พิศาล อัครเศรณี

พิศาล อัครเศรณี เกิดเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2488 เป็นน้องชายของกิตติ อัครเศรณี อดีตผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ชื่อดัง ด้วยชีวิตที่ค่อนข้างยากลำบากในวัยเยาว์ พิศาลผู้มีบุคลิกแบบนักสู้มาตั้งแต่เด็ก ถึงกับเคยสมัครขึ้นชกมวยอาชีพตามเวที เพื่อหาเงินมาช่วยเหลือครอบครัว โดยไม่ได้มีความคิดอยากเป็นนักแสดงมาก่อนเลยสักครั้ง  


จุดเปลี่ยนมาถึงในช่วงประมาณ ปี พ.ศ. 2505 เมื่อ ถนอม อัครเศรณี อดีตนักแสดงและนักตอบปัญหาหัวใจทางหน้าหนังสือพิมพ์ชื่อดัง นามปากกาว่า  "ศิราณี"  ซึ่งเป็นอาแท้ ๆ ของพิศาล  ได้นำพาเขาให้เข้ามาสอบอ่านข่าวทางวิทยุที่สำนักข่าวสารอเมริกัน (USIS) พิศาลจึงเริ่มผันตัวจากนักกีฬามาเป็นสู่วงการวิทยุอย่างเต็มตัว ในเวลาเพียงไม่นาน  เขากลายเป็นทั้งผู้ประกาศข่าว นักจัดรายการ นักพากย์สารคดี รวมทั้งเล่นละครวิทยุอีกหลายสิบเรื่อง ทั้งที่สถานีวิทยุ ททท. และสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม 


ในระหว่างที่ได้แสดงความสามารถทางการใช้เสียงอย่างเต็มที่อยู่นี้เอง พิศาลก็ได้รับการชักชวนจาก ชาญยุทธ สระแก้ว นักเขียนบทละครเพลงทางโทรทัศน์ ให้มาเล่นละครโทรทัศน์เรื่อง "อัมพิกาเทวี"  โดยได้รับบทเป็นขุนศึก ซึ่งความยากของละครร้องในยุคนั้น คือนักแสดงต้องแสดงสดออกจอโทรทัศน์ร่วมครึ่งชั่วโมง โดยดาราใหม่อย่างพิศาล ต้องจำทั้งคำพูดและเนื้อเพลง ซึ่งแม้จะเกิดอาการสั่นเพราะความตื่นเต้น แต่เขากลับได้รับคำชมจากหลายต่อหลายคน  ว่าสามารถแสดงอารมณ์ออกมาให้ได้อย่างดีเยี่ยม ซึ่งนับเป็นการปรากฏตัวต่อสาธารณชนครั้งแรกในฐานะนักแสดงได้อย่างสวยงาม


นับตั้งแต่นั้น พิศาลก็เริ่มเป็นที่รู้จักในบทบาทนักแสดงละครโทรทัศน์  กระทั่งช่วงต้นทศวรรษที่ 2510 จึงเริ่มมีผลงานการแสดงภาพยนตร์ อย่าง สายเลือดเดียวกัน (2512)  เรือมนุษย์ (2513)  แต่ส่วนใหญ่แล้ว เขายังคงปรากฏตัวอยู่ในจอแก้วเป็นหลัก สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะในช่วงเวลานี้เขาได้เข้ามาทำงานที่สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 โดยนอกจากการเป็นดาราระดับพระเอกแล้ว ยังได้แสดงความสามารถทั้งด้านการเขียนบทและกำกับการแสดงอีกด้วย  ซึ่งในช่วงปลายทศวรรษนี้ พิศาลได้เริ่มมีโอกาสกำกับภาพยนตร์เป็นเรื่องแรกคือ วิวาห์เงินผ่อน ออกฉายในปี พ.ศ. 2518


ช่วงเวลาที่แท้จริงของ พิศาล อัครเศรณี ในโลกภาพยนตร์ไทยนั้น เกิดขึ้นในทศวรรษถัดมา เมื่อเขามีผลงานการแสดงภาพยนตร์ออกมามากมายกว่าสามสิบเรื่อง  ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2521 - 2530 เริ่มต้นจากการรับบทนำในภาพยนตร์รักโรแมนติกเรื่อง รักเอย ของ ม.จ.ทิพยฉัตร ฉัตรชัย ออกฉายในปี พ.ศ. 2521 ซึ่งสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ชมในเวลานั้น 


แต่บทบาทที่กลายเป็นภาพแทนของพิศาล อัครเศรณี สำหรับแฟนหนังไทยนั้น  คือ บทพระเอกที่แสนโหดร้าย กักขฬะ และมักปะทะคารมกับนางเอกด้วยวาจาดุเดือด  รวมทั้งชอบโต้ตอบการตบตีของนางเอกด้วยการจูบหรือการแสดงความรักจนทำให้นางเอกใจอ่อนเสมอ ทำให้เขาได้รับฉายาว่าพระเอกตบจูบ หรือ พระเอกซาดิสม์ อย่างเช่นในเรื่อง มนต์รักอสูร (2521)  เลือดทมิฬ (2522) ไฟรักอสูร (2526) หัวใจเถื่อน (2528) อุ้งมือมาร (2529) ฯลฯ ซึ่งเป็นบุคลิกแบบพิเศษที่ทำให้เขาแตกต่างจากพระเอกโดยทั่วไปอย่างสิ้นเชิง  นอกจากนี้ในช่วงเวลาเดียวกัน เขายังขึ้นแท่นเป็นผู้กำกับภาพยนตร์อย่างเต็มตัว และมีผลงานออกมามากมายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการเป็นนักแสดง โดยมักร่วมแสดงในภาพยนตร์ที่ตนเองกำกับอยู่บ่อยครั้ง 


ผลงานที่โดดเด่นเหล่านี้เกิดขึ้นจากการเอาจริงเอาจังในการทำงาน ของ พิศาล อัครเศรณี  ซึ่งได้รับการยอมรับโดยทั่วกันจากผู้คนในวงการ รวมทั้งเขาเองยังเคยได้รับรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี ในสาขาผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากเรื่อง พิศวาสซาตาน (2529) และสาขานักแสดงประกอบชายยอดเยี่ยม จากเรื่อง พ่อปลาไหลแม่พังพอน (2531)   


หลังจากช่วงต้นทศวรรษที่ 2530 พิศาลเริ่มถอยห่างจากวงการภาพยนตร์ และกลับไปโดดเด่นทางจอแก้วเช่นเดิม   ผลงานภาพยนตร์หลังจากช่วงเวลานี้ของเขาจึงมีออกมาไม่มากนัก ปัจจุบัน ความสามารถในด้านวงการบันเทิงของเขาได้ถ่ายทอดมายังทายาทอย่าง  พิยดา อัครเศรณี  ลูกสาวผู้เป็นนักแสดงและพิธีกรที่มีชื่อเสียง รวมทั้ง อัครพล อัครเศรณี ลูกชายผู้เริ่มมีบทบาทในฐานะผู้กำกับการแสดง 


เมื่อวันเสาร์ที่ 20 เมษายน 2556 หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้รับเกียรติอย่างสูงจาก  นักแสดงมากฝีมือท่านนี้ มาประทับรอยพิมพ์มือรอยพิมพ์เท้าเป็นดาวดวงที่ 139 ที่ ลานดารา หน้าโรงภาพยนตร์ศรีศาลายา 





ชมภาพบรรยากาศกิจกรรมลานดารา พิศาล อัครเศรณี ได้ที่ <<คลิก>>