นิทรรศการปฐมกาลภาพยนตร์ในสยาม

หอภาพยนตร์กำหนดให้วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2440 เป็นวันกำเนิดภาพยนตร์ในประเทศไทย จากหลักฐานในหน้าหนังสือพิมพ์บางกอกไตมส์ที่ลงประกาศว่าจะมีการจัดฉายภาพยนตร์เก็บค่าเข้าชมในวันดังกล่าว เมื่อยังไม่มีการค้นพบว่ามีการจัดฉายหนังเก็บค่าดูจากสาธารณชนในสยามก่อนหน้านี้ การฉายหนังครั้งนั้นจึงเป็นครั้งแรก ถือเป็นวันที่มหรสพภาพยนตร์เกิดขึ้นในสยามอย่างเป็นทางการ โดยหอภาพยนตร์ได้จัดงาน “ฉลองวันเกิด” ภาพยนตร์ในประเทศไทยเรื่อยมา เพื่อถ่ายทอดข้อมูลองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับวันสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ของประเทศให้สาธารณชนได้รับรู้ 


ในโอกาสครบรอบวันเกิดปีที่ 124 เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา หอภาพยนตร์ได้จัดกิจกรรมออนไลน์เปิดตัวนิทรรศการชุดใหม่ที่ทำขึ้นเฉลิมฉลองวาระสำคัญนี้อีกครั้ง ในชื่อ ปฐมกาลภาพยนตร์ในสยาม (Genesis: Video installations inspired by the birth of cinema in Siam) เป็นนิทรรศการแสดงงานวิดีโอจัดวางที่สร้างสรรค์โดยศิลปินรุ่นใหม่ 5 ท่าน ซึ่งได้รับโจทย์ให้ถ่ายทอดเรื่องราววันกำเนิดภาพยนตร์ในสยามผ่านมุมมองแนวคิดของตน ผลิตเป็นผลงาน Video installation จำนวน 5 ชิ้นงาน จัดแสดง ณ ห้องนิทรรศการ ชั้น 3 อาคารสรรพสาตรศุภกิจ ซึ่งแต่ละงานล้วนตีความ วิพากย์ และตั้งคำถามกับ “วันกําเนิดภาพยนตร์ในสยาม” ตามสไตล์คนรุ่นใหม่อย่างน่าสนใจ 


นิทรรศการปฐมกาลภาพยนตร์ในสยาม เริ่มต้นเส้นทางเข้าชมด้วยการจัดแสดงจากหอภาพยนตร์ เป็นการโหมโรงและเกริ่นนำผู้ชมด้วยข้อมูลประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับวันกำเนิดภาพยนตร์ให้ได้ทราบที่มาที่ไป พื้นหลังและภาพรวม หลักฐานที่ค้นพบ ตลอดจนการประกอบสร้างข้อมูลเหล่านั้นขึ้นเป็นโมเดล จำลองบรรยากาศของการฉายหนังครั้งแรกเพื่อให้ผู้เข้าชมเห็นภาพยิ่งขึ้น ถัดมาจึงเป็นโซนสำหรับจัดแสดงงานวิดีโอจัดวางของ 5 ศิลปิน 


 

ชีวิตหมุนไป / Rolling Life 

ศิลปิน: ThaDa lab 



งานที่ตั้งใจนำฟิล์มมาใช้เป็นพระเอกในการจัดแสดง เพื่อรำลึกถึงกำเนิดของภาพยนตร์ที่เริ่มต้นจากแผ่นฟิล์ม ศิลปินเลือกใช้ฟิล์มถ่ายรูป 120 ซึ่งมีขนาดเพียง 6 x 4.5 ซม. มาทำหน้าที่ทั้งแสดงภาพและรับภาพ ทำให้เสน่ห์อย่างหนึ่งในการชมผลงานชิ้นนี้ก็คือ ผู้ชมต้องเข้ามาดูผลงานใกล้ ๆ คล้ายกับการดูหนังในยุคแรกเริ่มแบบถ้ำมองที่ผู้ชมต้องส่องดูผ่านช่องทีละคน เนื้อหาเรื่องราวจะถูกเล่าผ่านแอนิเมชัน 2 มิติที่มาปรากฏตัวอยู่บนแผ่นฟิล์ม ประกอบเสียงบรรยายของ โดม สุขวงศ์ ผู้ก่อตั้งหอภาพยนตร์และเป็นผู้ที่ค้นพบหลักฐานการฉายหนังครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2440 โดย ธวัชชัย ดวงนภา หนึ่งในศิลปินคู่ในนาม ThaDa lab ได้ขยายความถึงผลงานของพวกเขาว่า “เหตุผลที่อยากผูก 2 อย่างเข้าด้วยกันคือตัวแอนิเมชันที่เราวาดทุกอย่างเป็น Frame-by-Frame เหมือนกับหลักคิดของการถ่ายทำภาพยนตร์ที่เป็น Frame-by-Frame เหมือนกัน” 



♤(โพธิ์) / ♤(Pho) 

ศิลปิน: สะรุจ ศุภสุทธิเวช 




เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ที่แตกต่างกันของช่วงเวลาผ่านสถานที่เดียวกันในจุดที่มีการฉายภาพยนตร์ครั้งแรก ควบคู่ไปกับคำบอกเล่าของคนในชุมชนย่านสามยอดที่บรรยายบรรยากาศของพื้นที่นี้ในอดีตเมื่อ 40 ปีก่อน วิดีโอจัดวางของเขาวางองค์ประกอบด้วยทีวี 3 จอที่แขวนล้อมรอบต้นโพธิ์ประดิษฐ์ ตัวแทนของต้นโพธิ์ใหญ่ที่ปัจจุบันยืนตระหง่านอยู่ถัดจากสถานีรถไฟใต้ดินสามยอด สถานที่ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นที่ตั้งของโรงละครหม่อมเจ้าอลังการ โดยมีทีวีอีกจอแสดงภาพสามมิติของหลักหมายที่หอภาพยนตร์เคยปักไว้เพื่อประกาศจุดนับหนึ่งประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ของประเทศ ถูกจัดวางซุกตัวอยู่มุมห้องราวกับจะบอกว่าสิ่งเหล่านี้ยังคงหลบเร้นจากการรับรู้ของผู้คน  



ที่ระลึก / Recollective Space 

ศิลปิน: ณัท เศรษฐ์ธนา 




การเข้ามาของประดิษฐกรรมภาพยนตร์ล้วนเกี่ยวพันกับการเดินทาง ประเด็นนี้ถูกตกตะกอนอยู่ในงานวิดีโอจัดวางของศิลปิน โดยเขาได้นำภาพยนตร์เรื่อง A Trip to the Moon (1902) กับภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์ในหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปที่สวีเดน (1897) ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเดินทางเหมือนกันมาผสมผสานเข้าด้วยกัน และฉายหนังทั้งสองเรื่องเข้าไปยังอุปกรณ์พิเศษที่สร้างขึ้น จนเกิดการซ้อนทับของเศษภาพและกระจายตัวของฟุตเทจเต็มผืนผนัง ปล่อยให้ผู้เข้าชมทำหน้าที่รวบรวมปะติดปะต่อเศษชิ้นส่วนเหล่านั้นและทําความเข้าใจเสี้ยวของประวัติศาสตร์ในแ¬¬¬บบของตนเอง



สะเก็ดประกาย / Spark From the Past 

ศิลปิน: อชิตพนธ์ เพียรสุขประเสริฐ 




งานที่ค้นหาความเชื่อมโยงกันของความรู้ ผ่านวัตถุและหลักฐานที่จับต้องได้ รวมถึงตัวสถาบันที่เป็นผู้ค้นคว้ารวบรวมและตีแผ่องค์ความรู้อย่างหอภาพยนตร์ ศิลปินได้อุปมาการอ่านองค์ประกอบเหล่านี้กับการ “ปักหมุด” โดยเลือกแขวนจอภาพยนตร์ไว้เป็นศูนย์กลางของงานจัดแสดงเพื่อรับแสงจากโปรเจ็กเตอร์ที่ฉายเข้ามาจากทั้งสองด้าน จอด้านหนึ่งปักเข็มหมุดที่เต็มไปด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์กระจายอยู่ทั่วทั้งผืน อีกด้านจึงเห็นปลายแหลมของหมุดที่ทะลุผ่านฝั่งเข้ามาและถูกตกกระทบโดยแสงจากโปรเจ็กเตอร์ อชิตพนธ์เปรียบจุดเล็ก ๆ ของข้อมูลความรู้กับสะเก็ดหมุดที่กระจัดกระจาย เมื่อผ่านการประกอบสร้างและตีความ ก็จุดประกายให้เกิดความรู้ใหม่แผ่ขยายไม่สิ้นสุด 



แสงมัวบอด / Blinded by the Light 

ศิลปิน: ชนสรณ์ ชัยกิตติภรณ์ 




ศิลปินได้ตั้งคำถามว่าหลังจากวันแรกของภาพยนตร์ที่ถูกฉายนั้น ภาพยนตร์ได้กลายเป็นอะไร และถูกใช้ไปกับอะไรบ้าง ตั้งแต่วันที่แสงจากจอภาพยนตร์กระทบกับตาของผู้ชมเป็นครั้งแรก แสง ๆ นี้ก็สร้างปรากฏการณ์ต่าง ๆ มากมาย “แสงจากภาพยนตร์เลือกจดจำแค่คนไม่กี่คน แต่แสงเดียวกันนี้ก็เป็นเงาทับคนอีกหลายคนที่ตายไป” ผลงานถูกจัดแสดงในรูปแบบ split screen บอกเล่าประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ผ่านคนทำและคนดู โดยครอบคลุมวงจรชีวิตของภาพยนตร์ตั้งแต่การสร้าง การฉาย จนถึงการชม เขาผสมผสานฟุตเทจภาพ ประกอบกับเสียงสัมภาษณ์ของกลุ่มคนที่เล่าถึงการดูหนังครั้งแรกในชีวิต และความในใจของคนเบื้องหลังที่ทั้งเย้ยหยันและยึดโยงกับงานที่รัก มีทั้งล้มเหลวและสำเร็จ ทั้งจดจำและถูกลืม  


นิทรรศการปฐมกาลภาพยนตร์ จะจัดแสดงทุกวันอังคาร-อาทิตย์ (หยุดวันจันทร์) เวลา 10.00 น. - 17.00 น. ที่ชั้น 3 อาคารสรรพสาตรศุภกิจ หอภาพยนตร์ จนถึงวันที่ 30 มกราคม 2564 

ข่าวสารที่น่าสนใจ

อ่านข่าวทั้งหมด

ประกาศ รายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบข้อเขียนและสัมภา...

ตามประกาศหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เรื่อง รับสมัครบุคคลเพื่อสรรหาเป็นผู้ปฏิบัติงาน ของหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ตำแหน่ง เจ้าหน้าที่พัสดุ บัดนี้หอภาพย...

อ่านรายละเอียด

ประกาศ รับสมัครบุคคลเพื่อสรรหาเป็นผู้ปฏิบัติง...

หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) มีความประสงค์จะรับสมัครบุคคลเพื่อสรรหาและคัดเลือกเป็นผู้ปฏิบัติงานของหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ในตำแหน่งต่าง ๆ ดังนี้ตำแหน่ง...

อ่านรายละเอียด

Hommage à Chris Marker

23 ธ.ค. 64 - 23 ธ.ค. 64  กิจกรรม

Hommage à Chris Marker โปรแกรมพิเศษในเทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 25 ในวาระ 100 ปี คริส มาร์กเกอร์ คนทำหนังผู้บุกเบิกหนังแนว essay filmคริส มาร์กเกอร์...

อ่านรายละเอียด