เชื่อว่านักดูหนังหลายคน คงจะเคยผ่านตาชื่อของ “จอห์น วอเตอร์ส” หรือได้ยินกิตติศัพท์ถึง “ฉากในตำนาน” แต่น้อยคนที่จะได้ชมภาพยนตร์ของเขาอย่างเป็นทางการบนจอใหญ่ เนื่องในวาระครบรอบ 100 ปี การถือกำเนิดขึ้นของฟิล์ม 16 มม. กิจกรรม “ทึ่ง! หนังโลก x Cinema Lecture” ประจำเดือนกันยายนนี้ มีความยินดีที่จะพาผู้ชมท่องไปในโลกอันแสนโสมม ผ่านการนำเสนอ Pink Flamingos (1972) และ Female Trouble (1974) ผลงานที่ถ่ายทำด้วยฟิล์ม 16 มม. ซึ่งสร้างชื่อให้กับนักทำหนังคนสำคัญของโลกวัย 77 ปี ผู้ได้รับสมญานามว่าเป็น “พระสันตะปาปาแห่งหนังขยะ” หรือ “Pope of Trash”
แม้จะเติบโตจากครอบครัวฐานะดี และเป็นคริสต์คาทอลิกแบบเคร่งครัด แต่เด็กหนุ่มจากเมืองบัลติมอร์ รัฐแมริแลนด์ ฉายแววความขบถมาตั้งแต่เรียนมัธยม ทั้งย้อมสีและไว้ผมยาวรุงรัง จนสร้างปัญหาแก่บาทหลวงที่โรงเรียนสอนศาสนาอยู่เสมอ ในช่วงเวลานี้ วอเตอร์สเริ่มเข้าสู่โลกแห่งงานเขียนและศิลปะ ทั้งอ่านหนังสือและดูหนังทุกประเภท สิ่งนี้เสมือนจุดหล่อหลอมตัวตนและแนวคิดที่ทำให้เขากลายเป็นศิลปินที่โดดเด่นในเวลาถัดมา
ด้วยแรงสนับสนุนจากครอบครัว วอเตอร์สตั้งปณิธานที่จะเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ เมื่อเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย เขาเลือกศึกษาต่อด้านภาพยนตร์ที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก แต่จากการเห็นต่างเรื่องการเรียนกับผู้สอน เขาจึงเลือกหันหลังและใช้ชีวิตสำมะเลเทเมาไปวัน ๆ ไม่นานหลังจากนั้น เขาถูกมหาวิทยาลัยไล่ออก และตัดสินใจกลับบ้านเกิด รวมตัวกับเพื่อน ๆ ก่อตั้งสตูดิโอทำหนังใต้ดินชื่อ Dreamland Production โดยมีหนึ่งในทีมงานคนสำคัญคือ ดิไวน์ (แฮร์ริส เกล็นน์ มิลส์เตด) นักแสดงแดร็กควีนที่ต่อมาได้รับการจดจำว่าเป็นดาราคู่บุญและจุดขายในหนังของวอเตอร์ส
ผลงานเรื่องแรกของสตูดิโอคือ Mondo Trasho (1969) หนังขาวดำที่มีองค์ประกอบเต็มไปด้วยความพิลึกพิลั่น แต่ผลงานที่เรียกได้ว่าพลิกชีวิต คือผลงานลำดับที่ 3 อย่าง Pink Flamingos ภาพยนตร์ที่ได้ชื่อว่าอื้อฉาวและสร้างอารมณ์กระอักกระอ่วนแก่คนดูมากที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์
Pink Flamingos ว่าด้วย ดิไวน์ กะเทยร่างใหญ่ที่ได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์ที่โสโครกที่สุดในโลกที่ยังคงมีชีวิตอยู่ หลังจากมีชื่อเสียงโด่งดัง เธอถูกหมายหัวจากคู่สามีภรรยาตระกูลมาร์เบิล ผู้มีเป้าประสงค์โค่นล้มเธอจากตำแหน่งดังกล่าว
นี่คือภาพยนตร์ที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นยุคทองของวอเตอร์ส ทั้งก่อเกิดกลุ่มลัทธิจากคนดูที่บูชาเขาราวกับเป็นศาสดา แม้วิธีการนำเสนองานภาพที่ดิบแบบสุดโต่งจะห่างไกลจากคำว่ารื่นรมย์ หนำซ้ำไม่ได้ยกระดับจิตใจของผู้ชมแม้แต่เพียงเศษเสี้ยว แต่สิ่งที่ทำให้วอเตอร์สได้รับการยกย่องเป็นอย่างมาก คือการนำเสนอเรื่องราวได้อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู และผลักเส้นแบ่งเขตแดนของศิลปะภาพยนตร์ออกมาแบบไม่ประนีประนอม พร้อมกับเสียดสีตัวตนคนอเมริกันได้อย่างเจ็บแสบ
ถัดจากนั้นมา 2 ปี วอเตอร์สและทีมงานชุดเดิมสร้าง Female Trouble ภาพยนตร์อาชญากรรมที่ถ่ายทอดชีวิตบัดซบของสตรีนิสัยกักขฬะ ผู้ดิ่งลงท่ามกลางความโหดร้ายของสังคมตั้งแต่วัยรุ่น ที่แม้อาจมีลีลาหวือหวาน้อยกว่าเรื่องก่อนหน้า แต่ภายในยังคงเพียบพร้อมด้วยองค์ประกอบเฉพาะตัว ทั้งงานภาพเชิงทัศนะอุจาด และอุดมไปด้วยพฤติกรรมหยาบโลนของตัวละคร อย่างไรก็ดี วอเตอร์สยังคงยั่วล้อความบ้าคลั่งที่ซ่อนตัวในสังคมอเมริกันได้อย่างถึงพริกถึงขิง โดยผลงานเรื่องนี้ถูกนับเป็นหนังลำดับที่ 2 ของ “Trash Trilogy” ถัดจาก Pink Flamingos โดยมี Desperate Living (1977) เป็นผลงานปิดท้ายไตรภาค
ภาพยนตร์นับเป็นศิลปะที่กว้างขวางและยิ่งใหญ่ ศิลปินต่างมีสุนทรียศาสตร์ที่จะนำเสนอในรูปแบบที่แตกต่างกัน เฉกเช่นผลงานของ จอห์น วอเตอร์ส ที่แม้ฉากหน้าจะชวนเบือนหน้าหนี แต่นับเป็นความตั้งใจของผู้สร้างที่รอให้ผู้ชมพิสูจน์คุณค่าที่แท้จริงภายใน การที่หอสมุด Library of Congress ขึ้นทะเบียน Pink Flamingos เป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติเมื่อปี 2021 คือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นเป็นรูปธรรมที่สุด
เตรียมร่างกายให้พร้อมและร่วมชมภาพยนตร์สองเรื่องสำคัญของ จอห์น วอเตอร์ส พร้อมฟังการบรรยายโดย ณพัฎน์ จิตตภินันท์กัณตา นักเขียน ผู้กำกับ และอาจารย์บรรยายพิเศษด้านภาพยนตร์ แฟนหนังตัวยง ผู้ซึ่งได้รับอิทธิพลสำคัญจากผลงานของ จอห์น วอเตอร์ส โดยถ่ายทอดออกมาผ่านผลงานภาพยนตร์สั้นและหนังสือรวมเรื่องสั้นเรื่อง “Drag Queen และซูเปอร์ฮีโร่คนอื่น ๆ”
กำหนดการ
วันอาทิตย์ที่ 17 กันยายน 2566
ณ โรงภาพยนตร์ศาลาศีนิมา หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
13.00 น. - Pink Flamingos (1972 / 93 นาที) สำรองที่นั่ง <<คลิก>>
15.00 น. - Cinema Lecture โดย ณพัฎน์ จิตตภินันท์กัณตา
17.00 น. - Female Trouble (1974 / 89 นาที) สำรองที่นั่ง <<คลิก>>
**ภาพยนตร์สำหรับผู้ชมที่มีอายุ 20 ปี ขึ้นไป**