ดาวดวงที่ 22
ชื่อในการแสดง เยาวเรศ นิสากร
ชื่อ-นามสกุลจริง พวงเพ็ญ แสงสว่างวัฒนะ
วันเกิด 26 เมษายน พ.ศ. 2484
พิมพ์มือลานดารา 11 ตุลาคม พ.ศ. 2551
เยาวเรศ มีชื่อเล่นว่า แดง เกิดที่จังหวัดนครสวรรค์ เรียนจบชั้นมัธยม 6 จากโรงเรียนราชินีล่าง เข้าทำงานเป็นครูที่โรงเรียนเขมะศิริศึกษา เยาวเรศเริ่มเข้าวงการภาพยนตร์ครั้งแรกปี 2506 โดยแสดงเป็นนางเอกคู่กับ แมน ธีระพล ในภาพยนตร์ 16 มม. เรื่อง มงกุฎรักนักเลง แต่ภาพยนตร์ยังไม่ทันได้เข้าฉาย ก็มีภาพยนตร์ที่เยาวเรศแสดงร่วมกับ มิตร-เพชรา ในเรื่อง อวสานอินทรีแดง สร้างโดย แดน กฤษดา เข้ามาฉายก่อนในวันที่ 27 ธันวาคม 2506 ที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง ก็เลยทำให้แฟนภาพยนตร์รู้จักเยาวเรศในบทรองนางเอกก่อน จุดนี้เองที่ทำให้ชีวิตการแสดงภาพยนตร์ของเยาวเรศเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะบรรดาผู้สร้างภาพยนตร์ต่างดึงตัวเยาวเรศไปร่วมแสดงภาพยนตร์อย่างต่อเนื่องในปี 2507 เช่นเรื่อง เล็บอินทรีย์ (สมบัติ-พิศมัย) เลือดข้น (ไชยา-ภาวนา) ร้อยป่า (มิตร-เพชรา) คมแสนคม (ลือชัย-วัลย์ลดา) ละอองดาว (สมบัติ-พิศมัย) หัวใจเถื่อน (มิตร-เพชรา) ในจำนวนนี้ ร้อยป่า สร้างชื่อเสียงให้เยาวเรศมากที่สุดนอกจากนี้ เยาวเรศยังเคยร่วมแสดงภาพยนตร์กับบริษัทโตโฮ ในเรื่อง ไนท์อินแบงค์กอก และกับชอว์บราเดอร์ ในเรื่อง แม่น้ำจระเข้
จากนั้นตั้งแต่ปี 2508 จนถึงปี 2513 ก็มีผลงานภาพยนตร์ซึ่งเยาวเรศแสดงไว้เข้าฉายหลายเรื่องติดต่อกัน เช่นเรื่อง จอมใจ (2508 มิตร-เพชรา) รอยร้าว (2508 ลือชัย-เอื้อมเดือน) นางสาวโพระดก (2508 มิตร-พิศมัย) ธนูทอง (2508 ไชยา-พิศมัย) สามมงกุฎ (2508 สมบัติ-เมตตา) ถิ่นผู้ดี (2508 มิตร-เพชรา) ชื่นชีวัน (2508 มิตร-เพชรา) นางไม้ (2508 สมบัติ-ภาวนา) นางเสือดาว (2508 แมน-ปรียา) พระรถเมรี (2508 ไชยา-เพชรา) ชุมทางรัก (2509 มิตร-เพชรา) หยกแดง (2509 มิตร-พิศมัย) หมอชนินทร์ผู้วิเศษ (2509 สมบัติ-ภาวนา) เพชรตัดเพชร (2509 มิตร-เพชรา) เพชรสีเลือด (2509 มิตร-เพชรา) น้ำตาเทียน (2509 สมบัติ-ภาวนา) ไทรคู่ (2509 มิตร-โสภา) ซัมเซ็ง (2509 สมบัติ-ภาวนา) สามเกลอเจอล่องหน (2509 มิตร-เพชรา) นักเลงสี่แคว (2510 มิตร-เนาวรัตน์) กู่การะเวก (2510 สมบัติ-ภาวนา) ตะวันสีทอง (2510 มิตร-พิศมัย) สุภาพบุรุษเที่ยงคืน (2510 สมบัติ-โสภา) พระลอ (2511 มิตร-เพชรา) อีแตน (2511 มิตร-อรัญญา) จ้าวแผ่นดิน (2511 สมบัติ-เนาวรัตน์) ไอ้หนึ่ง (2511 มิตร-เพชรา) ปีศาจแสนสวย (2512 สมบัติ-โสภา) ยอดรักยูงทอง (2512 สมบัติ-ภาวนา) จอมคน (2512 มิตร-เพชรา) กินรี (2512 สมบัติ-สุทิศา) ไอ้แมวดำ (2512 มิตร-ปริศนา) เทพบุตรสลาตัน (2512 มิตร-เพชรา) แม่นาคพระนคร (2513 มิตร-อรัญญา) เรารักกันไม่ได้ (2513 สมบัติ-สุทิศา) ดาวพระเสาร์ (2513 สมบัติ-อรัญญา) ปี่แก้วนางหงษ์ (2513 มิตร-สุทิศา) จอมโจรมเหศวร (2513 มิตร-เพชรา) อินทรีทอง (2513 มิตร-เพชรา) ฯลฯ ในจำนวนนี้ เพชรตัดเพชร เป็นภาพยนตร์ระบบ 35 มม. เรื่องแรกที่เยาวเรศแสดง แต่ที่ถูกกล่าวขวัญถึงมากที่สุดก็คือ พระลอ ซึ่งเยาวเรศแสดงประกบกับ เพชรา เชาวราษฎร์ ได้อย่างสมศักดิ์ศรี
ต่อมาเยาวเรศได้เบนเข็มไปเป็นนางเอกภาพยนตร์โทรทัศน์คู่กับ สมชาย ศรีภูมิ พัลลภ พรพิษณุ ฯลฯ โดยส่วนใหญ่จะเป็นประเภทจักร ๆ วงศ์ๆ ซึ่งได้รับความนิยมจากแฟนจอแก้วอย่างมากเช่นเรื่อง ปีกกินรี ปลาบู่ทอง พระเวสสันดร พิกุลทอง ฯลฯ ซึ่งบางเรื่องก็มีการนำมาเข้าฉายตามโรงภาพยนตร์ด้วย เช่น แม่ปลาบู่ (2515 พัลลภ-เยาวเรศ) ฝนสามฤดู (2515 เยาวเรศ-ชัย) นางสิบสอง (2517 นรา-เยาวเรศ) พระลักษณวงศ์ (พัลลภ-เยาวเรศ) อภินิหารโกมินทร์ (ไพโรจน์-เยาวเรศ) แต่เยาวเรศก็ยังไม่ทิ้งวงการภาพยนตร์ ยังมีผลงานออกมาฉายอยู่เรื่อย ๆ เช่น สุภาพบุรุษเสือใบ (2514 ครรชิต-เพชรา) วังบัวบาน (2515 สมบัติ-สุทิศา) ลานสาวกอด (2515 ครรชิต-เพชรา) บุหงาหน้าฝน (2515 สมบัติ-อรัญญา) แสนทนง (2515 สมบัติ-เพชรา) หาดทรายแก้ว (2515 สมบัติ-เพชรา) ไอ้แกละเพื่อนรัก (2515 สรพงศ์-นัยนา) แหวนทองเหลือง (2516 ไชยา-นัยนา) เมียเถื่อน (2518 สมบัติ-อรัญญา) แม่ดอกกัญชา (2520 สมบัติ-มยุรา) บัวแก้วบัวทอง (2523 จตุพล-รัชนู) ฯลฯ