ในชั่วเวลาไม่กี่ปี อาจจะมีนักเขียนที่โดดเด่นเกิดขึ้นมาสักคนหนึ่ง เช่นเดียวกับนักแสดงเจ้าบทบาท หรือนักสร้างภาพยนตร์ผู้มีศักยภาพ แต่หากจะให้สถานะทั้งหมดนี้มีอยู่ในคนเพียงคนเดียว และมีผลงานอย่างต่อเนื่องจนเป็นที่ยอมรับนั้น คงต้องใช้เวลานานนับศตวรรษ
“ส. อาสนจินดา” คือหนึ่งในบุคคลพิเศษประเภทดังกล่าว เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ เขาได้รับสมญานามอย่างหลากหลาย เช่น “พระเอกนักประพันธ์” “ราชาแห่งละครเวทีไทย” “ศิลปินผู้มีความสามารถรอบตัว” “ศิลปินกระดูกเหล็ก” “ศิลปินชั้นครู” ฯลฯ ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงฝีมืออันรอบด้าน และการผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างโชกโชน จนเป็นที่ยอมรับนับถือและเคารพยำเกรงของประชาชนและผู้คนร่วมวงการ ดังที่ เชิด ทรงศรี ผู้กำกับภาพยนตร์ซึ่งเคยร่วมงานกันบ่อยครั้ง ได้เคยเปรียบเปรย ส. อาสนจินดา ว่าเป็น “ราชสีห์แห่งวงการบันเทิงไทย”
เนื่องในวาระครบรอบ 100 ปีแห่งชาตกาลของบุรุษผู้ที่ร้อยปีจะมีสักคนท่านนี้ หอภาพยนตร์ขอเชิญชม นิทรรศการ “100 ปี ส. อาสนจินดา ราชสีห์แห่งวงการบันเทิงไทย” ที่จะพาไปพบกับเรื่องราวในแต่ละบทบาทของศิลปินแห่งชาติท่านนี้ ทั้งการเป็น “นักประพันธ์ผู้จองหอง” “นักแสดงกระดูกเหล็ก” และ “คนทำหนังผู้ทระนง” รวมทั้งชมสิ่งละอันพันละน้อยเกี่ยวกับ ส. อาสนจินดา เช่น ข้าวของเครื่องใช้ชิ้นสำคัญ งานเขียน งานศิลปะ ภาพถ่ายหายาก ฯลฯ ที่หอภาพยนตร์อนุรักษ์ และที่ได้รับมอบจากครอบครัวอาสนจินดา เพื่อนำมาจัดแสดงในครั้งนี้โดยเฉพาะ
นิทรรศการ “100 ปี ส. อาสนจินดา ราชสีห์แห่งวงการบันเทิงไทย” จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 – 16 มกราคม 2565 ที่โถงชั้น 5 อาคารสรรพศาสตร์ศุภกิจ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) นอกจากนี้ตลอดช่วงนิทรรศการยังมีโปรแกรมฉายภาพยนตร์ผลงาน ส. อาสนจินดา อีกจำนวนมาก ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ <<คลิก>>
ประวัติ ส. อาสนจินดา
ส. อาสนจินดา มีชื่อจริงว่า สมชาย อาสนจินดา เกิดเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2464 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรของ หลวงสหการสันทัด หรือ แฉ่ง อาสนจินดา ข้าราชการกรมสหกรณ์ และ สมาน อาสนจินดา เขาเริ่มเรียนหนังสือครั้งแรกที่โรงเรียนอนุบาลราชินี ก่อนจะย้ายมาเรียนที่โรงเรียนดรุณศิริวิทย์ และโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยตามลำดับ
ขณะศึกษาอยู่ที่โรงเรียนสวนกุหลาบฯ บิดาได้ถึงแก่กรรมลง ทำให้มารดาต้องเลี้ยงลูกด้วยความยากลำบาก เมื่อจบชั้น ม.๗ ลุงของเขาคือ พระยาอนุพาลพายัพกิจ ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ในสมัยนั้น จึงได้รับอุปการะให้เขามาเรียนหนังสือที่โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ที่เชียงใหม่จนจบ ชั้น ม. 8 เมื่อ พ.ศ. 2481
เมื่อศึกษาจบ ส. ได้สมัครเป็นครูที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ใน พ.ศ. 2482 และออกมารับราชการกรมสหกรณ์ในปีถัดมา ซึ่งทำให้ต้องตระเวนไปหลายจังหวัด จนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลก ครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2488 เขาได้ผันตัวมาเป็นนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ ก่อนจะก้าวไปสู่การเป็นนักแสดง และผู้สร้างศิลปะการแสดงทั้งละครเวทีและภาพยนตร์รวมทั้งคลุกคลีอยู่ในวงการบันเทิงมาจนตลอดชีวิต โดยมีผลงานการแสดง เขียนบท ลำดับภาพ กำกับ และสร้างภาพยนตร์ รวมกันแล้วมากมากหลายร้อยเรื่อง
ส. อาสนจินดา สมรสกับ สมใจ เศวตศิลา เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2482 มีบุตรธิดารวม 7 คน เขาได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ละครเวที ภาพยนตร์ และละครโทรทัศน์) ประจำปี พ.ศ. 2533 และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2536 รวมอายุได้ 71 ปี