สักกะ จารุจินดา มีชื่อจริงว่า ชาติ จารุจินดา เกิดเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2465 เรียนจบจากโรงเรียนศิลปากร แผนกช่าง (ต่อมาเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร) เป็นหนึ่งในลูกศิษย์ของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เมื่อศึกษาจบ เป็นช่วงที่สงครามโลกครั้งที่ 2 มาเยือนเมืองไทย เขาได้มีประสบการณ์ทำงานทั้งงานราชการที่เทศบาลนครกรุงเทพฯ งานทหาร ด้วยการเข้าร่วมในสงคราม ได้รับพระราชทานเหรียญชัยสมรภูมิ และงานศิลปะ เป็นฝ่ายศิลปกรรมให้แก่ละครเวทีของกรมศิลปากร และคณะละครศิวารมณ์ ก่อนจะไปทำงานที่การไฟฟ้าหลังสงครามยุติลง
ราว พ.ศ. 2500 เขาเข้าทำงานที่สถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ช่อง 4 บางขุนพรหม ในฝ่ายศิลปกรรม ออกแบบฉากละครและรายการ และได้เป็นทั้งนักแสดง ผู้กำกับรายการ ผู้ประกาศข่าว ผู้พากย์ภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์ ผู้กำกับภาพยนตร์โทรทัศน์ ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ “สักกะ จารุจินดา” รวมทั้งจัดทำละครเรื่องสั้นและละครยาวในนาม “คณะ 67 การละครและภาพยนตร์” ยาวนานต่อเนื่องนับสิบปี
แม้ว่าเส้นทางอาชีพในวงการโทรทัศน์กำลังรุ่งโรจน์ สักกะกลับตัดสินใจหันหลังให้ศิลปะการแสดงทางจอแก้ว เพื่อมาทุ่มเทกับการสร้างสรรค์ศิลปะภาพยนตร์บนจอเงินที่เขาฝันใฝ่ และต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ท่ามกลางสภาพการณ์ของอุตสาหกรรมหนังไทยที่กำลังเปลี่ยนผ่านจากยุคหนัง 16 มม. พากย์ ซึ่งหยุดนิ่งอยู่กับที่มานานนับทศวรรษ ไปสู่หนังมาตรฐาน 35 มม. เสียงในฟิล์ม
ภาพยนตร์เรื่องแรกของ สักกะ จารุจินดา คือ วิมานสลัม หนัง 35 มม. ที่เขากำกับและสร้างด้วยทุนส่วนตัว พร้อมทีมงานหน้าใหม่เกือบทั้งหมด นำแสดงโดยพระเอกชั้นนำ สมบัติ เมทะนี กับ ดวงดาว จารุจินดา ลูกสาวของเขาเอง ภาพยนตร์ออกฉายปลายปี 2514 ที่โรงภาพยนตร์สกาลา โรงหนังชั้นหนึ่งที่ปรกติจะฉายแต่หนังต่างประเทศเป็นหลักจากนั้นเขาจึงมีผลงานสร้างภาพยนตร์ในนาม 67 การละครและภาพยนตร์ ต่อเนื่องทุกปี ตั้งแต่ เข็ดจริงจริงให้ดิ้นตาย (2515) ตามด้วย ตลาดพรหมจารีย์ (2516) ที่ได้รับคำชื่นชมว่าเป็นงานที่พยายามยกระดับหนังไทยให้พ้นจากความเป็นน้ำเน่า และเปรียบเทียบได้กับหนังกระแสนีโอเรียลลิสม์ของวงการหนังอิตาลีที่สะท้อนเรื่องราวของคนตัวเล็กตัวน้อยในชีวิตจริง จนภาพยนตร์ได้รับรางวัลพิเศษสำหรับการแสดงชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยอย่างสมจริงในการประกวดรางวัลตุ๊กตาทอง และทำให้เขากลายเป็นหนึ่งใน “คลื่นลูกใหม่” ของวงการหนังไทย
อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับชะตากรรมของคนทำหนังไทยคุณภาพหลายคน สักกะต้องพบกับความชอกช้ำเรื่องรายได้ที่สวนทางกับคำวิจารณ์ โดยเฉพาะเรื่องถัดมาคือ มาแต่เลือด (2517) ซึ่งเป็นเรื่องสุดท้ายที่เขาสร้างด้วยทุนตัวเอง ต่อมา สักกะได้เข้าสังกัด บริษัท ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น ทำให้เขามีโอกาสสร้างงานที่หลากหลาย ตั้งแต่หนังฟอร์มใหญ่อิงประวัติศาสตร์อย่าง พยัคฆ์ร้ายไทยถีบ (2518) และ ขุนศึก (2519) หนังที่ใช้นักแสดงเด็กเป็นดารานำ เพื่อนรัก (2520) 7 ซุปเปอร์เปี๊ยก (2521) หนังโชว์เทคนิคการถ่ายภาพใต้ทะเล กัปตันเรือปู (2522) หนังแอ็กชัน เพชรตัดเพชร (2527) ไปจนถึงหนังวัยรุ่นและเยาวชนในช่วงท้ายของอาชีพ เช่น หวานมันส์...ฉันคือเธอ (2530) ครูไหวใจร้าย (2532) และ นางอาย (2533) ก่อนจะเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2540 ในวัย 75 ปี
สักกะ จารุจินดา เป็นตัวอย่างสำคัญของคนทำหนังไทยที่อุทิศตนให้แก่การสร้างสรรค์ภาพยนตร์ที่มีจุดมุ่งหมายในการแสดงสารัตถะของชีวิตมนุษย์ ผ่านความสามารถในการถ่ายทอดเนื้อหาแทบทุกประเภทได้อย่างช่ำชอง นอกจากนี้ แม้เขาจะเริ่มต้นงานภาพยนตร์ในวัยเฉียด 50 ปี แต่สักกะยังคงตื่นตัวต่อการเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ รวมทั้งให้โอกาสและถ่ายทอดวิชาให้แก่บุคคลรุ่นใหม่อยู่เสมอ เช่น ดาราที่เริ่มงานแสดงเรื่องแรกกับเขาทั้ง เปียทิพย์ คุ้มวงศ์ ใน ตลาดพรหมจารีย์ และ จินตหรา สุขพัฒน์ ใน ผู้ใหญ่ลีกับนางมา รวมถึงคนทำงานเบื้องหลังที่ต่อมากลายเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ เช่น สมเดช สันติประชา และ จิระ มะลิกุล ไม่นับรวมทายาทของเขาทั้ง 3 คน คือ สุพจน์, ณรงค์ และ ดวงดาว จารุจินดา ที่ล้วนแล้วแต่เติบโตในเส้นทางสายภาพยนตร์
เนื่องในวาระครบ 100 ปีชาตกาลของ สักกะ จารุจินดา หอภาพยนตร์ได้นำสำเนาฟิล์ม 16 มม. ของผลงานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติเรื่อง ตลาดพรหมจารีย์ (2516) อันเป็นฉบับเดียวที่หลงเหลืออยู่มาสแกนภาพใหม่ เพื่อจัดฉายรำลึกให้เห็นถึงความสำคัญและสปิริตของ สักกะ จารุจินดา พร้อมจัดกิจกรรมภาพยนตร์สนทนา “100 ปี สักกะ จารุจินดา ศิลปินผู้วาดชีวิตบนแผ่นฟิล์ม” พูดคุยกับ ดวงดาว จารุจินดา เปียทิพย์ คุ้มวงศ์ และ สมเดช สันติประชา ในวันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน 2565 เริ่มกิจกรรมตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป นอกจากนี้ ยังนำผลงานบางส่วนของเขามาจัดฉายให้ชมต่อเนื่องไปจนถึงเดือนธันวาคม
สำรองที่นั่งกิจกรรมภาพยนตร์สนทนา “100 ปี สักกะ จารุจินดา ศิลปินผู้วาดชีวิตบนแผ่นฟิล์ม ได้ที่ https://fapot.or.th/main/cinema/view/1687