นิทรรศการโรงถ่าย 3 “From Dreams to Reels”

การสร้างภาพยนตร์ขึ้นมาสักหนึ่งเรื่องอาจเป็นความฝันของหลาย ๆ คน ซึ่งกว่าจะทำให้ฝันเป็นจริงขึ้นมาได้นั้น ต้องผ่านกระบวนการที่ซับซ้อน การใช้ความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงอาศัยความร่วมมือจากผู้คนจำนวนมาก นิทรรศการ “โรงถ่าย 3” จะเป็นพื้นที่ในการสำรวจและทำความเข้าใจกระบวนการในการสร้างภาพยนตร์ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ


จากจุดเริ่มต้นที่หอภาพยนตร์มีโครงการจะทำนิทรรศการภาพยนตร์ชุดใหม่ในห้องจัดแสดงชั้น 3 ในอาคารสรรพสาตรศุภกิจเพื่อให้สาธารณชนมาเรียนรู้เที่ยวชม ทีมงานนิทรรศการจึงระดมความคิดกันมากมายว่า หัวเรื่องใดที่ควรจะนำเสนอ ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์โลก ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย อิทธิพลบทบาทของหนัง ศิลปะภาพยนตร์ เทคโนโลยี ฯลฯ สุดท้ายมาลงตัวที่เรื่องกระบวนการสร้างภาพยนตร์ โดยอยากนำเสนอในรูปแบบของโรงถ่ายภาพยนตร์ เพราะต้องการให้ผู้ชมเห็นขั้นตอนการทำงานต่าง ๆ ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบของกระบวนการว่าในการสร้างภาพยนตร์สักหนึ่งเรื่องจะต้องทำอะไรบ้าง เบื้องต้นคิดว่าจะนำเนื้อหามาจากภาพยนตร์ไทยที่เคยสร้าง ใช้บท ใช้เอกสารการสร้างต่าง ๆ รวมทั้งสิ่งของประกอบฉากที่ทีมงาน ผู้สร้าง ผู้กำกับภาพยนตร์ เคยมอบให้หอภาพยนตร์มาจัดแสดง และจะจำลองฉากที่โดดเด่นจากภาพยนตร์ที่เป็นที่จดจำขึ้นมา เพื่อให้ผู้ชมนิทรรศการเห็นภาพบรรยากาศกองถ่าย ซึ่งเลือกกันอยู่หลายฉากหลายเรื่องก็ไม่ได้ข้อสรุป เพราะภาพยนตร์แต่ละเรื่องมีจุดที่น่าสนใจแตกต่างกันไป เรื่องนั้นก็ดี เรื่องนี้ก็ใช่ จนในที่สุดจึงเกิดความคิดว่า ทำไมไม่นำเรื่องที่ไม่เคยถูกสร้างเป็นภาพยนตร์มาทำกันล่ะ และเหมือนมีบางสิ่งดลใจ ทำให้มีผู้เสนอเรื่อง สงครามชีวิต ของ ศรีบูรพา ขึ้นมา เพราะมีบทภาพยนตร์ที่ เชิด ทรงศรี ซึ่งบูชาศรีบูรพาเป็นไอดอลการเขียนหนังสือ และฝันจะทำนิยายเรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ ถึงขนาดเขียนบทจนแล้วเสร็จแต่ก็ถูกทัดทานว่าอย่า ทำด้วยเหตุผลทางการตลาด จึงเก็บบทนี้ไว้ตั้งแต่ปี 2541 สุดท้ายหอภาพยนตร์ได้รับมอบบทภาพยนตร์เรื่องนี้จากทายาทมาเก็บรักษาไว้




ข้อเสนอที่จะนำบทสงครามชีวิตมาสร้างเป็นภาพยนตร์ในคราวนี้ไร้ซึ่งเสียงทัดทาน ทีมงานล้วนเห็นตรงกันว่าจะใช้บทภาพยนตร์ของเชิดมาเป็นแกนหลักของนิทรรศการเพื่อใช้ถ่ายทอดเรื่องราวของกระบวนการผลิตภาพยนตร์ด้วยเหตุผลคือ ต้องการทำความฝันของ เชิด ทรงศรี ให้เป็นจริงขึ้นมา 


เมื่อมีบทภาพยนตร์อยู่ในมือแล้ว การทำงานในขั้นต่อไปคือการรวบรวมทีมงาน โปรดักชัน โดยเริ่มจากการหาผู้กำกับภาพยนตร์เป็นอันดับแรก เพราะเป็นหัวใจสำคัญของคนที่จะเป็นผู้นำทิศทางและรูปแบบของภาพยนตร์เรื่องนี้ และคนแรกที่หอภาพยนตร์นึกถึงคือ สมเกียรติ์ วิทุรานิช ผู้กำกับภาพยนตร์เจ้าของผลงาน October Sonata รักที่รอคอย (2552) ซึ่งในเรื่องมีเงาของเพลินและระพินทร์ ตัวละครเอก จากนิยายสงครามชีวิตทับซ้อนอยู่ เมื่อได้รับการทาบทามให้มากำกับสงครามชีวิต สมเกียรติ์ตกลงรับงานด้วยความยินดี ตามมาด้วยการหาทีมงานฝ่ายอื่นทั้งกล้อง ไฟ เสียง ฝ่ายศิลปกรรม ฝ่ายคัดเลือกนักแสดง ฝ่ายออกแบบเสื้อผ้า ฝ่ายสถานที่ ผู้จัดการกองถ่าย เมื่อได้ทีมงานครบ การสร้างภาพยนตร์สงครามชีวิตก็เริ่มต้นขึ้น โดยผู้กำกับได้เลือกฉากที่จะถ่ายทำมาเพียง 5 ฉาก และทำบทถ่ายทำหรือ shooting script ขึ้นมาใหม่โดยปรับมาจากบทของเชิดซึ่งเขียนไว้เป็น screenplay คือบทที่มีการแบ่งฉากและบทเจรจาตั้งแต่ต้นจนจบ แต่ยังไม่ได้แตกฉากเป็นคัตและไม่ได้กำหนดมุมกล้อง ระหว่างที่เริ่มกระบวนการการสร้างภาพยนตร์ งานอีกฝั่งหนึ่งที่ต้องทำควบคู่ไปพร้อมกันคือ งานออกแบบการจัดแสดง ที่จะถ่ายทอดเรื่องราวและขั้นตอนการทำงานของกองถ่ายทำภาพยนตร์สงครามชีวิตออกมาเป็นชุดนิทรรศการในชื่อ “โรงถ่าย 3”




งานสร้างภาพยนตร์สงครามชีวิตมีกระบวนการทำงานเหมือนกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั่วโลก คือประกอบด้วย 3 ขั้นตอนหลัก ได้แก่ ขั้นเตรียมการถ่ายทำ หรือ Pre-Production ขั้นกระบวนการถ่ายทำ หรือ Production และขั้นหลังการถ่ายทำ หรือ Post-Production ดังนั้น นิทรรศการ “โรงถ่าย 3” จึงแบ่งการจัดแสดงออกเป็น 3 ส่วนหลักเช่นกัน


ส่วนที่ 1 Pre-Production


ห้องนักเขียน




จำลองห้องทำงานของศรีบูรพา และ เชิด ทรงศรี มาไว้ด้วยกันในห้องนี้ ผู้ชมจะได้ทำความรู้จักกับเส้นทางชีวิตของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ ศรีบูรพา นักคิดนักเขียนที่ดีที่สุดคนหนึ่งของประเทศ ควบคู่ไปกับเรื่องราวของ เชิด ทรงศรี ผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ซึ่งทั้งสองมีความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงถึงกัน แม้ต่างฝ่ายต่างไม่เคยพบเจอกันมาก่อน


ห้องจัดหาทุน




จัดแสดงให้เห็นถึงขั้นตอนในการขอทุนสำหรับการสร้างภาพยนตร์ ว่าผู้ขอทุนต้องเตรียมข้อมูลอะไรเพื่อนำไปเสนอขอทุน แสดงรายละเอียดงบประมาณสำหรับการสร้างภาพยนตร์ แสดงรายชื่อแหล่งทุนภาครัฐ แหล่งทุนภาคเอกชน แหล่งทุนต่างประเทศ รวมไปถึงรายชื่อบริษัทผู้สร้างภาพยนตร์ต่าง ๆ ของประเทศ  ส่วนนี้ผู้ชมจะได้ทดลองยื่นข้อเสนอเพื่อขอทุนในการสร้างภาพยนตร์ในรูปแบบของตัวเอง


ห้องกระจายงาน




จัดแสดงขั้นตอนและกระบวนการเตรียมถ่ายทำภาพยนตร์ ตั้งแต่การประชุมวางแผนงาน การเตรียมงานและการทำงานก่อนถ่ายทำของทีมกล้อง ทีมไฟ ทีมเสียง วิธีการเลือกนักแสดง ขั้นตอนออกแบบฉาก การคัดสรรเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์ประกอบฉากที่นำมาใช้ถ่ายทำภาพยนตร์


ส่วนนี้ผู้ชมสามารถทดลองเข้าร่วมคัดเลือกนักแสดงและค้นหาสถานที่ถ่ายทำเพื่อเข้าใจในกระบวนการนี้มากยิ่งขึ้น 


ส่วนที่ 2 Production




จัดแสดงฉากที่ถูกสร้างขึ้นสำหรับถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องสงครามชีวิตทั้งหมด 5 ฉาก มีทั้งฉากภายนอกบ้าน ฉากภายในบ้าน ในช่วงปี 2474 ฉากจำลองสะพานพุทธ นอกจากนี้ยังมีส่วนของเทคนิคพิเศษที่ใช้ถ่ายทำภาพยนตร์ กรีนสกรีน (Green Screen) และโมเดลจำลองมินิเอเจอร์ (Miniature Model)


ในส่วนนี้ผู้ชมสามารถทดลองทำหน้าที่ต่าง ๆ ในขั้นตอนของการถ่ายทำภาพยนตร์ได้ เช่น การกำกับการแสดง การจัดแสงในฉาก หรือแม้แต่การทดลองเป็นนักแสดงเอง


ส่วนที่ 3 Post-Production


ห้องสยามพัฒนาฟิล์ม


จำลองสถานที่และอุปกรณ์จริงของ บริษัท สยามพัฒนาฟิล์ม จำกัด ซึ่งเป็นกิจการให้บริการหลังการถ่ายทำที่สำคัญรายหนึ่งในประเทศไทย ในปัจจุบันยุติส่วนบริการแล็บภาพยนตร์แล้ว และบริจาคอุปกรณ์ทั้งหมดที่จัดแสดงแก่หอภาพยนตร์



ห้องปฏิบัติการหลังการถ่ายทำ


ในส่วนนี้เป็นการรวบรวมเครื่องมืออุปกรณ์การทำงานในกระบวนการหลังการถ่ายทำภาพยนตร์ เช่น เครื่องล้างฟิล์มภาพยนตร์ขนาด 35 มม. ชุดอุปกรณ์การปรับสี เครื่องตัดต่อภาพยนตร์ เครื่องแอนิเมชันที่ใช้สำหรับการสร้างเอฟเฟกต์พิเศษต่าง ๆ การบันทึกเสียง การทำเสียงประกอบ โดยผู้ชมจะได้ทดลองสร้างสรรค์ผลงานของตัวเองด้วยการทำเสียงประกอบและตัดต่อภาพยนตร์ในแบบฉบับของตัวเอง




และในส่วนสุดท้ายการเข้าโรงฉาย เป็นการจำลองบรรยากาศห้องขายตั๋วและเข้าสู่โรงภาพยนตร์


นิทรรศการชุดนี้ไม่เพียงแต่เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการสร้างภาพยนตร์ที่ผู้เข้าชมได้เรียนรู้จากขั้นตอนการทำงานที่เกิดขึ้นจริงเท่านั้น หอภาพยนตร์ยังหวังว่านิทรรศการชุดนี้จะเป็นพื้นที่ที่สร้างแรงบันดาลใจ ขับเคลื่อนความฝัน และกระตุ้นให้ผู้คนลงมือทำตามความฝันให้เป็นจริง 


นิทรรศการ “โรงถ่าย 3” เปิดให้เข้าชมทุกวันอังคาร-อาทิตย์ (ปิดวันจันทร์) เวลา 09.30-17.30 น. ที่อาคารสรรพสาตรศุภกิจ ชั้น 3 หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

---------------------------
โดย อังศดา โสภณานนท์
ที่มา: จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 84 ประจำเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2567


เส้นทางประวัติศาสตร์ภาพยนตร์

พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย

เมืองมายา

นิทรรศการรถหนังขายยา

นิทรรศการลานไปดวงจันทร์

นิทรรศการภาพค้างติดตา: Persistence of vision