50 ปี ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น

ปี พ.ศ. 2566 เป็นปีที่บริษัท ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น จำกัด ถือกำเนิดขึ้นมาครบรอบ 50 ปี ในฐานะที่ไฟว์สตาร์เป็นหนึ่งในสตูดิโอผลิตภาพยนตร์ที่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยร่วมสมัย และเป็นบ้านของคนทำหนังไทยคนสำคัญจำนวนมากตลอดครึ่งศตวรรษ หอภาพยนตร์จึงร่วมกับบริษัท ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น จัดโปรแกรมพิเศษตลอดเดือนพฤษภาคม เพื่อนำเสนอผลงานเด่น ๆ อันเป็นหมุดหมายทั้งของบริษัทและของวงการภาพยนตร์ไทย

 

ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น ก่อตั้งเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2516 โดย เกียรติ เอี่ยมพึ่งพร เริ่มต้นจากการเป็นบริษัทจัดจำหน่ายภาพยนตร์ ก่อนจะก้าวเข้ามาผลิตภาพยนตร์ตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษนั้น ซึ่งเป็นช่วงที่วงการเพิ่งเปลี่ยนผ่านจากการสร้างภาพยนตร์ด้วยฟิล์ม 16 มม. มาสู่ฟิล์ม 35 มม. อันส่งผลให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์มีระบบการทำงานที่เป็นมาตรฐานมากขึ้น


ในเวลาไม่นาน ไฟว์สตาร์ได้รวบรวมผู้กำกับหนังไทยคุณภาพมาไว้อย่างคับคั่งทั้ง วิจิตร คุณาวุฒิ, เปี๊ยกโปสเตอร์, สักกะ จารุจินดา, แจ๊สสยาม, ชนะ คราประยูร, ยุทธนา มุกดาสนิท ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีโรงถ่ายของบริษัทและโรงภาพยนตร์ในเครือ ทำให้ยกระดับกลายเป็นค่ายใหญ่ของวงการมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2520 และมีบทบาทสำคัญในกระแสความเปลี่ยนแปลงของหนังไทยมาโดยตลอด เช่น ยุคหนังวัยรุ่นในทศวรรษ 2530 ซึ่งมีผลงานเด่นออกมามากมาย หรือทศวรรษ 2540 ที่คนทำหนังโฆษณาได้เข้ามาปฏิวัติวงการหนังไทย ไฟว์สตาร์ก็มีส่วนร่วมด้วยการให้โอกาสแก่ผู้กำกับหน้าใหม่ทั้ง เป็นเอก รัตนเรือง และ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ได้แสดงฝีมือ และเปิดพื้นที่เข้าสู่เวทีโลก 


โปรแกรม 50 ปี ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น ได้คัดสรรผลงานเรื่องสำคัญของค่ายไฟว์สตาร์ที่ยังคงอยู่ในความทรงจำของแฟนหนังไทย รวม 15 เรื่อง เช่น บ้านทรายทอง (2523) น้ำพุ (2527) บุญชูผู้น่ารัก (2530) กระโปรงบานขาสั้น (2536) สติแตกสุดขั้วโลก (2538) เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล (2546) เฉือน (2552) พี่นาค (2562) ฯลฯ อันเป็นเพียงบางส่วนจากกว่า 260 เรื่องที่สร้างสรรค์ไว้ในช่วงห้าทศวรรษที่ผ่านมา 


นอกจากนี้ในวันเสาร์ที่ 13 พฤษภาคม 2566 จะมีกิจกรรมสนทนาถึงประวัติและการเดินทางของไฟว์สตาร์กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้ง ทิพวรินทร์ นิลดำ ผู้อำนวยการฝ่ายลิขสิทธิ์และจัดจำหน่าย ยุทธนา มุกดาสนิท คนทำหนังระดับศิลปินแห่งชาติที่เริ่มต้นจากไฟว์สตาร์ ภณธฤต โชติกฤษฎาโสภณ ผู้กำกับผลงานเรื่องสำคัญในยุคหลัง รวมทั้งเรื่องล่าสุดของปีนี้คือ หุ่นพยนต์ ร่วมด้วย สุริยา เยาวสังข์ นักแสดงที่แจ้งเกิดกับไฟว์สตาร์ตั้งแต่วัยรุ่นและเพิ่งหวนกลับมาร่วมงานกันอีกครั้ง ผู้จะมาประทับรอยมือรอยเท้าในกิจกรรมลานดารา ที่จัดขึ้นควบคู่กันไปในโอกาสพิเศษนี้ 


เปิดงานด้วยการฉายภาพยนตร์เรื่อง ผีเสื้อและดอกไม้ (2528) ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป ณ โรงภาพยนตร์ศาลาศีนิมา ชั้น 6 อาคารสรรพสาตรศุภกิจ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ไม่เสียค่าใช่จ่ายในการร่วมกิจกรรม  


กำหนดการ

13.00 น. ฉายภาพยนตร์เรื่อง "ผีเสื้อและดอกไม้" (2528) 

15.15 น. สนทนาในหัวข้อ "50 ปี ไฟว์สตาร์ โปรดักชัน" กับ 

        - ทิพวรินทร์ นิลดำ ผู้อำนวยการฝ่ายลิขสิทธิ์และจัดจำหน่าย บริษัท ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น 

        - ยุทธนา มุกดาสนิท ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง เทพธิดา บาร์ 21, น้ำพุ, ผีเสื้อและดอกไม้ ฯลฯ

        - สุริยา เยาวสังข์ นักแสดงภาพยนตร์เรื่อง ผีเสื้อและดอกไม้, กว่าจะรู้เดียงสา, หุ่นพยนต์ ฯลฯ 

        - ภณธฤต โชติกฤษฎาโสภณ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง พี่นาค, หุ่นพยนต์ ฯลฯ

16.30 น. พิธีประทับรอยมือรอยเท้า ณ ลานดารา ของ สุริยา เยาวสังข์



สำรองที่นั่งได้ที่  https://fapot.or.th/main/cinema/view/1987


ประวัติสุริยา เยาวสังข์ ดาวดวงที่ 196 บนลานดารา




สุริยา เยาวสังข์ เกิดเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2514  เริ่มเข้าสู่วงการภาพยนตร์เมื่อได้รับการคัดเลือกจาก ยุทธนา มุกดาสนิท ให้มารับบทเป็น “ฮูยัน” เด็กชายชาวใต้ผู้แสวงหาทางออกให้ครอบครัวอันแร้นแค้น ใน ผีเสื้อและดอกไม้ (2528) ของบริษัท ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น ซึ่งประสบความสำเร็จและได้รับเสียงชื่นชมอย่างสูง จากนั้น สุริยาได้มีผลงานร่วมกับไฟว์สตาร์อีก 2 เรื่อง คือ กว่าจะรู้เดียงสา (2530) และ วงศาคณาญาติ (2530) รวมทั้งร่วมแสดงใน ซอสามสาย (2531)  ของอัครเศรณีโปรดักชั่น จนเมื่อครอบครัวส่งไปศึกษาต่อที่ประเทศจีน เขาจึงต้องหยุดพักงานแสดงไป


พ.ศ. 2538 สุริยากลับมามีผลงานละครโทรทัศน์ รวมทั้งทำงานเบื้องหลังภาพยนตร์อีกหลายเรื่อง ก่อนที่ในปี 2566 เขาจะกลับมามีผลงานการแสดงให้แก่ค่ายไฟว์สตาร์อีกครั้ง ในภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของบริษัท ซึ่งมี 2 ฉบับ คือ หุ่นพยนต์ และ ปลุกพยนต์


ข่าวสารที่น่าสนใจ

อ่านข่าวทั้งหมด

Hommage à Chris Marker

23 ธ.ค. 64 - 23 ธ.ค. 64  กิจกรรม

Hommage à Chris Marker โปรแกรมพิเศษในเทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 25 ในวาระ 100 ปี คริส มาร์กเกอร์ คนทำหนังผู้บุกเบิกหนังแนว essay filmคริส มาร์กเกอร์...

อ่านรายละเอียด

วันหนังบ้านครั้งที่ 13 (ฉบับออนไลน์)

16 ต.ค. 64 - 16 ต.ค. 64  กิจกรรม

พบกับความอบอุ่นประทับใจจากหนังบ้านในวันวานของหลากหลายครอบครัว ใน Home Movie Day Thailand 2021 หรือ วันหนังบ้าน (ฉบับออนไลน์) เสาร์ที่ 16 ตุลาคมนี้ เวล...

อ่านรายละเอียด

การแสดงโคมเชิดหนังในวันสรรพสาตร

17 ต.ค. 64 - 17 ต.ค. 64  กิจกรรม

ชมการแสดงโคมเชิดหนัง อุปกรณ์ก่อนภาพยนตร์กาลที่จะกลับมาฉายแสงอีกครั้งในวันสรรพสาตร เนื่องในวันครบรอบวันประสูติของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทอง...

อ่านรายละเอียด