Fiction/Nonfiction

image

นิยามของคำว่า “ภาพยนตร์สารคดี” (documentary หรือ nonfiction film) และ “ภาพยนตร์เล่าเรื่อง” (fiction film) ไม่ได้ถูกแช่แข็งตายตัว แต่ลื่นไหล เปลี่ยนแปลง ข้ามสายพันธุ์และท้าทายการขบคิดอยู่เสมอ ปัญหาทางปรัชญาและปริศนาแห่งภาพยนตร์ว่า สิ่งใดคือ “เรื่องจริง” และสิ่งใดคือ “เรื่องแต่ง” ไม่สามารถมีคำตอบตายตัวได้เสมอไป หนังจำนวนไม่น้อยที่ท้าทายภาวะสภาพที่แท้จริง (reality) โดยการผสมผสานเรื่องจริง เรื่องเล่า เรื่องแต่ง การสมมติ การจำลองเหตุการณ์ การทำใหม่ การใช้คนจริงร่วมกับนักแสดง หรือการเอาตัวคนทำหนังเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องจริงที่กำลังเล่า ในยุคแห่งการผสมผสาน คำว่า “สารคดี” ไม่ได้หมายถึงการถ่ายภาพเหตุการณ์ตรงหน้าเท่านั้น แต่หลายครั้งที่สารคดีใช้ภาษาและวิธีการของหนัง fiction หรือ หนังเล่าเรื่อง เพื่อพาคนดูไปสู่ความเข้าใจหรือประสบการณ์ใหม่


โปรแกรม Fiction/Nonfiction พยายามตรวจสอบพรมแดนของเรื่องจริง-เรื่องเล่าผ่านหนังในโปรแกรม สาเหตุหนึ่งของการจัดโปรแกรมนี้ คือการที่หอภาพยนตร์จะร่วมกับสถาบัน The Flaherty ของสหรัฐฯ จัดงาน The Flaherty Film Seminar งานสัมมนาประกอบกับกิจกรรมฉายภาพยนตร์และอภิปรายถกเถียงนานหกวันต่อกัน ระหว่างวันที่ 27 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม โดยจะมีแต่เฉพาะหนัง nonfiction อันเป็นแนวทางที่บุกเบิกโดย Robert Flaherty นักทำหนังสารคดีคนสำคัญ (ผู้สร้าง Nanook of the North) และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบัน The Flaherty ในนครนิวยอร์ก งานนี้เปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมเฉพาะกลุ่ม และมีรอบทั่วไปแบบไม่เปิดเผยรายละเอียดโปรแกรมในวันที่ 29 - 30 มิถุนายน 2567

.

โปรแกรม Fiction/Nonfiction นี้ จึงเป็นโปรแกรมเสริมจากหอภาพยนตร์เพื่อเรียกน้ำย่อยก่อนถึงงานดังกล่าว รวมถึงเพื่อเป็นการสำรวจภูมิทัศน์ของ “หนังสารคดี” และชี้ให้เห็นความลื่นไหล ลักลั่น เลือนรางในนิยามของเรื่องจริง-เรื่องเล่า ในรูปแบบต่าง ๆ กัน 


หนังไทยที่เป็นต้นแบบของการผสมผสานสารคดีกับเหตุการณ์สมมุติ ได้แก่ ทองปาน (2520) ภาพยนตร์ที่มาก่อนกาลอย่างแท้จริงด้วยการสลับวิธีการเล่าเรื่องไปมาระหว่างสารคดีและเรื่องเล่า ซ้อนทับไปอีกเมื่อหนังใช้คนอีสานมา “แสดง” เป็นคนอีสาน พัวพันไปกับเหตุการณ์จริงในการเรียกร้องให้ยุติการสร้างเขื่อน 

.

ภาพยนตร์ไทยร่วมสมัยอีกจำนวนหนึ่งพร่าเลือนเส้นแบ่งเรื่องเล่าและเรื่องจริง ดอกฟ้าในมือมาร (2543) เป็นหนังทดลองที่ใช้คนจริงเพื่อเล่าเรื่องแต่ง และทำลายกำแพงที่กั้นระหว่างคนดูกับคนทำหนังลงในที่สุด นคร-สวรรค์ (2562) เล่าประสบการณ์ชีวิตจริงของครอบครัวผู้กำกับสลับกับหนังที่ใช้นักแสดง ซึ่งเป็นเทคนิคการเล่าเรื่องที่คล้ายคลึงในบางมุมกับ อัตภาวกาล (2562)  ส่วน ใจจำลอง (2564) ท้าทายการรับรู้คนดูด้วยการเล่าเรื่องกลุ่มเพื่อนวัยรุ่นผ่านการใช้นักแสดง แต่กลับหักมุมด้วยการสอดแทรกภาพที่คนดูไม่แน่ใจว่าเป็นงานสารคดีหรือภาพหลอนจากประวัติศาสตร์ หมอนรถไฟ (2559) ออกตัวเป็นหนังสารคดีแบบ observational หรือการสังเกตการณ์ภาพชีวิตคนบนรถไฟ ก่อนที่หนังจะก้าวข้ามเส้นแบ่งแห่งเวลาและนิยามไปอีกภพแห่งภาพยนตร์ สลับมาสู่อีกขั้วอารมณ์หนึ่ง สาระแนห้าวเป้ง (2552) เป็นหนังตลกประเภท candid camera (หรือจะบอกว่าเป็น mockumentary ก็ได้) ที่ถึงแม้จะเน้นมุกแกล้งคนในบรรยากาศไร้สาระและชวนหัว แต่เป็นหนังที่ทำให้คนดูถกเถียงได้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นเรื่องจริงที่กล้องถ่ายได้หรือเป็นการจัดฉาก เป็นเรื่องจริงหรือเพียงเรื่องเล่า


หนังในโปรแกรม Fiction/Nonfiction นี้ยังข้ามเส้นไปแตะงานกึ่งทดลองในตำนานอันหาดูยากอย่าง Birth of Seanema (2547) และ ลุงนิ่วไปเยี่ยมเพื่อนบ้าน (2554) ปิดท้ายด้วย Lumiere! (2559) สารคดีว่าด้วยกรุหนังของพี่น้องลูมิแอร์ ที่นับเป็นต้นธารของการบันทึกภาพเคลื่อนไหวทั้งแบบเหตุการณ์จริงและแบบจัดฉากแสดง ซึ่งจะฉายในฉบับพากย์เสียงไทยที่โดย โดม สุขวงศ์ และ A Trick of Light (2538) สารคดีที่มีการจำลองเหตุการณ์ถ่ายทำใหม่โดย วิม เวนเดอร์ส ซึ่งเล่าถึงสองพี่น้องสกลาดานอฟสกี ผู้มีส่วนในการกำเนิดภาพยนตร์โลกเช่นเดียวกัน



คุณาวุฒิ ๑๐๑ : A Retrospective

ลานดารา นันทวัน เมฆใหญ่

รำลึก วินัย ไกรบุตร

สายใต้

เทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ประเทศไทย ครั้งที่ 19

ภาพยนตร์โลก WORLD CINEMA PROGRAMME