รถไฟเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์มาตั้งแต่ต้น นับจากที่พี่น้องลูมิแอร์ของฝรั่งเศสได้ถ่ายภาพรถไฟวิ่งเข้าชานชาลาที่เมืองลา ซิโอตาต์ ใน ค.ศ. 1895 และนำไปฉายจนสร้างความตื่นตระหนกให้ผู้ชมที่คิดว่ารถไฟกำลังจะวิ่งออกมาชน หนังเรื่อง The Arrival of a Train at La Ciotat นี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความมหัศจรรย์ของสื่อภาพยนตร์ในยุคแรก อีกทั้งภาพยนตร์และรถไฟยังเป็นประดิษฐกรรมอันเป็นผลพวงจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของผู้คนในทุกมิติ สำหรับประเทศไทย ประดิษฐกรรมสองสิ่งนี้ยังมีความทรงจำร่วมอันแนบแน่น เมื่อ พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน นักถ่ายหนังสมัครเล่นคนสำคัญ ได้ทรงก่อตั้งกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าวขึ้นในกรมรถไฟหลวงที่พระองค์ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการ เมื่อ พ.ศ. 2465 อันถือเป็นศูนย์ผลิตภาพยนตร์อย่างเป็นทางการแห่งแรกของไทย
เนื่องใน “วันบุรฉัตร” 14 กันยายน อันเป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ในเดือนกันยายนนี้ หอภาพยนตร์ได้นำเสนอโปรแกรม รถไฟสายภาพยนตร์ Railway Cinema รวบรวมภาพยนตร์ทั้งไทยและเทศที่ใช้รถไฟเป็นส่วนสำคัญของเนื้อเรื่อง หรือมีฉากเกี่ยวกับรถไฟอันน่าจดจำ เริ่มต้นด้วยหนังสารคดีจากยูเครน Train Kyiv-War (2563) ที่หอภาพยนตร์ร่วมกับคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถานเอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศไทย จัดฉายเป็นรอบพิเศษ คู่กับหนังสารคดีรถไฟไทยเรื่องสำคัญ หมอนรถไฟ (2559) เป็นหนังสองเรื่องจากสองประเทศที่ถ่ายทำบนรถไฟและมีตัวละครเป็นผู้โดยสารทั้งหมด สารคดีไทยอีกเรื่องที่เหตุการณ์เกิดขึ้นบนรถไฟทั้งหมดได้แก่ Wish Us Luck ขอให้เราโชคดี (2556) ที่ผู้กำกับถ่ายทำการเดินทางรถไฟสายไซบีเรียของตัวเอง
นอกจากนี้ยังมี ไอ้ผาง ร.ฟ.ท. (2525) หนังแอ็กชันที่มีตัวเอกเป็นพนักงานการรถไฟ ผีเสื้อและดอกไม้ (2528) หนังดรามาที่มีฉากรถไฟที่น่าจดจำมากที่สุดเรื่องหนึ่ง ปิดท้ายด้วยหนังต่างประเทศ Compartment No. 6 (2564) หนังฟินแลนด์-รัสเซีย ว่าด้วยมิตรภาพของคนแปลกหน้าที่ต้องร่วมห้องโดยสารเดียวกันในรถไฟที่มุ่งหน้าไปยังตอนเหนือของรัสเซีย ในขณะเดียวกันยังรวมถึง The Sleeping Cars Murders (2508) หนังฝรั่งเศสแนวสืบสวนจากโปรแกรมภาพยนตร์โลก ที่มีเนื้อหาว่าด้วยเหตุฆาตกรรมบนรถไฟ