั่งคัตปุ๊บ เธอก็สนุกสนานอะไรของเธอกับทีมจัดไฟไป แล้วพอกลับมาอยู่หน้ากอง เธอก็เข้าอารมณ์ต่อได้ทันที เป็นคนที่มหัศจรรย์มาก”
“สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกประทับใจในแง่ความเป็นมืออาชีพ คือเธอไม่เคยมองตัวเองเป็นนักแสดง แต่เธอมองว่าตัวเองเป็นหนึ่งในทีมเทคนิคเหมือนกับทีมงานทุกคน ที่ไม่ต่างจากคนจัดไฟหรือคนเข็นดอลลี เพียงแต่ว่า สิ่งที่เธอมอบให้คือการแสดงของเธอ หรืออย่างจะมีซีนบางซีนที่ต้องใช้นักแสดงสแตนด์อิน เธอก็จะไม่ยอม ขอลองซ้อมหรือเล่นเองทุกอย่าง เป็นคนที่ไม่ถือตัวเลย เวลากินข้าวในกองถ่าย ก็จะต่อคิวและนั่งกินเหมือนคนในกองทุกอย่าง และเธอชอบปาร์ตี้มาก (หัวเราะ) เอะอะก็จะปาร์ตี้ เหมือนอยากจะให้ทีมงานมีความสุขตลอดเวลา ซึ่งคนละตินก็พร้อมจะปาร์ตี้ตลอดเวลาอยู่แล้ว เต้นกันมันมาก คือเป็นความโชคดีของผมมากที่ได้ร่วมงานกับเธอ”
เสียงจากโปรดิวเซอร์ไทย
หลังจากจบจากการพูดคุยกับสมพจน์ ถัดมาเข้าสู่ช่วงการพูดคุยกับทีมผู้อำนวยการสร้างจากประเทศไทย ได้แก่ คัทลียา เผ่าศรีเจริญ และ โสฬส สุขุม แห่ง 185 Films โดย คัทลียาเริ่มต้นเล่าสู่การเข้ามาทำงานในโปรเจกต์ Memoria ว่า “เริ่มต้นจากพี่เจ้ยชวน แล้วเรากลับมาดูศักยภาพว่าทุนจากเมืองไทย จะหาได้จากที่ไหนบ้าง ซึ่งมันต้องเป็นไปในลักษณะเงื่อนไขที่มาจากผู้สนับสนุนหรือสปอนเซอร์มากกว่านักลงทุน ตอนเรารู้จักพี่เจ้ยครั้งแรก จำได้ว่ามีคนเอาภาพวิดีโอที่พี่เจ้ยนั่งบนฟุตปาธ หลังเพิ่งออกจากบริษัทเพื่อขอทุนทำหนังแล้วไม่ได้ ทีนี้เห็นว่า Memoria มีผู้สนับสนุนหลายประเทศมากแล้ว ทำไมถึงไม่มีการสนับสนุนจากในประเทศด้วย เพื่อสนับสนุนผลงานคนที่เป็นศิลปินทั่วโลกให้การยอมรับและนับถือในตัวผลงาน ตรงนี้เป็นแรงขับหลักเลยในการที่จะลองต่อสู้ดู คิดว่าน่าจะหาทุนง่าย ไม่น่าลำบาก แต่เอาเข้าจริง ไม่ใช่แบบนั้นเลย มันเป็นมหากาพย์ของการรวมตัวของคนที่ต้องการสนับสนุนโปรเจกต์นี้ ด้วยเงื่อนไขที่เรารู้สึกว่า จะทำยังไงให้มันแมตช์กับสิ่งที่พี่เจ้ยต้องการ”
โสฬสเสริมว่า “จริง ๆ หนังของพี่เจ้ย ทุนส่วนใหญ่มาจากยุโรปอยู่แล้ว เข้าใจว่าพี่เจ้ยน่าจะเลือกแล้วว่า จะหาทุนจากต่างประเทศและร่วมทุนกับโปรดิวเซอร์ต่างประเทศ เราสองคนรู้สึกภูมิใจมากที่ได้ทำเรื่องนี้ เพราะผมเคยฝึกงานตอนทำหนังเรื่องแรกของพี่เจ้ยเรื่อง ดอกฟ้าในมือมาร แล้วมันเปลี่ยนชีวิตผมไปเลยในการทำหนัง ทำให้การมาเป็นคนโปรดิวซ์หนังอิสระจนถึงทุกวันนี้”
“พอพี่เจ้ยชวนหลังจากนั้น เราสองคนได้ไปเจอไซมอน ฟิลด์ (Simon Field) ที่คานส์ แล้วคุยรายละเอียดการร่วมทุนสร้าง แล้วไซมอนก็ไปชวนเดียนา ที่เป็นทีมอำนวยการสร้างหลักจากโคลอมเบียมาเจอกัน ซึ่งตอนที่คุย เดียนาเล่าให้ฟังว่า ตอนนี้มีทุนที่ไหนบ้าง ทั้งจีนของเจี่ยจางเค่อ (บริษัท Xstream Pictures - ผู้เรียบเรียง) เราก็ฟังไป แต่ในใจคิดว่ายังไงเราก็ทำ (หัวเราะ) เพราะเบอร์นี้มากันแต่ละคน เป็นโอกาสที่ดีในการทำสิ่งนี้ จะมีหรือไม่มีทุน ยังไงเราก็ทำ ต้องหาให้ได้ เราสองคนก็มองหน้ากัน คิดว่าเป็นอภิชาติพงศ์ ยังไงก็ไม่ยากหรอก แต่เอาเข้าจริงยากเหมือนกัน ซึ่งเดียนาเป็นคนน่ารักมาก เข้าใจและรู้สึกเหมือนไม่ได้ทำงานกับคนต่างชาติ หรืออย่างทีมโพสต์ก็เป็นคนที่เราคุ้นเคยอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น ลี ริศ หรือริชาร์ด ฮอร์กส์ เวลาทำหนังอิสระ ก็ทำด้วยกันอยู่แล้ว”
“สรุปเรื่องนี้มีเงินไทยเป็นผู้สนับสนุน ทั้ง White Light ที่เป็นผู้สนับสนุนหนังอิสระไม่เฉพาะในไทย แต่ทั่วทั้งเซาธ์อีสต์เอเชีย ทั้งกันตนา จากสถาบันศิลปะอย่าง 100 Tonson Gallery บริษัทโก๋แก๋ที่เราคุ้นเคยกัน คุณฟ้าใสจาก CASE Space Revolution คุณพิชัย จิราธิวัฒน์ จาก Spicy Disc ทุกคนเล็งเห็นว่า เป็นโอกาสสำคัญที่จะไม่ให้ความช่วยเหลือไม่ได้ จริง ๆ แล้วก็ยากมาก พอเราต้องเริ่มหาทุน ก็เริ่มมีคนแคนเซิล เพราะเห็นว่าเป็นอภิชาติพงศ์ มันมีความยากตรงนี้ด้วย ต่อให้เราพูดยังไง ถ้าหากเขามีความรู้สึกว่า เขามองหนังพี่เจ้ยแล้วพี่เจ้ยต้องทำหนังที่มันเซนซิทิฟกับตัวสังคมและการเมือง ซึ่งอาจรู้สึกว่า มันอาจไม่ใช่หนังที่เขาควรจะให้การสนับสนุนเลย”
เมื่อมีผู้ฟังถามถึงการสนับสนุนจากรัฐ โสฬสกล่าวว่า “ได้รับส่วนหนึ่งจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ซึ่งไม่ใช่ทุนหลักที่มอบให้กับหนังโดยตรง แต่ให้ผ่านพี่สอง สยมภู ซึ่งได้รับรางวัลศิลปาธรที่คัดเลือกโดยกระทรวงวัฒนธรรมปีนั้นพอดี แล้วพี่สองก็นำทุนส่วนนั้นมาลงด้วย ตอนเครดิตก็มีขึ้นบอกว่าได้รับทุนจากที่นี่”
©Kick the Machine Films, Burning, Anna Sanders Films, Match Factory Productions, ZDF/Arte and Piano, 2021.
คัทลียา กล่าวปิดท้ายถึงสิทธิ์และแผนในการเข้าฉายที่ประเทศไทยว่า “เพิ่งคุยกับพี่เจ้ยว่า อยากนำหนังเรื่องนี้เข้าฉายในไทย โดยมีกำหนดการประมาณปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ด้วยสถานการณ์โควิด ณ ขณะนี้ จึงค่อนข้างรู้สึกว่ายากในการวางแผน มันกระทบทั้งอุตสาหกรรมไปหมดเลย ทั้งออกกองไม่ได้และมีข้อจำกัดเยอะ ทั้งเรื่องวัคซีนและต้องดูยอดผู้ติดเชื้อให้ลดลงถึงเข้าโรงหนังได้ รวมทั้งพี่เจ้ยมีคิวการแสดงทุกเดือนหลังจากนี้เป็นต้นไป ทั้งในและต่างประเทศ เพราะอย่างที่ทุกคนทราบ อยากให้มีโอกาสได้ดูในโรงหนังจริง ๆ และขอให้ตัวโรงหนังให้พื้นที่กระจายไปถึงทุก ๆ คนด้วย”
พ่อมดแห่งเสียง
นอกเหนือจากสมพจน์และคัทลียากับโสฬส ยังมีทีมงานด้านกระบวนการหลังการถ่ายทำ (Post-production) เข้ามาร่วมพูดคุยถึงเกร็ดเบื้องหลังที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Memoria หลายประเด็น
เริ่มต้นจาก อัคริศเฉลิม กัลยาณมิตร นักออกแบบเสียง ผู้ร่วมงานกับอภิชาติพงศ์มาแล้วหลายเรื่อง ซึ่ง “เสียง” ใน Memoria นับเป็นอีกหนึ่งในส่วนประกอบสำคัญที่หลาย ๆ คนกล่าวถึง โดยอัศริศเฉลิมได้มาให้ข้อมูลในส่วนของการทำงานด้านเสียงว่า “เป็นครั้งแรกที่ได้ทำงานทางไกลกับต่างประเทศ เนื่องจากคนตัดต่อเสียง ออกแบบซาวนด์ เอฟเฟกต์ โฟลีย์ และวางแอมเบียนต์บางส่วน เป็นชาวเม็กซิกันทั้งหมด ส่วนงานดีไซน์ด้านอื่น ๆ ผมและโคอิชิ ชิมิซึ เป็นคนทำ เป็นการทำงานโดยการคุยกันหนึ่งครั้งผ่านโปรแกรมซูม จากนั้นจึงมีการส่งไฟล์ผ่านกันไปมา หากอยากแก้อะไรก็จะมีการคอมเมนต์ถึงกัน ส่วนการมิกซ์เสียง ทำที่สตูดิโอกันตนา ซึ่งผมไม่เคยทำงานในลักษณะนี้มาก่อน”
อัคริศเฉลิม กล่าวต่อถึงกระบวนการในการออกแบบเสียง Bang! หรือ ปัง! ซึ่งเป็นเสียงที่ตัวละครของทิลดา สวินตันประสบและเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของเรื่องว่า
“เสียง ๆ นี้เริ่มต้นมาจากโปรเจกต์ Fever Room ที่เล่นในโรงละครทั่วโลก เสียงนี้มันเป็นหนึ่งในส่วนประกอบที่อยู่และเริ่มต้นพัฒนามาจากตรงนั้น คงเป็นเสียงที่เกิดขึ้นอยู่ในหัวพี่เจ้ยมาจากตอนนั้น แล้วผมทำหน้าที่เป็นคนแปลเสียงที่อยู่ในหัวเขาออกมาทางลำโพงในโรงภาพยนตร์ ซึ่งก็ส่งให้พี่เจ้ยฟังมาตลอด ไม่ต่ำกว่า 50-60 แบบ เพราะต้องเดาว่าพี่เจ้ยจะชอบแบบไหน เหมือนเราทำอาหาร เดารสชาติดูว่า เขาน่าจะชอบรสนี้”
©Kick the Machine Films, Burning, Anna Sanders Films, Match Factory Productions, ZDF/Arte and Piano, 2021.
"ส่วนการมิกซ์เสียงเรื่องนี้ ทำอยู่ 2 ระบบ คือ 7.1 และ Dolby Atmos สำหรับ Dolby Atmos มันช่วยให้หนังมีความรู้สึกกว้างขึ้น ถึงอาจไม่มีเอฟเฟกต์อะไรที่วิ่งไปวิ่งมาเหมือนอย่าง Star Wars แต่ให้บรรยากาศที่ฟังแล้วรู้สึกสบาย ๆ มากกว่า สำหรับสิ่งที่ยากที่สุด คือจะทำยังไงให้เสียงอยู่กับทิลดาได้มากที่สุด ทั้งการแสดงและการเป็นเขาที่มันทรงพลังมาก เราจะทำเสียงยังไงให้มันอยู่ตรงนั้น โดยไม่ด้อยกว่า โดดขึ้นมา หรือบดบังการแสดงที่อยู่บนจอเกินไป”
สมพจน์กล่าวเสริมอัคริศเฉลิมถึงเสียง Bang! ว่า “บางซีนเกิดจากตอนทำโพสต์โปรดักชั่น เช่น ซีนในห้อง Mixing Room ในตัวอย่างหนัง แต่หลัก ๆ เสียงนี้ คือเสียงพี่เจ้ยตะโกนว่า Bang! ใส่ทิลดา (หัวเราะ)”
มือตัดต่อคู่บุญ
ด้าน ลี ชาตะเมธีกุล นักตัดต่อภาพยนตร์ซึ่งร่วมงานกับอภิชาติพงศ์มาตั้งแต่ผลงานขนาดยาวลำดับที่ 2 อย่าง สุดเสน่หา (Blissfully Yours) ได้บอกเล่าถึงกระบวนการตัดต่อ ต่อข้อสงสัยจากผู้ฟังว่า การตัดต่อภาพยนตร์ของอภิชาติพงศ์ต้องอาศัยบทหรือเปล่า โดยลีแสดงความเห็นได้อย่างน่าสนใจว่า “หลาย ๆ คนชอบคิดว่า พี่เจ้ยถ่ายแบบไม่มีบท แต่จริง ๆ ในกระบวนการผลิตและการขอทุนหนังมันต้องมีบท แล้วพวกระยะเวลาความยาวของช็อต จังหวะการแสดงของนักแสดงต่าง ๆ พี่เจ้ยจะเป๊ะมาก มีระบุตั้งแต่ในบทว่า ช็อตนี้ต้องยาวกี่นาที ซีนนี้จะยาวเท่าไร หนังทั้งเรื่องจะยาวแค่ไหน แล้วเวลาถ่ายแกจะคอยรีเช็คตลอดว่า เวลามันตรงกับบทหรือเปล่า พอมาตัดเลยจะมีโครงฟุตเทจที่พอดูได้อยู่แล้ว หลังจากนั้นก็เอามาเรียงทั้งเรื่องว่า จะปรับแก้ยังไงบ้าง เป็นแบบที่พี่เจ้ยคิดไว้หรือเปล่า”
© Photo: Sandro Kopp © Kick the Machine Films, Burning, Anna Sanders Films, Match Factory Productions, ZDF-Arte and Piano, 2021
ลี กล่าวเสริมต่อถึงการตัดต่อ Memoria ว่า “รู้สึกเซอร์ไพรส์ที่พี่เจ้ยอุตส่าห์ไปถ่ายไกลถึงโคลอมเบีย แต่ฟุตเตจที่ได้กลับมาเหมือนอยู่เมืองไทย มันยังเป็นบรรยากาศที่ยังเป็นพี่เจ้ยอยู่ดี วิธีการมองโลกและวิธีการถ่ายทอดแลนด์สเคปต่าง ๆ ของที่นั่น รู้สึกค่อนข้างมีความคุ้นเคยกับภาพที่กำลังเห็นอยู่ แต่สิ่งที่แตกต่างที่สุดที่รู้สึกคือ การมีทิลดามาเล่น เพราะไม่เคยตัดหนังพี่เจ้ยที่มีนักแสดงแบบทิลดามาเล่น มันไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับการแสดงหรือฝีมืออะไรแบบนั้น เป็นออร่าบางอย่าง คือทั้งโต้งและป้าเจนต่างมีออร่า แต่ออร่าของทิลดามันเป็นอีกแบบหนึ่งที่เราไม่เคยเจอในหนังพี่เจ้ย ซึ่งนี่คือสิ่งที่ต้องปรับตัวมากที่สุดในการทำงานในหนังเรื่องนี้”
“ส่วนวิธีการตัดคล้าย ๆ เรื่องเดิมของพี่เจ้ย แม้จะเป็นภาษาสเปน แต่ก็ไม่ค่อยรู้สึกต่างกัน เหมือน ลุงบุญมีระลึกชาติ ที่ไม่ใช่ภาษาอีสานธรรมดาแบบเราฟังออก พอตัดมาเราก็เพิ่งเข้าใจบางซีนตอนวางซับ พอเป็นภาษาสเปน ก็เลยไม่ค่อยต่างกัน จริง ๆ เราชอบตัดหนังที่เราฟังไม่ค่อยออก เพราะมันทำให้เราหลุดจากเหตุผลของภาษา และช่วยทำให้เราเข้าใจในพื้นฐานของความเป็นหนัง ทั้งภาพและภาษาการแสดงของนักแสดง คือสุดท้ายภาษามันก็มีเสียงคล้าย ๆ กันในทุก ๆ ภาษา ทั้งโกรธ ชอบ ดีใจ หรือเศร้า เราก็สามารถใช้วัดประสิทธิภาพของนักแสดง แม้จะไม่เข้าใจสิ่งที่เขาพูด แต่อาจเป็นปัญหากับเจ้าของภาษาอีกทีหนึ่ง เพราะมันอาจตกหล่นไปบางประโยคบ้างโดยที่เราไม่รู้ตัว รู้สึกชอบในการตัดหนังในภาษาที่เราไม่เข้าใจ เพราะมีความบริสุทธิ์ในการทำงานบางอย่างพอสมควร”
“การเลือกเทคใน Memoria ซีนหนึ่งมีไม่กี่คัต คิดว่าน่าจะโอเคแล้วมาจากหน้ากอง ตอนตัดเราก็วางด้วยเทคนั้นก่อน พอมาตัดกับพี่เจ้ยหรือโบ๊ต ก็มาดูว่ามีเทคอื่นที่ดีกว่าหรือเปล่า ที่ประหลาดใจมาก คือเป็นเรื่องที่มีเทคยาวที่สุดของพี่เจ้ยที่เคยตัดมา เพราะมันถ่ายด้วยฟิล์ม 35 มม. ซึ่งเรื่องก่อนหน้านี้อย่าง รักที่ขอนแก่น ถ่ายด้วยดิจิทัล แล้วควรจะมีเทคที่ยาวมากกว่า พอได้ฟุตเตจกลับมา ก็งงเหมือนกันว่าทำไมถึงถ่ายฟิล์ม 35 มม. ได้ยาวขนาดนี้ รู้สึกตื่นเต้นดี”
©Kick the Machine Films, Burning, Anna Sanders Films, Match Factory Productions, ZDF/Arte and Piano, 2021.
Long Live Cinema!
ภายหลังดำเนินการสนทนาผ่านมากว่า 4 ชั่วโมง ช่วงท้ายของกิจกรรม อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ได้เข้ามาทักทายและบรรยายถึงความรู้สึก ภายหลังการฉายรอบปฐมทัศน์โลกของ Memoria จบลง พร้อมกับได้รับเสียงปรบมืออย่างกึกก้องเป็นเวลายาวนานกว่า 14 นาที โดยอภิชาติพงศ์กล่าวด้วยน้ำเสียงปลื้มปิติว่า “รู้สึกประทับใจ ถ้าเป็นภาษาอังกฤษเรียกว่า Overwhelmed คือมันตื้นตัน เพราะเราทำเรื่องนี้มานาน ทีมงานก็ลำบากมาด้วยกัน มันเป็นหนังที่พิเศษมาก เพราะไม่รู้มันคืออะไร เลยคาดเดาไม่ได้ว่าผู้ชมจะตอบสนองยังไงกับมัน มีเสียงหัวเราะบ้างระหว่างดู แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเงียบหมดเลย เลยคาดเดาไม่ออก แต่พอจบเหมือนทุกคนตกอยู่ในภวังค์ตัวเอง เพราะที่ตกลงกัน คือบอกว่าไม่ให้เปิดไฟในช่วงเครดิตขึ้น พอเครดิตมาคนก็ปรบมือแล้ว จากนั้นก็เริ่มเยอะขึ้นเรื่อย ๆ แล้วพอไฟเปิดขึ้น บรรยากาศก็เหมือนโรงแตก”
อภิชาติพงศ์ กล่าวต่อถึงทีมผู้อำนวยการสร้าง ซึ่งได้เข้ามารับชมร่วมกันว่า “หลาย ๆ คนยังไม่เคยชม ทุกคนต่างน้ำตาซึมกันหมด มันเป็นประสบการณ์ที่แชร์ร่วมกัน เหมือนกับดูผ่านลิงก์แล้วมันไม่เวิร์ก ทุกอย่างในเรื่องนี้มันเหมือนกับอยู่ในความฝัน แล้วเทศกาลเหมือนรู้ว่า เราเป็นคนไม่ชอบพูด ช่วงปรบมือเธียรี เฟรโมซ์ (Thierry Frémaux) เข้ามากระซิบว่า ไม่ได้แล้วนะ รู้ว่าเธอไม่ชอบพูด แต่สถานการณ์นี้จำเป็นแล้ว เราก็พูดขอบคุณทีมงาน นักแสดง โปรดิวเซอร์ และทุกคนที่มาจอยจากการล็อกดาวน์ มาแชร์แสงและเสียง เพราะเรื่องนี้มันพูดเรื่องแค่นี้ แล้วเราก็พูดว่า Long Live Cinema! คนก็เฮ”
©Valentina Claret - AFFIF
“รู้สึกอยากขอบคุณมาก วันนี้ขอบคุณทุกคนไปตลอดเวลา ทั้งโปรดิวเซอร์จากโดฮา (Doha Film Institute - ผู้เรียบเรียง) จากจีน จากโคลอมเบีย 20 กว่าคนที่เฮกันผ่านทาง WhatsApp อยากขอบคุณทีมงานเมืองไทยมาก ๆ ช่วงนั้นยังไม่มีโอกาส อยากขอบคุณมา ณ ที่นี้ เพราะรู้สึกว่ามันเป็นงานหินเหมือนกัน และเราหลงเยอะเหมือนกันว่า มันคืออะไร อย่างการตัดต่อกับลี เราก็สเก็ตช์โครงสร้างแผนมาไม่รู้กี่รอบ ต้องขอบคุณลีมากที่มีความอดทนและร่วมทดลองไปด้วยกัน ขอบคุณริศด้วยที่ทำให้เสียงเรื่องนี้หล่อมาก เป็นพระเอกเลย ทำกันจนถึงขั้นสุดท้าย เพราะเมื่อคืนอยู่ที่นี่จนถึงตีสาม เพื่อที่จะปรับเทียบเสียงในโรง ส่งข้อความหาและริศก็แนะนำจนถึงวันพรีเมียร์ รวมถึงดิว (ชัยธวัช ไตรสารศรี - ผู้เรียบเรียง) จาก White Light ทีมโปรดิวเซอร์ ทั้งบี๋และทองดี โบ๊ต และพี่สอง”
ช่วงท้ายของการสนทนามีการอวยพรวันเกิดล่วงหน้า (16 กรกฎาคม) ให้กับอภิชาติพงศ์ รวมถึงโสฬส สุขุม ที่เกิดในวันดังกล่าว ก่อนจะปิดท้ายกิจกรรม โดย โดม สุขวงศ์ ผู้ก่อตั้งหอภาพยนตร์และนักอนุรักษ์ภาพยนตร์เกียรติคุณ ซึ่งกล่าวว่า “รู้สึกตื่นเต้น ปิติ และเห็นด้วยกับ อ.ปิยบุตร ที่บอกว่า ให้เจ้ยเป็นพลเมืองโลก ทำหนังแก่ชาวโลก Long Live Cinema!”
Memoria ได้รับรางวัลขวัญใจคณะกรรมการ (Prix du Jury) จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ครั้งที่ 74 ร่วมกับภาพยนตร์เรื่อง Ahed’s Knee ของผู้กำกับชาวอิสราเอล นาดาฟ ลาพิด (Nadav Lapid) โดยถือเป็นครั้งที่ 2 ที่อภิชาติพงศ์ได้รับรางวัลในสาขานี้ หลังจากเคยได้รับรางวัลดังกล่าวครั้งแรกจากภาพยนตร์เรื่อง สัตว์ประหลาด! (Tropical Malady) เมื่อปี ค.ศ. 2004
โดยอภิชาติพงศ์ได้ขึ้นกล่าวภายหลังรับรางวัลบนเวที ซึ่งแปลเป็นภาษาไทย โดย ก้อง ฤทธิ์ดี ว่า “ผมโชคดีที่ได้มายืนอยู่ตรงนี้ ในขณะที่เพื่อนร่วมชาติของผมจำนวนมากเดินทางไม่ได้ หลายคนต้องเผชิญกับความลำบากอย่างสาหัสจากโรคระบาด เพราะความผิดพลาดในการบริหารงานของรัฐ การจัดการทรัพยากร งานสาธารณสุข และการเข้าถึงวัคซีน ผมขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและรัฐบาลโคลอมเบีย รวมทั้งรัฐบาลประเทศอื่น ๆ ที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกัน ขอให้ตื่นขึ้นและทำงานเพื่อประชาชนของพวกคุณ เดี๋ยวนี้”
สามารถติดตามข่าวสารและรายละเอียดการฉายเพิ่มเติมของ Memoria ได้ที่ https://www.facebook.com/kickthemachine.official