วันที่ 1-15 กรกฎาคม หอภาพยนตร์จะนำรถโรงหนังเฉลิมทัศน์ โรงภาพยนตร์เคลื่อนที่มาประจำจุดเป็นภาพยนตร์สถาน ที่ แหลมสะพานหิน เทศบาลนครภูเก็ต อ.เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต โดยจัดโปรแกรมภาพยนตร์ให้กับประชาชนได้รับชม วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 18.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดราชการ จัดฉาย 2 รอบ เวลา 14.00 น. และ 17.00 น. เพื่อทำหน้าที่เป็นโรงหนังทางเลือกของชุมชนให้ประชาชนได้ใช้ภาพยนตร์เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ที่มากกว่าความบันเทิง
นอกจากนี้ รถโรงหนังเฉลิมทัศน์ยังได้ออกเดินทางไปอีก 2 จังหวัดทางภาคใต้ คือ พังงาและกระบี่ โดยช่วงเช้าจะจัดฉภาพยนตร์ในโปรแกรมโรงหนังโรงเรียน และช่วงเย็นเวลา 17.30 น. จะจัดฉายภาพยนตร์เรื่อง แพรดำ (อาจจะปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม) สามารถติดต่อขอรับบัตรเข้าชมก่อนรอบฉาย 30 นาที (รอบละไม่เกิน 40 คน) ไม่เสียค่าเข้าชม และมีโปรแกรมการออกเดินทางดังนี้
28-30 มิ.ย. 65 สำนักงานเทศบาลตำบลท่านา อ.กะปง จ.พังงา
18-19 ก.ค. 65 องค์การบริหารส่วนตำบลทับปริก อ.เมือง จ.กระบี่
20-21 ก.ค. 65 องค์การบริหารส่วนตำบลเขาดิน อ.เขาพนม จ.กระบี่
โปรแกรมภาพยนตร์สถานจังหวัดภูเก็ต 2565
ระหว่างวันที่ 1 ก.ค. – 15 ก.ค. 65 ณ แหลมสะพานหิน เทศบาลนครภูเก็ต อ.เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต
E = English Subtitles
<<ดาวโหลดปรแกรมภาพยนตร์สถานภูเก็ต>>
วันศุกร์ที่ 1 กรกฏาคม 2565 เวลา 18.00 น.
มหา’ลัยเหมืองแร่ (The Tin Mine)
2548/ สร้างโดย จีเอ็มเอ็ม ไท หับ/ กำกับโดย จิระ มะลิกุล/ นักแสดง พิชญะ วัชจิตพันธ์, ดลยา หมัดชา, สนธยา ชิตมณี, นิรันต์ ชัตตาร์, แอนโทนี โฮวาร์ด กูลด์, จุมพล ทองตัน, จรัล เพ็ชรเจริญ/ ความยาว 105 นาที
ปี พ.ศ. 2492 เมื่อถูกรีไทร์จากคณะวิศวะฯ เด็กหนุ่มคนหนึ่งแบกเกียรติยศ ศักดิ์ศรี เท่าที่มหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของเมืองไทยได้มอบให้เขาในเวลา 2 ปี เดินทางไปตายเอาดาบหน้าที่เหมืองแร่ จังหวัดพังงา แต่ในขณะเดียวกัน มันคือจุดเริ่มต้นของการเดินทางไปสู่การเรียนรู้ชีวิตจริงที่ไม่สามารถเรียนรู้จากตำราเล่มไหน
วันเสาร์ที่ 2 กรกฏาคม 2565 เวลา 14.00 น.
สวรรค์มืด (Dark Heaven) DCP E
2501/ กำกับโดย รัตน์ เปสตันยี/ สร้างโดย คันจราภาพยนตร์/ นำแสดงโดย สุเทพ วงศ์กำแหง, สืบเนื่อง กันภัย/ ความยาว 98 นาที
ภาพยนตร์เพลงของ รัตน์ เปสตันยี ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ เรื่องราวของ ชู หนุ่มเข็นรถขยะที่ได้พบกับ เนียร สาวจรจัดโดยบังเอิญ เขาชักชวนเธอให้มาอาศัยที่บ้านพร้อมเลี้ยงดูอย่างดี จนเกิดเป็นความรัก ทว่าไม่ช้า ชูก็ถูกเกณฑ์เป็นทหารไปรบในสงครามเกาหลี และต้องสูญเสียดวงตาทั้งสองข้าง ฝ่ายเนียรกลับโชคดีมีเศรษฐินีใจบุญนำเธอไปชุบเลี้ยงและเอ็นดูเหมือนเป็นลูกแท้ ๆ
วันเสาร์ที่ 2 กรกฏาคม 2565 เวลา 17.00 น.
แพรดำ (Black Silk) DCP E
2504/ กำกับโดย รัตน์ เปสตันยี นำแสดงโดย รัตนาวดี รัตนาพันธ์, ทม วิศวชาติ/ สร้างโดย หนุมานภาพยนตร์ / ความยาว 120 นาที
ภาพยนตร์เรื่องสำคัญของรัตน์ เปสตันยี ที่หอภาพยนตร์บูรณะใหม่ และได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในโปรแกรมคานส์คลาสสิก ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ประจำปี 2020 เล่าเรื่องราวของ แพร หญิงหม้ายลูกติดที่สวมชุดสีดำเพื่อไว้ทุกข์ให้แก่สามีผู้ล่วงลับ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับ ทม คนคุมไนต์คลับ กลับชักนำเธอให้เข้าไปพัวพันกับเหตุฆาตกรรม เกิดเป็นผลร้ายแก่ทุกคนจนยากจะมีชีวิตดังเดิม
วันอาทิตย์ที่ 3 กรกฏาคม 2565 เวลา 14.00 น.
แผลเก่า (The Scar) DCP E
2520/ กำกับโดย เชิด ทรงศรี/ สร้างโดย เชิดไชยภาพยนตร์/ นำแสดงโดย สรพงศ์ ชาตรี, นันทนา เงากระจ่าง/ ความยาว 132 นาที
ผลงานของเชิด ทรงศรี ที่ “สำแดงความเป็นไทยต่อโลก” และเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ไทยที่ดีที่สุดตลอดกาล สร้างจากวรรณกรรมขึ้นหิ้งของ ไม้ เมืองเดิม โดยหอภาพยนตร์บูรณะขึ้นใหม่จากฟิล์มในการอนุรักษ์ เล่าเรื่องราวโศกนาฏกรรมของขวัญและเรียม คู่รักแห่งท้องทุ่งบางกะปิที่สาบานกับเจ้าพ่อไทรว่าจะซื่อสัตย์ต่อกัน แต่ตระกูลของทั้งคู่กลับเป็นศัตรูกัน พ่อของเรียมจึงกีดกันด้วยการขายเรียมให้ไปอยู่กับคุณนายทองคำที่บางกอก เมื่อเรียมกลับมาเยี่ยมบ้าน ขวัญก็พบว่าเธอดูสูงส่งจนไม่เหมือนเรียมคนเดิมอีกต่อไป
วันอาทิตย์ที่ 3 กรกฏาคม 2565 เวลา 17.00 น.
เพื่อน-แพง (Puen-Paeng) DCP
2526/ กำกับโดย เชิด ทรงศรี/ สร้างโดย เชิดไชย ภาพยนตร์/ ผู้แสดง สรพงศ์ ชาตรี, ชณุตพร วิศิษฏโสภณ, คนึงนิจ ฤกษะสาร, ปิยะ ตระกูลราษฎร์, วิโรจน์ ควันธรรม, โดม สิงห์โมฬี, สุรชาติ ไตรโภค, ม.ร.ว. สุดจัยยะ ชมพูนุท, เกษม มิลินทจินดา, วงจันทร์ ไพโรจน์, พิราวรรณ ประสพศาสตร์, ถนอม รุ่งพวงเงิน, สุรพล แก้วอำไพ/ ความยาว 131 นาที
ภาพยนตร์ที่ เชิด ทรงศรี ดัดแปลงขึ้นจากเรื่องสั้นแนวลูกทุ่งเรื่อง “เพื่อน-แพง” ของ ยาขอบ (โชติ แพร่พันธุ์) ภายหลังประสบความสำเร็จอย่างสุดยอดจากการนำนิยายลูกทุ่งเรื่อง “แผลเก่า” ของไม้ เมืองเดิม (ก้าน พึ่งบุญ ณ อยุธยา) มาสร้างเป็นภาพยนตร์เมื่อปี พ.ศ. 2520 เพื่อน–แพง บอกเล่าตำนานรักสามเส้าแห่งท้องทุ่ง ระหว่าง ลอ ชายหนุ่มผู้ผิดคำสาบาน กับ เพื่อน และ แพง สองพี่น้องผู้มีใจรักชายคนเดียวกัน โดยยาขอบได้หยิบยืมความสัมพันธ์และชื่อตัวละครเอกมาจากวรรณคดีโบราณเรื่อง ลิลิตพระลอ บันทึกถึงโศกนาฏกรรมความรักอันเรียบง่ายกินใจของหนุ่มสาวแห่งท้องทุ่งชนบท ในยุคที่ยังคงเชื่อมั่นศรัทธาในอานุภาพของคำสาบาน
วันจันทร์ที่ 4 กรกฏาคม 2565 เวลา 18.00 น.
15 ค่ำ เดือน 11 (Mekhong Full Moon Party)
2545/ กำกับโดย จิระ มะลิกุล/ สนับสนุนโดย บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)/ นำแสดงโดย อนุชิต สพันธุ์พงษ์, นพดล ดวงพร,ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ/ ความยาว 119 นาที
ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้สร้างมาจากความเชื่อของชาวท้องถิ่นในแถบอีสานเกี่ยวกับปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค ซึ่งเป็นการเรียกลูกไฟประหลาดสีชมพูจำนวนมาก ที่พุ่งขึ้นจากลำน้ำโขงในคืนวันออกพรรษาซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ภาพยนตร์เล่าเรื่องราวของ“คาน” เด็กหนุ่มลุ่มน้ำโขง ที่ร่วมมือกับหลวงพ่อและพระลูกวัดทำให้เกิดปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค แต่เมื่อคานย้ายเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ เห็นข่าวที่ผู้คนเดินทางไปเพื่อดูบั้งไฟพญานาค คานไม่ต้องการหลอกชาวบ้านอีกต่อไปจึงเลิกนำไข่ไปวาง ในขณะเดียวกันก็มีคุณหมอที่ต้องการพิสูจน์และแสดงความจริงให้ชาวบ้านเห็นว่าปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่อภินิหารแต่เป็นเพียงปรากฏการณ์ธรรมชาติในขณะที่คานไม่ได้เอาไข่ไปวางก้นแม่น้ำแล้ว แต่บั้งไฟพญานาคก็ยังคงโผล่พ้นน้ำให้ประชาชนประหลาดใจต่อไป
วันอังคารที่ 5 กรกฏาคม 2565 เวลา 18.00 น.
ทวิภพ (The Siam Renaissance) DCP
2547/ ผู้กำกับ สุรพงษ์ พินิจค้า/ สร้างโดย ฟิล์มบางกอก/ นำแสดงโดย รังสิโรจน์ พันธุ์เพ็ง, ฟลอเรนซ์ วนิดา เฟเวอร์, พิเศก อินทรครรชิต, นิรุตต์ ศิริจรรยา/ ความยาว 143 นาที
ภาพยนตร์โดยสุรพงษ์ พินิจค้า ทำจากนิยายดังของ ทมยันตีที่ใคร ๆ ก็รู้จัก และเคยเป็นภาพยนตร์มาแล้วโดย เชิด ทรงศรี แต่สำหรับทวิภพ ฉบับสุรพงษ์ ได้ตัดต่อพันธุกรรมทวิภพขึ้นใหม่ในแบบของเขาเอง ดังชื่อในภาษาอังกฤษว่า The Siam Renaissance หรือเป็นคำไทยปนแขกว่า สยามปุณภพ สุรพงษ์ทำให้หนังมีสติปัญญาและลุ่มลึกขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ และกระทำในสิ่งที่ไม่ถูกโฉลกกับสังคมไทยคือการวิพากษ์ตนเองการพูดความจริง หนังเรื่องนี้จึงมีทั้งคนเกลียดและคนชอบ
วันพุธที่ 6 กรกฏาคม 2565 เวลา 18.00 น.
ฟ้าทะลายโจร (Tears of the Black Tiger)
2543/ กำกับโดย วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง/ นำแสดงโดย ชาติชาย งามสรรพ์, สเตลล่า มาลูกี้, ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ/ ความยาว 109 นาที
ภาพยนตร์ที่สร้างปรากฏการณ์สำคัญให้แก่วงการหนังไทยในช่วงยุค ค.ศ. 2000 ด้วยการนำเสนอในรูปแบบย้อนยุคเหมือนหนังคาวบอยไทยในอดีต และใช้เทคนิคย้อมสีฉูดฉาด เล่าเรื่องราวของ เสือดำ ที่ชีวิตพลิกผันมาเป็นโจรเพราะต้องการออกล้างแค้นให้พ่อ จนได้เข้าไปอยู่ในชุมโจรเสือฝ้ายผู้อำมหิต จนกระทั่งทางกรมตำรวจส่งร้อยตำรวจเอกกำจรมาจัดการชุมโจรเสือฝ้าย เสือดำจึงได้ล่วงรู้ว่ารำเพยคนรักเก่าได้กลายเป็นคู่หมั้นของกำจรไปเสียแล้ว
วันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฏาคม 2565 เวลา 18.00 น.
ห้วงรักเหวลึก DCP
2498/ กำกับโดย สมควร กระจ่างศาสตร์/ นำแสดงโดย สมควร กระจ่างศาสตร์, สุพรรณ บูรณะพิมพ์, ม.ล.รุจิรา อิศรางกูร, เติม โมรากุล/ ความยาว 79 นาที/ภาษาไทย
ภาพยนตร์ที่สร้างมาจากนวนิยายที่โด่งดังและมีขนาดยาวที่สุดของ หลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งเขียนขึ้นในยุคที่ค่านิยมเรื่องสิทธิสตรีในสังคมไทยเพิ่งได้รับการพูดถึง เล่าเรื่องราวมหากาพย์ชีวิตของหญิงแกร่งที่ชื่อ ประพิมพรรณ โดยภาพยนตร์ได้ถ่ายทอดเนื้อหาราว 10 บทแรกของฉบับนิยาย ช่วงที่ประพิมพรรณถูกจับข้อหาฆ่าอดีตคนรัก รวมทั้งเข้าไปพัวพันกับคดีฆาตกรรมเพื่อนรักของเธอเอง
วันศุกร์ที่ 8 กรกฏาคม 2565 เวลา 18.00 น.
พี่มาก..พระโขนง
2556/ กำกับโดย บรรจง ปิสัญธนะกูล/ สร้างโดย GTH/ นำแสดงโดย มาริโอ้ เมาเร่อ, ดาวิกา โฮร์เน่, พงศธร จงวิลาส, ณัฏฐพงษ์ ชาติพงศ์, อัฒรุต คงราศรี, กันตพัฒน์ เพิ่มพูนพัชรสุข/ ความยาว 113 นาที
ภาพยนตร์ระดับปรากฏการณ์ของปี พ.ศ. 2556 ซึ่งสร้างกระแสให้ประชาชนออกมาชมภาพยนตร์ไทยในโรงภาพยนตร์อย่างคับคั่ง และกวาดรายได้ทั่วประเทศทุบสถิติกว่าพันล้านบาท เรื่องราวที่ดัดแปลงจากตำนานรักแห่งท้องทุ่งพระโขนงในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ในภาคนี้พี่มากกลับมาจากสงคราม เพื่อมาหาแม่นาค พร้อมพรรคพวกอย่าง เผือก เต๋อ ชิน และเอ ซึ่งต้องพยายามทุกวิถีทางเพื่อจะบอกพี่มากว่า แม่นาคตายแล้ว
วันเสาร์ที่ 9 กรกฏาคม 2565 เวลา 14.00 น.
ฃ
วัยอลวน
2519/ กำกับ เปี๊ยก โปสเตอร์/ สร้างโดย เอเพ็กซ์โปรดักชั่น/ นักแสดง ไพโรจน์ สังวริบุตร, ลลนา สุลาวัลย์, จิรวดี อิศรางกูร ณ อยุธยา, ศิริวรรณ ทองแสง, สมควร กระจ่างศาสตร์, สมจิตต์ ทรัพย์สำรวย, นัฐกานต์ เศรษฐบุตร/ ความยาว 121 นาที
หลังผิดหวังจากการสอบเอนทรานซ์รอบแรก ตั้มก็มาอาศัยบ้านเช่าของคุณแจ่มศรี เปิดสอนพิเศษเด็กมัธยม เมื่อคุณแจ่มศรีเห็นดังนั้นจึงส่งยัยโอ๋ลูกสาวมาเรียนกับตั้ม แต่กลับตกเป็นขี้ปากชาวบ้านเพราะคิดว่าตั้มอาจทำตัวเป็นสมภารกินไก่วัด แอบลอบมีความสัมพันธ์กับโอ๋ ร้อนถึงนายเมศผู้เป็นพ่อออกโรงมาขัดขวางไม่ให้ตั้มและโอ๋ได้พบกัน อีกทั้งยังพยายามไล่ตั้มออกจากบ้านเช่าของตน หารู้ไม่ว่าทั้งสองไม่ได้ทำเรื่องเสื่อมเสียแต่อย่างใด ทั้งสองซึ่งเริ่มมีใจให้กัน จึงแอบติดต่อกันเสมอ กระทั่งตั้มสอบเอนทรานซ์เข้าคณะนิติศาสตร์ได้ และเริ่มเอาความรู้ที่ได้จากการเรียนกฎหมายมาเล่นงานนายเมศ เมื่อเรียนจบตั้มหาวิธีแต่งงานกับโอ๋ได้ จนลำพองตนคิดว่าเอาชนะนายเมศได้ กว่าจะรู้ตัวโอ๋ก็แผลงฤทธิ์จนตั้มถอนตัวไม่ทันแล้ว กฎหมายที่ตรากตรำร่ำเรียนเอาปราบนายเมศ กลับใช้ปราบยัยโอ๋ไม่ได้ ปล่อยให้นายเมศหัวเราะชอบใจที่ปราบนายตั้มได้สำเร็จ
วันเสาร์ที่ 9 กรกฏาคม 2565 เวลา 17.00 น.
ข้างหลังภาพ
2528/ ผู้กำกับ เปี๊ยก โปสเตอร์/ สร้างโดย ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น / นำแสดงโดย อำพล ลำพูน, นาถยา แดงบุหงา, จุรี โอศิริ, มารศรี อิศรางกูร ณ อยุธยา/ ความยาว 123 นาที
ข้างหลังภาพ เป็นบทประพันธ์ของศรีบูรพา ในฉบับปี 2528 กำกับภาพยนตร์โดย เปี๊ยก โปสเตอร์ โดยได้ยกกองไปถ่ายทำที่ประเทศญี่ปุ่นเกือบตลอดทั้งเรื่อง เรื่องราวของนพพรเป็นนักศึกษาในประเทศญี่ปุ่น เจ้าคุณอธิการบดี ได้เดินทางมาเที่ยวประเทศญี่ปุ่นพร้อมภรรยา นพพรได้พบกับ ม.ร.ว.กีรติ ด้วยความกังวลว่า ม.ร.ว.กีรติ จะรู้สึกเบื่อ เจ้าคุณอธิการบดีจึงได้ฝากให้นพพร พา ม.ร.ว.กีรติ ไปเที่ยวชมสถานที่ต่าง ๆ ในญี่ปุ่น ความใกล้ชิดกัน ทำให้นพพรเกิดความรู้สึกพิเศษต่อ ม.ร.ว.กีรติ แม้จะรู้ว่า ม.ร.ว.กีรติ ได้แต่งงานแล้วก็ตาม นพพรได้สารภาพความในใจกับ ม.ร.ว.กีรติ แต่เธอได้ปฏิเสธนพพร โดยให้เหตุผลถึงความเหมาะสม 6 ปีผ่านไป นพพรได้เดินทางกลับสยาม ขณะที่เจ้าคุณอธิการบดีได้ถึงแก่กรรม และ ม.ร.ว.กีรติ ได้กลายเป็นหม้าย นพพรได้พบกับเธออีกครั้ง แต่ความรู้สึกของเขาที่มีต่อเธอได้เปลี่ยนไป
วันอาทิตย์ที่ 10 กรกฏาคม 2565 เวลา 14.00 น.
ดอกฟ้าในมือมาร (Mysterious Object at Noon) DCP E
2543/ กำกับโดย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล/ สร้างโดย 9/6 CINEMA FACTORY, FIRECRACKER FILM, HUBERT BALS FUND/ นำแสดงโดย สมศรี พิณโยผล, กรรณิการ์ นารอง, ดวงใจ หิรัญศร / ความยาว 84 นาที
ผลงานภาพยนตร์เรื่องยาวเรื่องแรกของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เป็นสารคดีแนวทดลองที่ใช้แนวคิดของศิลปะฝรั่งเศสที่เรียกว่า Exquisite corpse คือการวาดรูปแล้วพับไว้แล้วส่งให้คนต่อไปวาดต่อไปเรื่อย ๆ ภาพยนตร์ได้พาผู้ชมเดินทางไปพร้อมกับเรื่องเล่าที่คาดไม่ถึงจากผู้คนอันหลากหลายจากเหนือจรดใต้ของประเทศไทย เริ่มต้นจากเรื่องของครูดอกฟ้า เด็กชายพิการ และมนุษย์ต่างดาว
วันอาทิตย์ที่ 10 กรกฏาคม 2565 เวลา 17.00 น.
ลุงบุญมีระลึกชาติ (Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives) DCP E
2553/ กำกับโดย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล/ สร้างโดย Illuminations Films , Kick the Machine Films, Illuminations Films Past Lives, Anna Sanders Films, The Match Factory, GFF Film-und Fernsehproduktion KG, Eddie Saeta SA/ นำแสดงโดย ธนภัทร สายเสมา, เจนจิรา จันทร์สุดา, ศักดิ์ดา แก้วบัวดี/ ความยาว 108 นาที/ สนับสนุนภาพยนตร์โดย บริษัท คิก เดอะ แมชชีน ฟิล์ม จำกัด
ผลงานชิ้นเอกของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่ได้รับรางวัลปาล์มทองคำ จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ครั้งที่ 63 เรื่องราวการระลึกชาติของ บุญมี ชายซึ่งป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรัง โดยในช่วงท้ายของชีวิต วิญญาณภรรยาที่เสียชีวิตไปแล้วได้กลับมาพยาบาลเขา พร้อม ๆ กับลูกชายที่หายสาบสูญซึ่งมาในสภาพลิงผี
วันจันทร์ที่ 11 กรกฏาคม 2565 เวลา 18.00 น.
Goal Club เกมล้มโต๊ะ
2544/ กำกับโดย กิตติกร เลียวศิริกุล/ สร้างโดย ฟิล์มบางกอก/ นำแสดงโดย ธีรดนัย สุวรรณหอม, บริวัตร อยู่โต, สุรัตนาวี สุวิพร/ ความยาว 99 นาที
ภาพยนตร์เรื่องสำคัญของผู้กำกับ กิตติกร เลียวศิริกุล เล่าเรื่องราวของกลุ่มวัยรุ่นชายที่ชื่นชอบ การดูบอลเป็นชีวิตจิตใจ ในชื่อกลุ่มว่า “โกล คลับ” กระทั่งวันหนึ่งอ็อตโต้ หนึ่งในสมาชิกของกลุ่มได้รับการชักชวนให้มาเป็นเด็กเดินโพยของโต๊ะพนันบอลรายใหญ่ หายนะเริ่มมาเยือนเมื่อรายได้อันงดงามทำให้อ็อตโต้คิดชักชวนเพื่อน ๆ มา ร่วมกันโกงโต๊ะบอลด้วยการตั้งตนเป็นโต๊ะเสียเอง
วันอังคารที่ 12 กรกฏาคม 2565 เวลา 18.00 น.
Mary is happy, Mary is happy.
2556/ กำกับโดย นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์/ สร้างโดย ป๊อป พิคเจอร์ / แสดงนำโดย พัชชา พูนพิริยะ, ชนนิกานต์ เนตรจุ้ย, วสุพล เกรียงประภากิจ/ ความยาว 127 นาที
Mary is happy, Mary is happy. เป็นผลงานเรื่องยาวเรื่องที่สองของนวพล เป็นหนังที่ทดลองใช้สื่อโซเชียลมีเดียมาเป็นวัตถุดิบในการเล่าเรื่อง เขาใช้ข้อความ Twitter ของแอคเคาท์ที่ชื่อว่า @marylony จำนวน 410 ทวีตโดยไม่ข้ามหรือตัดออกไปซักทวีตเดียวมาเป็นเส้นเรื่อง มาสร้างเป็นเรื่องราวโดยอาศัยจินตนาการและการใช้ความคิดสร้างสรรค์ออกมาเป็นเรื่องราวของ“แมรี่”เด็กสาววัยรุ่นวัยเรียน และวัยเริ่มรัก ที่มักมองสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นชีวิตด้วยมุมมองแปลก ๆ โดยมีเพื่อนสนิทคือ “ซูริ” ซึ่งแมรี่ไว้วางใจมากที่สุด หนังเรื่องนี้ทำให้คนดูได้เข้าใจถึงวิถีคิด ความคิดแบบกระแสสำนึกของเด็กวัยรุ่นคนหนึ่ง ที่ใกล้เรียนจบและพยายามจะทำหนังสือรุ่นรวมของชั้นเรียน ให้เป็นความทรงจำแก่เพื่อนทุกคน
วันพุธที่ 13 กรกฏาคม 2565 เวลา 14.00 น.
สันติ-วีณา (Santi-Vina) DCP E
2497/ กำกับโดย มารุต/ สร้างโดย ฟาร์อีสต์ฟิล์ม, หนุมานภาพยนตร์/ นำแสดงโดย พูนพันธ์ รังควร, เรวดี ศิริวิไล/ ความยาว 117 นาที
ภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลระดับนานาชาติ จากงานประกวดภาพยนตร์นานาชาติแห่งเอเชียอาคเนย์ ครั้งที่ 1 ที่ประเทศญี่ปุ่น และได้รับการบูรณะใหม่โดยหอภาพยนตร์หลังจากหายสาบสูญไปกว่า 60 ปี บอกเล่าเรื่องราวของ สันติ ชายตาบอดยากจน กับ วีณา สาวสวยที่มีใจรักสันติมาตั้งแต่เด็ก แต่โชคชะตากลับกลั่นแกล้งให้ความรักของทั้งคู่ต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมาย
วันพุธที่ 13 กรกฏาคม 2565 เวลา 17.00 น.
ชั่วฟ้าดินสลาย DCP
2498/ กำกับโดย มารุต/ สร้างโดย หนุมานภาพยนตร์/ นำแสดงโดย ชนะ ศรีอุบล, งามตา ศุภพงษ์/ ความยาว 107 นาที
ภาพยนตร์ที่สร้างจากบทประพันธ์ขึ้นหิ้งของ มาลัย ชูพินิจ เล่าเรื่องราวของ ยุพดี สาวหัวสมัยใหม่จากเมืองหลวงที่ได้แต่งงานกับ พะโป้ ชายชราเจ้าของปางไม้แห่งเมืองกำแพงเพชร แต่เธอกลับไปสนิทกับ ส่างหม่อง หลานชายวัยหนุ่มของพะโป้ จนเกิดเป็นความรักต้องห้าม
วันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฏาคม 2565 เวลา 14.00 น.
น้ำพุ (Story of Nampu)
2527 / กำกับ ยุทธนา มุกดาสนิท/ สร้างโดย ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น/ นักแสดง ภัทราวดี มีชูธน, อำพล ลำพูน, วรรษมน วัฒโรดม, เรวัต พุทธินันทน์, สุเชาว์ พงษ์วิไล/ ความยาว 134 นาที
ภาพยนตร์ที่สร้างจากชีวิตจริงของ นายวงศ์เมือง นันทขว้าง (น้ำพุ) เด็กหนุ่มผู้เกิดมาท่ามกลางครอบครัวที่แตกแยกและเขายังเลือกเดินทางผิดโดยการทดลองใช้ยาเสพติด น้ำพุต้องเผชิญกับความเจ็บปวดจากการใช้ยาและความเจ็บปวดจากปัญหาครอบครัว แต่สุดท้ายเขาตัดสินใจสารภาพกับแม่ว่าตนติดยาเสพติด ครอบครัวของเขาให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี และได้พาน้ำพุเดินทางไปวัดถ้ำกระบอกเพื่อเลิกยา แม้น้ำพุจะสามารถเลิกยาได้แล้ว แต่เมื่อเขากลับมาบ้านอีกครั้งกลับพบว่าทุกคนไม่มีทีท่ายินดีกับเขาสักเท่าใดนัก ทำให้น้ำพุเกิดความน้อยใจตามประสาเด็กวัยรุ่น สุดท้ายเขาตัดสินใจกลับมาใช้ยาเสพติดอีกครั้ง และครั้งนี้นำไปสู่การสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของครอบครัวนันทขว้าง
วันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฏาคม 2565 เวลา 17.00 น.
ผีเสื้อและดอกไม้ (Butterfly and Flowers)
2528/ กำกับโดย ยุทธนา มุกดาสนิท/ สร้างโดย ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น / นำแสดงโดย สุริยา เยาวสังข์, วาสนา พลเยี่ยม, สุเชาว์ พงษ์วิไล/ ความยาว 127 นาที
ผลงานภาพยนตร์ที่ดัดแปลงมาจากนวนิยายของ “นิพพาน” หรือ มกุฏ อรฤดี ศิลปินแห่งชาติชาวสงขลา เล่าเรื่องราวของ ฮูยัน เด็กหนุ่มที่ได้ไปเข้าร่วมขบวนการกองทัพมดของเด็กหนุ่มจำนวนมากที่ทำงานขนข้าวขึ้นรถไฟไปขายยังชายแดนมาเลเซีย เป็นผลให้เขาได้เรียนรู้ถึงเรื่องราวของชีวิตและมิตรภาพ
วันศุกร์ที่ 15 กรกฏาคม 2565 เวลา 14.00 น.
2499 อันธพาลครองเมือง DCP
2540/ กำกับโดย นนทรีย์ นิมิบุตร/ สร้างโดย ไท เอ็นเตอร์เทนเมนท์/ นำแสดงโดย เจษฎาภรณ์ ผลดี, แชมเปญ เอ็กซ์/ ความยาว 104 นาที
นนทรีย์ นิมิบุตร ผู้กำกับโฆษณาซึ่งกระโดดมากำกับภาพยนตร์เรื่องแรก โดยหยิบเอานวนิยายของสุริยัน ศักดิ์ไธสง เรื่อง เส้นทางมาเฟีย มาสร้างเป็นภาพยนตร์ที่มีฉากหลังในยุคโก๋หลังวัง เขียนบทภาพยนตร์ โดย วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง โดยใช้หนังแสดงหน้าใหม่ทั้งหมด มารับบท แดง ไบเล่ย์, ปุ๊ ระเบิดขวด, ดำ เอสโซ่, เปี๊ยก วิสุทธิ์กษัตริย์ สร้างจากหนังสือแต่งที่นำเค้าเรื่องมาจากเรื่องของแก๊งวัยรุ่นชื่อดัง ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งที่สุดถูกปราบปรามด้วยข้อหาภัยสังคม ภาพยนตร์ได้รับการตอบรับจากผู้ชมเป็นประวัติการณ์
วันศุกร์ที่ 15 กรกฏาคม 2565 เวลา 17.00 น.
นางนาก DCP
2542/ ผู้กำกับ นนทรีย์ นิมิบุตร/ สร้างโด ไท เอ็นเตอร์เทนเมนท์/ ผู้อำนวยการสร้าง วิสูตร พูลวรลักษณ์/ นำแสดงโดย วินัย ไกรบุตร, อินทิรา เจริญปุระ/ ความยาว 100 นาที
ภาพยนตร์ที่นำตำนานเรื่องเล่าของนางนาคพระโขนง ตำนานผีที่คนไทยคุ้นเคย มาสร้างใหม่ในแบบทฤษฎีสมจริง กำกับโดย นนทรีย์ นิมิบุตร ผู้กำกับที่ผันตัวมาจากงานโฆษณา สามารถสร้างปรากฏการณ์เป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ทำรายได้ถึงร้อยล้านบาท และได้รับการยอมรับว่าเป็นหนังผีแม่นาคฉบับที่สร้างความน่าตื่นตาตื่นใจ คาดไม่ถึงและน่าเชื่อมากกว่าภาพยนตร์แม่นาคที่เคยสร้างกันมา