สายใต้

image

ภาคใต้นับเป็นพื้นที่ที่มีอัตลักษณ์แข็งแรงและโดดเด่น ไม่ว่าจะสำเนียงภาษา อาหารการกิน ศิลปวัฒนธรรม นิสัยใจคอ หรือความเป็นท้องถิ่นนิยม ตลอดจนภูมิประเทศที่งดงาม แต่ในขณะเดียวกัน ดินแดนปลายด้ามขวานแห่งนี้ยังเป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา และความเชื่อของผู้คนเข้าไว้ด้วยกัน ท่ามกลางประวัติศาสตร์และอารยธรรมที่เข้มข้นยาวนาน

 

เรื่องราวในภาคใต้จึงอุดมไปด้วยแง่มุมและวัตถุดิบให้หยิบยกมานำเสนอผ่านสื่อภาพยนตร์ เดือนพฤษภาคมนี้ หอภาพยนตร์ขอพาผู้ชมออกเดินทางผ่าน “สายใต้” ลงไปสำรวจภาคใต้ในบริบทต่าง ๆ ผ่านสายตาคนทำหนัง เริ่มต้นจากผลงาน “หนังเรื่องแรก” ของผู้กำกับคนใต้แท้ ๆ ตั้งแต่ระดับตำนาน เชิด ทรงศรี  ผู้นำศิลปะการแสดงพื้นเมืองและฉากนครศรีธรรมราชบ้านเกิด มาผูกเรื่องเป็นภาพยนตร์ โนห์รา (2509) ห้าสิบปีต่อมา เอกชัย ศรีวิชัย อีกหนึ่งศิลปินเมืองคอนคนสำคัญ ซึ่งผันตัวมาสร้างหนังเกี่ยวกับภาคใต้อย่างต่อเนื่องจริงจังก็ได้นำศิลปะมโนราห์มาถ่ายทอดอีกครั้งใน เทริด (2559) และคนสุดท้ายคือ เกรียงไกร มณวิจิตร จากนราธิวาส เจ้าของผลงาน รักนะ ซุปซุป (2563) หนังโรแมนติกที่เล่าผ่านการทำอาหารมลายู และวิถีชีวิตสังคมพหุวัฒนธรรมในชายแดนใต้ 


จากวัฒนธรรมมาสู่ประเด็นทางการเมือง ในโปรแกรมนี้มีย้อนไปตั้งแต่ นรกตะรูเตา (2519) หนังที่กล่าวถึงเกาะคุมขังนักโทษการเมืองในช่วงทศวรรษ 2480 ถัดมาคือ หาดใหญ่ใจสู้ (2512) ผลงานชุด 7 ประจัญบาน ยุคสงครามเย็นที่ใช้หาดใหญ่เป็นฉากหลัง และ พลเมืองจูหลิง (2552) สารคดีขนาดยาวซึ่งฉายภาพความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนใต้ ผ่านกรณีการสูญเสียของครูสาวผู้ถูกจับเป็นตัวประกันและรุมทำร้าย


ปัญหาไฟใต้ยังถูกกล่าวถึงใน โอเค เบตง (2546) เรื่องราวของอดีตพระที่จำต้องสึกออกมาใช้ชีวิตร่วมระหว่างสังคมไทยพุทธและมุสลิม ในทศวรรษเดียวกันนั้น ยังมีงานเกี่ยวกับภาคใต้ที่เป็นที่จดจำทั้ง ตะลุมพุก มหาวาตภัยล้างแผ่นดิน (2545) หนังแนวภัยพิบัติที่สร้างจากเหตุการณ์พายุถล่มครั้งใหญ่ในปี 2505 และ มหา’ลัยเหมืองแร่ (2548) ผลงานดัดแปลงจากชุดเรื่องสั้นของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ที่กลั่นมาจากประสบการณ์สมัยทำงานเหมืองที่พังงา


ข้ามมายังทศวรรษ 2550 ช่วงเวลาที่หนังไทยนอกกระแสเริ่มมีบทบาทมากขึ้น ภาคใต้ก็ยังเป็นหนึ่งในหัวข้อที่ได้รับการนำมาบอกเล่าอย่างหลากหลาย ในโปรแกรมนี้มีทั้ง ที่ว่างระหว่างสมุทร (2558) ซึ่งนำเสนอแง่มุมของแรงงานพม่าพลัดถิ่นที่คอคอดกระ มหาสมุทรและสุสาน (2558) ที่ถ่ายทอดบรรยากาศอันลึกลับและหวาดระแวงในการเดินทางลงปัตตานีของหญิงสาวมุสลิมจากกรุงเทพฯ มหาลัยวัวชน (2560) ภาพยนตร์ว่าด้วยความฝันและพลังหนุ่มของกลุ่มเด็กใต้ ซึ่งมีเพลงประกอบโด่งดังทั่วประเทศ ไปจนถึง ทะเลของฉัน มีคลื่นเล็กน้อย ถึงปานกลาง (2566) ผลงานที่เพิ่งได้รับการกล่าวถึงจากปีล่าสุด ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างหญิงมุสลิมและศิลปินหญิงที่เดินทางมาเปิดนิทรรศการศิลปะที่ภาคใต้ ปิดท้ายด้วย Patong Girl หรือ สาวป่าตอง (2557) หนังร่วมทุนสร้างไทย-เยอรมนี ที่มาเป็นตัวแทนให้เห็นภาพของภาคใต้ในฐานะแหล่งท่องเที่ยวสำคัญสำหรับชาวต่างชาติ



Fiction/Nonfiction

คุณาวุฒิ ๑๐๑ : A Retrospective

ลานดารา นันทวัน เมฆใหญ่

รำลึก วินัย ไกรบุตร

เทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ประเทศไทย ครั้งที่ 19

ภาพยนตร์โลก WORLD CINEMA PROGRAMME