กิจกรรม Cinema Lecture ในเดือนสิงหาคมคราวนี้ จะแตกต่างไปจากกิจกรรมครั้งที่ผ่านมา ที่มักมุ่งเน้นไปที่เนื้อหาหรือทฤษฎีทางภาพยนตร์เป็นหลัก แต่การบรรยายครั้งนี้จะเจาะลึกไปที่เรื่องของ “ดนตรี” ในภาพยนตร์ที่มีดนตรีและบทเพลงโดดเด่นราวกับเป็นหนึ่งในตัวละครหลัก นั่นคือ West Side Story ผลงานชิ้นสำคัญจากฮอลลีวูดที่ครองใจคนทั่วโลก
West Side Story เริ่มต้นจากเป็นละครเพลงที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง หลังจากออกแสดงครั้งแรกในปี ค.ศ. 1957 ก็ได้หวนกลับมาสู่บรอดเวย์อีกอย่างน้อย 3 ครั้ง รวมไปถึงการออกแสดงทั่วโลกนับครั้งไม่ถ้วน ก่อนจะได้รับการดัดแปลงเป็นฉบับภาพยนตร์ถึง 2 ฉบับ ในปี ค.ศ. 1961 และ ค.ศ. 2021
เรื่องราวของ West Side Story ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Romeo and Juliet ของเชกสเปียร์ โดยถอดแบบความรักต้องห้ามระหว่างสองกลุ่ม/สังกัดที่ไม่ถูกกัน คือความขัดแย้งระหว่างตระกูลมอนตะคิวกับคาปุเล็ตแห่งเมืองเวโรนา ประเทศอิตาลี ในช่วงสมัยเรอเนสซองส์ ถูกนำมาเล่าใหม่เป็นความขัดแย้งระหว่างสองแก๊งวัยรุ่น Jets (คนขาว) กับ Sharks (กลุ่มคนเชื้อสายเปอร์โตริโก) ที่อาศัยอยู่ในนิวยอร์กช่วงกลางทศวรรษ 1950 ดังนั้นความรักของคู่พระ-นาง (โทนี กับ มาเรีย) จึงมีอะไรมากไปกว่าความรักต้องห้ามระหว่างสองตระกูล พร้อมทั้งเต็มไปด้วยเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง เชื้อชาติ ศาสนา ที่แฝงฝังเอาไว้ในเรื่อง
สิ่งที่ทำให้ West Side Story ประสบความสำเร็จมิได้มีเพียงแง่มุมในส่วนของเนื้อเรื่องที่เข้มข้น แต่อีกปัจจัยที่สำคัญยังรวมถึงบทเพลงและดนตรีในเรื่องจากปลายปากกาของสองเจ้าพ่อแห่งวงการเพลง-ดนตรีของอเมริกา ได้แก่ สตีเฟน ซอนด์ไฮม์ (Stephen Sondheim) และ เลนนาร์ด เบิร์นสไตน์ (Leonard Bernstein) ซึ่งงานเพลงเหล่านี้มิได้มีเพียงความไพเราะของคำร้องและทำนองเท่านั้น แต่ยังมี “รหัส” ทางดนตรีต่าง ๆ ซุกซ่อนอยู่ เป็นเครื่องมือทำให้งานทั้งชิ้นถูกร้อยเรียงอย่างมีเอกภาพ และเชื้อเชิญให้ผู้ชมตีความงานชิ้นนี้ออกไปได้ในอีกหลายแง่มุม ซึ่งรหัสที่ซ่อนอยู่เหล่านี้ก็เช่น การใช้กลุ่มทำนองเล็ก ๆ (motif) ที่จะถูกนำไปดัดแปลงและขยายส่วนเพื่อนำไปสร้างเป็นเพลงต่าง ๆ โดยหลายครั้งทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์สื่อถึงความหมายบางอย่าง หรือเช่นการเลือกใช้ส่วนผสมของดนตรีที่สะท้อนเชื้อชาติ-ศาสนาของตัวละคร ไปจนถึงการใช้ “คำ” ในคำร้องที่นอกจากจะเล่าใจความของเพลงแล้ว ยังเป็นรหัสแฝงอุดมการณ์ต่าง ๆ และช่วยขับเคลื่อนบทละครทั้งชิ้นด้วย
นอกจากนี้ เพลงและดนตรีใน West Side Story ยังมีนัยยะอันสำคัญในเชิงสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งการประกอบสร้างดนตรีของเบิร์นสไตน์นั้นนอกจากจะเต็มไปด้วยเทคนิคอันน่าตื่นตาตื่นใจแล้ว ยังมีลักษณะเป็นดั่งการสรุปรวบยอดความคิดและภาพของนิวยอร์กกลางศตวรรษที่ 20 ผ่านดนตรีที่สะท้อนวิธีคิดแบบโมเดิร์นนิสม์ ผ่านสำเนียงดนตรีที่ตกทอดมาจากคีตกวีอเมริกันรุ่นก่อนหน้า และการควบรวมขนบดนตรีคลาสสิก ดนตรีแจ๊ส และดนตรีละติน เข้าด้วยกันประหนึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความหลากหลายของรากเหง้าต่าง ๆ ที่มาเทรวมกันอยู่ในอเมริกานี้เอง
Cinema Lecture ในครั้งนี้ ผศ.ดร.ธนพล เศตะพราหมณ์ วาทยกรและนักประพันธ์ดนตรีจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล จะมานำเสนอแง่มุมต่าง ๆ ทางดนตรี ในเรื่อง West Side Story ทั้ง “รหัส” ในดนตรี การประกอบสร้างดนตรีและเนื้อเพลง การผสมผสานดนตรีคลาสสิกกับดนตรีแจ๊สและละติน ความสัมพันธ์ระหว่างบทเพลงและบทละคร บริบทต่าง ๆ ที่แวดล้อมวิธีคิดในการสร้างดนตรีสไตล์แบบ West Side Story ไปจนถึงเปรียบเทียบบางแง่มุมระหว่างภาพยนตร์ทั้งสองฉบับกิจกรรมจะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป ณ โรงภาพยนตร์ศาลาศีนิมา หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
-----------------------------------------
กำหนดการ
วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม 2565 ณ โรงภาพยนตร์ศาลาศีนิมา ชั้น 6 อาคารสรรพสาตรศุภกิจ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
13.00 น. ฉายภาพยนตร์เรื่อง West Side Story ฉบับ พ.ศ. 2564
16.00 น. การบรรยายโดย ผศ.ดร.ธนพล เศตะพราหมณ์
18.00 น. จบกิจกรรม
ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมกิจกรรมแต่อย่างใด