ภาพยนตร์บันทึกการเมืองสำคัญ เช่น [จอมพลสฤษดิ์ไปอเมริกา] และ เด็กกับหมี ได้รับการขึ้นทะเบียนในปีนี้ รวมทั้งหนังรัก October Sonata รักที่รอคอย และหนังสะท้อนสังคม เทพธิดาบาร์ 21
ในวันที่ 4 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย ชัยพล สุขเอี่ยม ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้ประกาศรายชื่อภาพยนตร์ 12 เรื่อง ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ ประจำปี 2565 จัดโดย หอภาพยนตร์ กระทรวงวัฒนธรรม
ทั้งนี้ หอภาพยนตร์ได้เปิดให้ประชาชนเสนอรายชื่อเพื่อนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการคัดเลือกมรดกภาพยนตร์ของชาติ โดยในปีนี้มีผู้เสนอรายชื่อกว่า 1,000 คน และเสนอชื่อภาพยนตร์ 321 เรื่อง หอภาพยนตร์ได้คัดเลือกรายชื่อหนังเหล่านี้ รวมกับภาพยนตร์ในคลังอนุรักษ์ของหอภาพยนตร์ โดยได้เชิญกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาอาชีพจำนวน 35 ท่าน มาร่วมกันตัดสินและคัดเลือกภาพยนตร์จากหลักเกณฑ์ที่ตั้งขึ้น โดยคำนึงถึง คุณค่าทางประวัติศาสตร์และความทรงจำ คุณค่าทางศิลปะภาพยนตร์ ความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ บูรณภาพ ความเสี่ยงต่อการสูญเสียหรือยากแก่การหาทดแทน และอิทธิพลต่อคนและสังคม
จากจำนวนหนัง 12 เรื่องที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในปีนี้ มีภาพยนตร์และบันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ 6 เรื่อง และมีภาพยนตร์เล่าเรื่อง (feature film) อีก 6 เรื่อง
เริ่มต้นที่หนังข่าวและบันทึกเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ หนังที่แสดงภาพผู้นำทางการทหารและการเมืองในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประวัติศาสตร์ไทย [จอมพลสฤษดิ์ไปอเมริกา] (2501) เป็นภาพยนตร์ส่วนตัวที่บันทึกการเดินทางไปรักษาตัวของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ ที่ประเทศอเมริกา เป็นการถ่ายทำไว้ในปี 2501 โดยนายแพทย์จำลอง หะริณสุต แพทย์ประจำตัวของจอมพลสฤษดิ์ ก่อนที่ในปลายปีนั้นเองจอมพลสฤษดิ์จะก่อการรัฐประหารและขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ยังมี ภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อเพื่อต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็น อย่าง เด็กกับหมี The Children and the Bear (2502) ผลงานของอ.ปยุต เงากระจ่าง ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักข่าวสารอเมริกันกรุงเทพฯ ของสหรัฐสร้างขึ้นเพื่อชวนเชื่อให้ประชาชนเข้าใจถึงการจัดตั้งองค์การสนธิสัญญาร่วมป้องกันแห่งเอเซียอาคเนย์ หรือ SEATO รวมทั้ง [การประกวดการจัดบ้านและบริเวณ] (2497) ภาพยนตร์การประกวดจัดบ้านและบริเวณครั้งแรกและครั้งเดียวในยุคสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่บันทึกอารมณ์ของการเสนอบทบาทในสังคมของสตรีไทย นำโดย ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม และ คุณหญิงรามราชภักดี
ส่วนหนัง [งานอภิเษกพระสังฆราช มีแชล มงคล (อ่อน) ประคองจิต] (2496) เป็นบันทึกพิธีการสำคัญของคริสตศาสนิกชนในประเทศไทย แสดงภาพการอภิเษกพระสังฆราชชาวไทยคนแรกที่ได้ทำหน้าที่ปกครองเขตมิสซังท่าแร่-หนองแสง อันเป็นอัครมุขมณฑลแห่งภาคอีสานของศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิกในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีหนังข่าว กิจการในกระทรวงพาณิชย์ แล คมนาคม THE ACTIVITIES OF THE MINISTRY OF COMMERCE AND COMMUNICATIONS [2470-2472] ที่ฉายให้เห็นกิจการต่าง ๆ ในกระทรวงพาณิชย์แลคมนาคม ไม่ว่าจะเป็น การขนส่งสินค้า กิจการสหกรณ์ กิจการการสื่อสารในยุคการต่อสายโทรศัพท์ รวมทั้งกิจการการควบคุมมาตรฐานสินค้าด้วยการวิเคราะห์ทางเคมี
หนังที่สำคัญและหาดูยากอีกเรื่องได้แก่ [ตัดหัวต่อหัว] [2470 - 2473] ภาพยนตร์ทดลองทั้งในเชิงเทคนิคและเชิงศิลปะที่เก่าแก่ที่สุดของไทยเท่าที่มีการค้นพบ ถ่ายและทำเทคนิคด้วยฝีพระหัตถ์ของ พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ในช่วงราวต้นทศวรรษที่ 2470
ในกลุ่มหนังเล่าเรื่อง (feature film) ที่เคยออกฉายทั่วไปในโรงภาพยนตร์ มีการขึ้นทะเบียนหนังสำคัญ 6 เรื่อง เริ่มต้นจากภาพยนตร์ที่สะท้อนประเด็นทางสังคมและสิทธิสตรีอย่าง เทพธิดา บาร์ 21 (2521) ผลการการกำกับภาพยนตร์เดี่ยวเรื่อแรกของ ยุทธนา มุกดาสนิท ที่ได้ทำหนังเพลงที่ถ่ายทอดเรื่องราวเสียดสีสังคม ทั้งการเอารัดเอาเปรียบผู้ด้อยโอกาส นักการเมืองที่เลวร้าย รวมไปถึงยาเสพติด ท่ามกลางฉากเพลงที่ร้องและเต้นอย่างตระการตา ส.อ.ว.ห้อง 2 รุ่น 44 (2533) ผลงานการกำกับของ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล คนทำหนังผู้ผันตัวมาจากการเป็นนักข่าว เป็นภาพยนตร์เรื่องสำคัญที่ต้องการลุกขึ้นมาเป็นปากเสียงแทนผู้หญิง เพื่อต่อต้านความเหลื่อมล้ำทางเพศอันเป็นสิ่งที่สะสมมานมนานในสังคมไทย October Sonata รักที่รอคอย (2552) ภาพยนตร์รักสามเส้าที่เรียงร้อยเรื่องราวผ่านเหตุการณ์สั่นสะเทือนทางการเมืองและประวัติศาสตร์ของเดือนตุลาคมในช่วงทศวรรษ 2513 - 2520
นอกจากนี้ ยังมี ดรรชนีนาง (2496) หนังยุคฟิล์ม 16 มิลเมตร ก่อนปี 2500 ที่หลงเหลืออยู่น้อยนิด ที่ ส.อาสนจินดา ได้แสดงและร่วมกำกับกับ อิงอร - ศักดิ์เกษม หุตาคม เจ้าของบทประพันธ์ หลังจากทั้งคู่ได้ประสบความสำเร็จในการนำบทประพันธ์เรื่องนี้มาทำเป็นละครเวที มันมากับความมืด (2514) ภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์ ผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่องยาวเรื่องแรกของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล หรือ ท่านมุ้ย และการรับบทบาทพระเอก นางเอกเรื่องแรกของ สรพงศ์ ชาตรี และนัยนา ชีวานันท์ และ แหวนทองเหลือง (2516) ผลงานสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ หรือ “เสด็จพระองค์ชายเล็ก” ทั้งการที่ทรงเปลี่ยนแนวจากภาพยนตร์ตลาดมาเป็นภาพยนตร์แนวมหากาพย์ชีวิตที่เข้มข้นสะเทือนใจ ความยาวเกือบ 4 ชั่วโมงที่ ฉายให้เห็น อารมณ์ ค่านิยม และสภาพชีวิตผู้คนทั้งในตำแหน่งที่สูงสุดและต่ำสุดของบ้านเมือง ท่ามกลางช่วงเวลาสำคัญของประเทศไทยในระยะเวลากว่า 30 ปี ตั้งแต่ต้นสงครามโลก ครั้งที่ 2 มาจนถึงปี พ.ศ. 2516
สำหรับท่านใดที่สนใจรับชมภาพยนตร์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ หอภาพยนตร์ได้จัดให้มีหลากหลายช่องทางการรับชมไม่ว่าจะเป็นการรับชมผ่านสื่อออนไลน์สำหรับภาพยนตร์บางเรื่อง ทั้งในช่อง Youtube หอภาพยนตร์ playlist มรดกภาพยนตร์ของชาติ Facebook หรือ TikTok ของหอภาพยนตร์ และทุกท่านสามารถมารับชมและค้นคว้าภาพยนตร์ทุกเรื่องที่ได้รับการขึ้นทะเขียนมรดกภาพยนตร์ได้ที่ห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี ที่หอภาพยนตร์
อ่านสูจิบัตรขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติออนไลน์ได้ที่ <<คลิก>>
หลักเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาคัดเลือกภาพยนตร์ขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 12
1. คุณค่าทางประวัติศาสตร์และความทรงจำ
เป็นภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของ สถานที่ กาลสมัย บุคคล เหตุการณ์ ที่เกี่ยวข้องกับคนไทยและสังคมไทย ในมิติต่างๆ เช่น มานุษยวิทยา สังคมวิทยา เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ทั้งในฐานะปัจเจกและกลุ่มหรือมวลชน สามารถทำให้ผู้ชมเข้าถึงและเข้าใจมิติเหล่านั้นในเชิงประวัติศาสตร์หรือความทรงจำ
2. คุณค่าทางศิลปะภาพยนตร์
เป็นผลงานภาพยนตร์ที่สร้างสรรค์ อันแสดงถึงศิลปะวิทยาทางด้านภาพยนตร์
3. มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์
เป็นภาพยนตร์ที่มีความโดดเด่นเป็นพิเศษ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น การนำเสนอภาพยนตร์นั้นไม่ว่าการถ่ายทำ การแสดง การตัดต่อ ฯลฯ มีความคิดริเริ่ม ไม่เคยมีแบบอย่างมาก่อนในภาพยนตร์อื่นๆ
4. บูรณภาพ
คือความสมบูรณ์ครบถ้วนของผลงานภาพยนตร์ตรงตามต้นฉบับของผู้สร้างสรรค์ ภาพยนตร์ที่ออกฉายแล้วอาจถูกตัดทอน ถูกเสริมเติมแต่งเพิ่มเติม ถูกดัดแปลงไปด้วยเหตุต่างๆ
5. ความเสี่ยงต่อการสูญเสียหรือยากแก่การหาทดแทน
เป็นภาพยนตร์ที่ยังมีฟิล์มต้นฉบับหรือสำเนาในรูปแบบอื่นใดอยู่ แต่ตกอยู่ในภาวะความเสี่ยงที่จะสูญเสียภาพยนตร์นั้นไป ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ เช่น มีต้นฉบับหรือสำเนาอยู่เพียงชุดเดียว หรือภาพยนตร์นั้นกำลังเสื่อมสภาพ หรือสภาพการจัดเก็บไม่ปลอดภัย ไม่ได้มาตรฐาน เป็นต้น
6. อิทธิพลต่อคนและสังคม
ภาพยนตร์ที่สามารถส่งผลกระทบโดยตรงหรือโดยอ้อมต่อปัจเจกชนและหรือต่อสังคม ไม่ว่าทางด้านพฤติกรรม ความคิด ความเชื่อ อารมณ์ ฯลฯ อาจก่อให้เกิดกระแสสมัยนิยมเกิดการเปลี่ยนแปลง ค่านิยม ขนบธรรมเนียม ไม่ว่าชั่วระยะเวลาสั้นหรือยั่งยืนนาน
ทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 12
1. กิจการในกระทรวงพาณิชย์ แล คมนาคม THE ACTIVITIES OF THE MINISTRY OF COMMERCE AND COMMUNICATIONS [2470 - 2472]
2. [ตัดหัวต่อหัว] [2470 - 2473]
3. ดรรชนีนาง (2496)
4. [งานอภิเษกพระสังฆราชมีแชล มงคล (อ่อน) ประคองจิต] (2496)
5. [การประกวดการจัดบ้านและบริเวณ] (2497)
6. [จอมพลสฤษดิ์ไปอเมริกา] (2501)
7. เด็กกับหมี The Children and the Bear (2502)
8. มันมากับความมืด (2514)
9. แหวนทองเหลือง (2516)
10. เทพธิดา บาร์ 21 (2521)
11. ส.อ.ว.ห้อง 2 รุ่น 44 (2533)
12. October Sonata รักที่รอคอย (2552)
รายชื่อคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตรขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ ประจำปี 2565
1. กฤติยา กาวีวงศ์ ภัณฑารักษ์
2. กษิดิศ อนันทนาธร บรรณาธิการ
3. กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน นักวิจารณ์ภาพยนตร์
4. ผศ.ดร.เกษม เพ็ญภินันท์ นักวิชาการด้านปรัชญา
5. ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ นักจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ศึกษา
6. ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ นักประวัติศาสตร์
7. ศาสตราจารย์ ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ นักประวัติศาสตร์
8. ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ ผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์
9. ธีปนันท์ เพ็ชร์ศรี ครีเอทีฟ
10. นที กอนเทียน แอดมินเพจ 77PPP
11. นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ บรรณาธิการ
12. ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์
13. ประวิทย์ แต่งอักษร นักวิจารณ์ภาพยนตร์
14. พรพิชิต พัฒนถาบุตร นักวิชาการอิสระ
15. พรรณราย โอสถาภิรัตน์ นักวิชาการด้านมานุษยวิทยา
16. พันธุ์ธัมม์ ทองสังข์ ผู้กำกับภาพยนตร์
17. ดร. พิชัยวัฒน์ แสงประพาฬ นักวิชาการด้านภาพยนตร์
18. พิมพกา โตวิระ ผู้กำกับภาพยนตร์
19. ภาณุ บุรุษรัตนพันธุ์ บรรณาธิการ
20. มโนธรรม เทียมเทียบรัตน์ นักวิจารณ์ภาพยนตร์
21. รัศมี เผ่าเหลืองทอง นักเขียนบทละคร
22. ฤทัยวรรณ วงศ์สิรสวัสดิ์ ผู้กำกับการแสดง
23. ผศ.ดร.ลลิตา หาญวงษ์ นักประวัติศาสตร์
24. ดร.วิกานดา พรหมขุนทอง นักวิชาการด้านภาพยนตร์และวัฒนธรรมศึกษา
25. วิภว์ บูรพาเดชะ บรรณาธิการ
26. ศรัณย์ ทองปาน นักเขียนสารคดี
27. ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์แรงงาน
28. ไศลทิพย์ จารุภูมิ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน
29. สิทธิรักษ์ ตุลาพิทักษ์ นักวิจารณ์ภาพยนตร์
30. ผศ.สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ นักวิชาการด้านมานุษยวิทยา
31. สุภัตรา ภูมิประภาส นักเขียน นักแปล
32. โสภิต หวังวิวัฒนา นักจัดรายการวิทยุ
33. อธิป กลิ่นวิชิต สื่อมวลชน
34. อัษฎาวุธ สาคริก นักดนตรีและที่ปรึกษางานศิลปวัฒนธรรม
35. อุรุพงศ์ รักษาสัตย์ ผู้กำกับภาพยนตร์