ชื่อในการแสดง ทม วิศวชาติ
ชื่อ-นามสกุลจริง ชาญ เชยโสภณ
วันเกิด 7 กันยายน พ.ศ. 2478
พิมพ์มือลานดารา 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2551
ทม เกิดที่กรุงเทพมหานคร ขณะเรียนแผนกภาษาต่างประเทศปีสุดท้ายของโรงเรียนบพิตรพิมุข เคยแสดงเป็นพระเอกละครเวทีของโรงเรียน โดยครั้งนั้นมีการเชิญ ส.อาสนจินดา มาเป็นผู้กำกับละครเวที ซึ่ง ส.อาสนจินดา พึงพอใจในบุคลิกหน้าตาและความสามารถทางการแสดงของทมและรอจนกระทั่งทมเรียนจบ ขณะที่ทมเองก็คิดที่จะเดินทางไปเรียนต่อยังต่างประเทศ แต่ ส.อาสนจินดา ก็ชักชวนทมให้เข้าวงการภาพยนตร์ไทยจนได้ โดยตั้งชื่อให้ว่า ทม วิศวชาติ ปรากฏตัวครั้งแรกในภาพยนตร์ 16 มม. เรื่อง ยอดรักคนยาก ใช้คำโฆษณาว่า“ทม วิศวชาติ สุภาพบุรุษศิลปินคนใหม่จากโรงถ่ายภาพยนตร์ ส.อาสนจินดา”ยอดรักคนยาก เป็นภาพยนตร์ชีวิตรักเศร้าเคล้าน้ำตา มีนางเอกสาวชาวฮ่องกงชื่อ ยูไมซิน แสดงนำ มี ส.อาสนจินดา เป็นทั้งพระเอก ผู้สร้าง ผู้กำกับการแสดง เข้าฉายวันที่ 29 กรกฎาคม 2498 ที่โรงภาพยนตร์บรอดเวย์
จากนั้นชื่อของทมก็เป็นที่รู้จักของแฟนภาพยนตร์ โดยแสดงภาพยนตร์เรื่อง ขวัญใจคนจน (2498 ส.อาสนจินดา-ยูไมซิน) ทุรบุรุษทุย (2500 ส.อาสนจินดา-วิภา-ทม) ประดู่ไม่รู้โรย (2500 ทม-เลิศลักษณ์) ทรชนคนดี (2500 ทัศนาภรณ์-ดนัย-ทม) ชาติอาชาไนย (2500 รัตนาภรณ์-เชาว์-ทม) หนึ่งต่อเจ็ด (2501 สุรสิทธิ์-วิไลวรรณ) สามสิงห์ (2501 ทม-แน่งน้อย) เกล็ดแก้ว (2501 รัตนาภรณ์-แมน-ทม) งูเห่าไฟ (2502 ทม-แน่งน้อย) มนุษย์ผีสิง (2503 ทม-ทิพย์มณี) สายสวาทยังไม่สิ้น (2503 ทม-อมรา) แพรดำ (2504 รัตนาวดี-ทม) สลักจิต (2504 ชนะ-รสริน-ทม) มหาเวสสันดร (2504 รุจน์-ไชยา) คีรีมาศ (2505 ทม-บุศรา) ปัทมานางแก้ว (2505 รสริน-ทม) ฯลฯ
ต่อมาในช่วงที่วงการโทรทัศน์ไทยเริ่มตื่นตัว ผู้สร้างและดาราหลายคนต่างหันไปเอาดีทางงานแสดงโทรทัศน์ พฤหัส บุญ-หลง จึงชักชวนทมเข้าสู่วงการโทรทัศน์ที่วิกสนามเป้า (ทีวี ช่อง 5) ทำให้เดือนหนึ่ง ๆ ทมจะมีงานแสดงละครโทรทัศน์มากถึง 25 วัน โดยจะแสดงคู่กับนางเอกดังหลายคนเช่น สุพรรณ บูรณะพิมพ์
หลังจากทมเก็บเงินจากการแสดงภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ได้พักหนึ่ง ทมก็เดินทางตามฝันไปเรียนต่อวิชาธุรกิจการบันเทิงที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 2 ปีและกลับมาเริ่มงานบันเทิงใหม่อีกครั้ง โดยครั้งนี้ นอกจากทมจะรับแสดงละครโทรทัศน์ แสดงภาพยนตร์แล้วยังรับเป็นผู้กำกับละครโทรทัศน์หลายเรื่องเช่น ฉุยฉาย ทางไทยทีวีสี ช่อง 3 และเคยสร้าง-กำกับภาพยนตร์ เช่นเรื่อง ปลาร้าหอม (2524 สรพงศ์-คนางค์) เขยสี่ทิศ (สรพงศ์-ปิยะมาศ)
ภายหลังเมื่อพ้นยุคการเป็นพระเอกภาพยนตร์ไทยแล้ว ทมยังรับงานแสดงภาพยนตร์ในบทบาทอื่น ๆ ติดต่อกันอีกหลายเรื่องทั้งระบบ 16 มม.และ 35 มม. เช่น รุ่งทิพย์ (2505 มิตร-รัชนี) สิงห์สันติภาพ (2509 ลือชัย-โสภา) โนห์รา (2509 สมบัติ-พิศมัย) ดาวพระศุกร์ (2509 มิตร-พิศมัย) นักเลงสี่แคว (2510 มิตร-เนาวรัตน์) ลูกปลา (2512 มิตร-เพชรา) ไอ้สู้ (2513 สมบัติ-เพชรา) ไอ้เบี้ยว (2513 มิตร-ลือชัย) พุดตาน (2514 สมบัติ-เพชรา) สุดสายป่าน (2515 ครรชิต-เพชรา) คุ้มนางฟ้า (2515 ครรชิต-เพชรา) รักคืนเรือน (2515 สมบัติ-เพชรา) เจ้าสาวเรือพ่วง (2516 ครรชิต-เพชรา) หัวใจหิน (2516 สมบัติ-เพชรา) ไม่มีคำตอบจากสวรรค์ (2516 สมบัติ-อรัญญา) ผู้ดีเถื่อน (2517 ไพโรจน์-อรัญญา) นี่หรือผู้หญิง (2517 ยอดชาย-ภาวนา) ถนนนี้ชั่ว (2518 สมบัติ-ทัศน์วรรณ) ลูกผู้ชาย (2518 กรุง-ดวงนภา) เสาร์ 5 (2519 กรุง-สรพงศ์) ฟ้ามิอาจกั้น (2519 ยอดชาย-วันดี) วีระบุรุษกองขยะ (2519 สรพงศ์-ทัศน์วรรณ) รุกฆาต (2520 กรุง-สรพงศ์) ตามฆ่า 20,000 ไมล์ (2520 กรุง-สรพงศ์) นักล่าผาทอง (2521 กรุง-สรพงศ์) ลูกชั่ว (2522 กรุง-อุเทน) เสือสะดิ้ง (2524 พอเจตน์-ปิยะมาศ) ปลาร้าหอม (2524 สรพงศ์-คนางค์) สนับมือ (2524 สรพงศ์-พิศาล) ลูกสาวแม่ค้า (2524 สรพงศ์-มนตรี) ชีวิตเลือกไม่ได้ (2524 อัศวิน-อนุสรณ์) แสนซน (2525 ไกรสร-จารุณี) ประกาศิตนักเลง (2525 สรพงศ์-ปิยะมาศ) ฯลฯ