ชินกร ไกรลาศ

ดาวดวงที่ 20

ชื่อในการแสดง ชินกร ไกรลาศ

ชื่อ-นามสกุลจริง ชิน ฝ้ายเทศ

วันเกิด 1 เมษายน พ.ศ. 2489

พิมพ์มือลานดารา 4 ตุลาคม พ.ศ. 2551


ชินกร เกิดที่อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย เรียนจบชั้น ป.4 จากโรงเรียนวัดคุ้งยาง มีความสนใจการร้องเพลงพื้นบ้านมาตั้งแต่เด็ก ๆ เคยเป็นนักร้องเพลงเชียร์รำวงจนอายุได้ 16 ปี เป็นเพื่อนรักกันกับ ทิว สุโขทัย นักร้องลูกทุ่ง ประมาณปี 2507 หลังจากได้ชมการแสดงของวงดนตรีคณะพยงค์ มุกดาพันธุ์ จึงขอสมัครเข้าเป็นนักร้องของวง ต่อมามีผลงานเพลงบันทึกแผ่นเสียงครั้งแรกในเพลง ลูกทุ่งชีวิต ไต่เต้าการเป็นนักร้องจนมีชื่อเสียงตามลำดับ ผลงานเพลงที่สร้างชื่อให้ชินกรเป็นที่รู้จักของประชาชนได้แก่เพลง ยอยศพระลอ เพชฌฆาตใจ เพชรร่วงในสลัม ต่อมาชินกรได้ตั้งวงดนตรีเป็นของตนเองชื่อ วงดนตรีชินกร ไกรลาศ รับงานแสดงดนตรีทั่วไป 

ชินกร เป็นนักร้องลูกทุ่งที่สามารถประยุกต์เพลงพื้นบ้านมาผสมผสานกับการแสดงดนตรีลูกทุ่งได้หลายลักษณะ ทั้งร้องลำตัด เพลงฉ่อย เพลงเกี่ยวข้าว เพลงเรือ เพลงอีแซว ต่อมาปี 2513 ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดดนตรีลูกทุ่งไทยในงานวชิราวุธานุสรณ์ ปี 2514 ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานจากเพลง ยอยศพระลอ ปี 2532 และปี 2534 ได้รับรางวัลนักร้องลูกทุ่งดีเด่น กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ตามลำดับ ได้รับรางวัลนักร้องเพลงไทยผู้ออกเสียงภาษาไทยถูกต้องจากมหาวิทยาลัยมหิดลและต่อมาในปี 2541 ได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงลูกทุ่ง) 


ในด้านการแสดงภาพยนตร์นั้น ปี 2511 เพลง ยอยศพระลอ ที่ ชินกร ไกรลาศ ขับร้องไว้โด่งดังมาก จึงถูกนำมาใช้เป็นเพลงเอกในภาพยนตร์ 35 มม. เสียงในฟิล์มเรื่อง พระลอ (มิตร-เพชรา) สร้างโดย ไถง สุวรรณฑัต ผลก็คือ ทำให้เพลงนี้โด่งดังยิ่งขึ้นอีก เพียงแต่ในเรื่องนั้นให้ มีศักดิ์ นาครัตน์ นักร้องเพลงไทยสากลเป็นผู้แสดงแทนเท่านั้น 


ต่อมา รังสี ทัศนพยัคฆ์ ผู้สร้างผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง สร้างภาพยนตร์ 16 มม. เรื่อง ชาติลำชี ซึ่งเป็นภาพยนตร์แนวบู๊ แต่มีการสอดแทรกเพลงเข้าไปถึง 7 เพลงและเพื่อต้องการให้สมจริงมากขึ้น จึงนำนักร้องลูกทุ่งที่ร้องเพลงดังกล่าวมาร่วมแสดงในฉากนั้น ๆ ด้วยโดยถ่ายด้วยฟิล์ม 35 มม. เพื่อแก้ปัญหาการวางเพลงของนักพากย์ที่มักจะวางเสียงคลาดเคลื่อน ซึ่งหนึ่งในนักร้องที่ถูกเชิญมาแสดงนั้น ก็คือ ชินกร ไกรลาศ 


หลังจากภาพยนตร์เรื่อง ชาติลำชี เข้าฉายเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2512 ทั้งบทเพลง นักร้องที่เชิญมาแสดงภาพยนตร์ถูกกล่าวขวัญอย่างมาก ทำให้ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จเกินคาด จากนั้น รังสี ทัศนพยัคฆ์ จึงเดินหน้าสร้างภาพยนตร์เพลงระบบ 35 มม. เต็มรูปแบบเรื่อง มนต์รักลูกทุ่ง (2513 มิตร-เพชรา) ต่อทันที ส่วนบรรดาผู้สร้างภาพยนตร์รายอื่น ๆ ก็โหนกระแสนักร้องบุกจอเงิน มีการแทรกทั้งเพลงทั้งนักร้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของภาพยนตร์เพิ่มมากขึ้น ชินกรเองก็ได้รับผลพลอยได้จากกระแสดังกล่าวด้วยเช่นกันเพราะถูกเชิญให้ไปร่วมแสดงภาพยนตร์โดยเฉพาะในฉากร้องเพลงอีกหลาย ๆ เรื่อง เช่น กิ่งแก้ว (2513 มิตร-สุทิศา) อยากดัง (2513 สมบัติ-สุทิศา) เงินจางนางจร (2513 สมบัติ-เพชรา) รักนิรันดร์ (2513 สมบัติ-เพชรา) จอมบึง (2513 สมบัติ-อรัญญา) สิงห์สาวเสือ (2513 สมบัติ-อรัญญา) เสน่ห์ลูกทุ่ง (2513 สมบัติ-เพชรา) เพลงรักแม่น้ำแคว (2513 สมบัติ-เพชรา) แก้วสารพัดนึก (2514 สมบัติ-อรัญญา) ไอ้ทุย (2514 สมบัติ-เพชรา) แว่วเสียงซึง (2514 สมบัติ-อรัญญา) ไก่นา (2514 สมบัติ-เพชรา) คนใจเพชร (2514 สมบัติ-อรัญญา) เพลงรักลูกทุ่ง (2515 สมบัติ-อรัญญา) เจ้าลอย (2515 สมบัติ-อรัญญา) 2 สิงห์ 2 แผ่นดิน (2515 สมบัติ-อโนมา) ไอ้ขุนเพลง (2523 ไพรวัลย์-นิดา) มนต์เพลงลูกทุ่ง เอฟ.เอ็ม (2545 รุ่ง-กุ้ง-ยิ่งยง) ฯลฯ