อภิรดี ภวภูตานนท์ เกิดเมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2508 ที่กรุงเทพมหานคร เมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่น เธอเริ่มมีผลงานถ่ายแบบโฆษณา จนเป็นที่สะดุดตาของนักปั้นดารามือทอง จิรวรรณ กัมปนาทแสนยากร เจ้าของบริษัทภาพยนตร์ “จิรบันเทิงฟิล์ม” ซึ่งหวังปลุกปั้นให้เธอก้าวขึ้นเป็นดาวดวงใหม่ประดับวงการภาพยนตร์ไทย
ภาพยนตร์เรื่องแรกที่เธอได้รับโอกาสคือ แม่หัวลำโพง ภาพยนตร์แนวบู๊ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในยุคนั้น จากนางแบบวัยใส รูปร่างบอบบาง จึงต้องผันตัวเข้าไปฝึกซ้อมทักษะการต่อสู้กับครูฝึกมืออาชีพ เพื่อมารับบทเป็นสาวสลัมผู้คอยขัดขวางอิทธิพลเถื่อน โดยได้ประกบคู่กับ สรพงศ์ ชาตรี พระเอกยอดนิยมแห่งยุค
เมื่อออกฉายในปี พ.ศ. 2526 ฝีมือการแสดงและบทบู๊ที่เฉียบขาดของนางเอกหน้าใหม่ ก็ส่งผลให้ชื่อของ อภิรดี ภวภูตานนท์ กลายเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว และมีผลงานภาพยนตร์ทำนองนี้ออกมามากมายในช่วงเริ่มต้นอาชีพนักแสดง เช่น อั้งยี่ (2526) อีสาวเมืองสิงห์ (2526) ป่าเดือด (2527) ชุมแพ ภาค 2 (2527) ลำพูนดำ (2527) ไอ้งูเห่า (2528) สาวลมกรด (2528) สู้สะท้านเมือง (2528) เป็นต้น นอกจากนี้ เธอได้ยังไปร่วมงานเป็นนางเอกให้แก่ ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น ค่ายหนังยักษ์ใหญ่ของวงการ ใน เงิน เงิน เงิน (2526) และ เพชรตัดเพชร (2527) ซึ่งเป็นการนำภาพยนตร์เรื่องดังในอดีตกลับมาสร้างใหม่
ผลงานหนังบู๊จำนวนมากส่งผลให้เธอขึ้นแท่นป็นราชินีนักบู๊อีกคนหนึ่งของวงการ กระทั่งเมื่อ พิศาล อัครเศรณี พระเอกและผู้กำกับชื่อดัง ได้ชักชวนให้เธอมารับบทร้ายในหนังแนวเข้มข้นเชือดเฉือนอารมณ์ตามที่เขาถนัด เรื่อง อุ้งมือมาร ออกฉายในปี พ.ศ. 2529 ภาพลักษณ์ของเธอก็ค่อย ๆ เปลี่ยนจากนักบู๊กลายเป็นตัวร้ายไปโดยปริยาย จากการได้รับบทบาทแนวเดียวกันนี้ตามมาอีกหลายเรื่อง อาทิ สะใภ้ (2529) พิศวาสซาตาน (2529) สะใภ้เถื่อน (2530) เมียหมายเลข 1 (2530) ฉันรักผัวเขา (2530) เรือมนุษย์ (2531) เป็นต้น รวมทั้งยังส่งผลให้เธอได้รับรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี สาขาผู้แสดงประกอบฝ่ายหญิงยอดเยี่ยมจากเรื่อง ภุมรีสีทอง (2530) และ ดาวร้ายหญิงยอดเยี่ยม จากเรื่อง คนกลางเมือง (2531) อีกด้วย
เมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 2530 อภิรดี ภวภูตานนท์ ได้เริ่มเข้าไปโลดแล่นสร้างสีสันในวงการโทรทัศน์ และประสบความสำเร็จอย่างมาก เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผลงานภาพยนตร์ของเธอค่อย ๆ ลดน้อยถอยลงไปตามลำดับ อย่างไรก็ตาม เธอก็ยังมีผลงานภาพยนตร์ประดับวงการไว้มากมายกว่า 60 เรื่อง โดยผลงานที่โดดเด่นในช่วงหลังได้แก่ คำพิพากษา (2532) แม่เบี้ย (2532) รวมทั้งยังได้มีส่วนร่วมในสองภาคแรกของภาพยนตร์ระดับปรากฏการณ์ของประเทศ เรื่อง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตอน องค์ประกันหงสา (2550) และ ประกาศอิสรภาพ (2550) ซึ่งนับเป็นผลงานภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของเธอ
ชมภาพบรรยากาศกิจกรรมลานดารา อภิรดี ภวภูตานนท์ ได้ที่ <<คลิก>>