เดือนมีนาคม พ.ศ. 2465 หรือ 2466 หากนับตามปีปฏิทิน เฮนรี แม็กเร ผู้สร้างภาพยนตร์จากสหรัฐอเมริกา ได้เดินทางเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในสยาม โดยได้รับการดูแลช่วยเหลือจากกรมรถไฟหลวงในด้านการเดินทางและจัดหาสถานที่ฉายหนัง และกรมมหรสพหลวงในด้านนักแสดง
เมื่อถ่ายทำเสร็จ แม็กเรได้มอบฟิล์ม 1 สำเนาให้แก่กรมรถไฟหลวง ตามสัญญาแลกกับการช่วยเหลือ และกรมรถไฟหลวงได้ให้สยามภาพยนตร์บริษัท ที่มีโรงภาพยนตร์อยู่ในเครือจำนวนมาก เป็นผู้จัดจำหน่ายนำออกฉายตามโรงต่าง ๆ อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2466 ในชื่อเรื่องว่า นางสาวสุวรรณ ซึ่งเป็นชื่อที่ได้รับการจดจำมาจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านั้น แม็กเรได้ถวายฟิล์ม 1 สำเนาแด่รัชกาลที่ 6 ซึ่งทรงนำออกจัดฉายที่โรงภาพยนตร์ในเครือของสยามนิรามัย โดยใช้ชื่อว่า สุวรรณสยาม ในวันที่ 22 มิถุนายน หนึ่งวันก่อนสยามภาพยนตร์บริษัท
เหตุการณ์ดังกล่าวนับเป็นปรากฏการณ์สำคัญ เพราะนี่เป็นภาพยนตร์ต่างประเทศเรื่องแรกที่ใช้คนไทยแสดงนำตลอดทั้งเรื่อง และเกิดความนิยมจนทำให้มีการเรียกร้องให้คนไทยสร้างหนังด้วยตนเอง อันนำไปสู่การสร้าง “หนังไทยเรื่องแรก” จริง ๆ เรื่อง โชคสองชั้น ในอีก 4 ปีต่อมา แต่ผู้คนทั่วไปก็ยังมักเข้าใจไปว่า นางสาวสุวรรณ เป็นหนังไทยเรื่องแรกอยู่เสมอ
อิทธิพลของ นางสาวสุวรรณ ได้รับการบอกเล่าอยู่ในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ในเมืองไทยมาช้านาน จนกระทั่ง พ.ศ. 2523 โดม สุขวงศ์ จึงได้เริ่มต้นขบวนการตามหา นางสาวสุวรรณ ก่อนที่จะตั้งหอภาพยนตร์ในเวลาต่อมา และมีผู้ร่วมขบวนการเกิดขึ้นอีกจำนวนหนึ่ง แต่ปัจจุบันก็ยังคงไม่พบฟิล์มภาพยนตร์เรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม ระหว่างทางของการตามหานั้นก็ทำให้ได้มาซึ่งข้อมูลและหลักฐานต่าง ๆ ที่ช่วยปะติดปะต่อเรื่องราวให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
เนื่องในวาระครบรอบ 100 ปี วันแรกฉายอย่างเป็นทางการของ นางสาวสุวรรณ หอภาพยนตร์ขอเชิญมาร่วมสนทนากับ โดม สุขวงศ์ ที่จะมาบอกเล่าถึงการตามหา ปริศนา และหลักฐานที่ค้นพบ รวมถึงข้อมูลต่าง ๆ ที่น่าสนใจ ในวันศุกร์ที่ 23 มิถุนายน 2566 เปิดงานด้วยการฉายหนังไทยที่กล่าวถึง นางสาวสุวรรณ เรื่อง โหน่งเท่ง นักเลงภูเขาทอง (2549) ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป ที่โรงภาพยนตร์ศาลาศีนิมา หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
สำรองที่นั่งที่ <<คลิก>>