ดาวดวงที่ 25
ชื่อในการแสดง ชรินทร์ นันทนาคร
ชื่อ-นามสกุลจริง ชรินทร์ นันทนาคร
วันเกิด 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476
พิมพ์มือลานดารา 25 ตุลาคม พ.ศ. 2551
ชรินทร์ เดิมชื่อ บุญมัย งามเมือง เกิดที่จังหวัดเชียงใหม่ เรียนจบมัธยม 6 ที่โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย แล้วเข้ากรุงเทพมหานครมาเรียนต่อที่โรงเรียนอัสสัมชัญ แต่เพราะเป็นผู้มีใจรักในการร้องเพลง ปี 2492 จึงได้เริ่มฝึกร้องเพลงกับครูไสล ไกรเลิศ จากนั้นก็มีโอกาสได้ร้องเพลงสลับการแสดงละครเวที ละครโทรทัศน์ ชรินทร์ร้องเพลงอัดแผ่นเสียงครั้งแรกด้วยเพลง ดวงใจในฝัน
ขณะที่ชรินทร์ใช้ชีวิตนักร้องก็ถูกทาบทามจาก สุรัสน์ พุกกะเวส เจ้าของหนังสือดาราไทยให้มาแสดงภาพยนตร์เป็นพระเอกครั้งแรกคู่กับนางเอกใหม่ ทรงศรี เทวะคุปต์ ในภาพยนตร์ 16 มม. เรื่อง สาวน้อย ซึ่งในเรื่องมีเพลง สาวน้อย ที่ชรินทร์ร้องไว้เป็นเพลงเอก กำกับการแสดงโดย ส.อาสนจินดา เข้าฉายเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2501 ที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย แต่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมของแฟนภาพยนตร์ในสมัยนั้น ส.อาสนจินดา จึงพลิกบทบาทให้ชรินทร์มาเล่นบท 1 ใน 12 มือปืนมีชื่อว่า ฉึ่ง ช่อมะเดื่อ ซึ่งขณะถ่ายทำตั้งชื่อเรื่องไว้ว่า สิบสองมือปืน แต่ตอนเข้าฉายเปลี่ยนชื่อเป็น สิบสองนักสู้ โดยฉายวันที่ 25 ธันวาคม 2502 ที่โรงภาพยนตร์เอ็มไพร์และพัฒนากร ชื่อของชรินทร์จึงเป็นที่รู้จักมากขึ้นและภาพยนตร์เรื่องนี้เองที่ทำให้ทุกคนเรียกชรินทร์ว่า พี่ฉึ่ง เรื่อยมาจนปัจจุบัน
หลังจากนั้น ชรินทร์ก็ยังคงยึดอาชีพนักร้องเป็นหลัก หากจะมีผลงานแสดงภาพยนตร์บ้าง ก็มักจะเป็นบทบาทที่เกี่ยวข้องกับการร้องเพลง เช่นเรื่อง แพนน้อย (2506 มิตร-เพชรา) ฝนแรก (2506 ไชยา-เพชรา) นกน้อย (2507 มิตร-เพชรา) ใจฟ้า (2508 มิตร-เพชรา) ลมหวน (2508 มิตร-เพชรา) เงิน เงิน เงิน (2508 มิตร-เพชรา) นกยูง (2509 มิตร-เพชรา) เพื่อนรัก (2509 มิตร-รักชนก) ละครเร่ (2512 สุทิศา-กนกวรรณ) หวานใจ (2513 สมบัติ-เพชรา) เรือมนุษย์ (2513 สมบัติ-เพชรา) ฯลฯ
ชรินทร์ เริ่มสร้างภาพยนตร์ครั้งแรกเมื่อปี 2508 เริ่มจากภาพยนตร์ 16 มม. เรื่อง เทพบุตรนักเลง (2508 มิตร-เพชรา) ลมหนาว (2509 มิตร-เพชรา) แมวไทย (2511 มิตร-เพชรา) โดยภาพยนตร์ทั้งสามเรื่องนี้ ชรินทร์ยังไม่ได้เป็นผู้กำกับการแสดง ชรินทร์เริ่มเป็นผู้กำกับการแสดงครั้งแรกจากเรื่อง สวรรค์วันเพ็ญ (2512 มิตร-เพชรา) รักเธอเสมอ (2513 สมบัติ-เพชรา) น้ำผึ้งพระจันทร์ (2515 สมบัติ-เพชรา) แผ่นดินแม่ (2518 สมบัติ-เพชรา) ลูกเจ้าพระยา (2520 สมบัติ-เพชรา) ไอ้ขุนทอง (2521 สรพงศ์-ปิยะมาศ) เพลงรักดอกไม้บาน (2522 ราวิน-นันทิดา) แผ่นดินแห่งความรัก (2523 ราวิน-จารุณี) รักข้ามคลอง (2524 สรพงศ์-จารุณี) รักมหาสนุก (2525 ทูน-ฤทัยรัตน์) บ้านน้อยกลางดง (2526 สรพงศ์-จารุณี) บ้านสีดอกรัก (2527 สรพงศ์-จารุณี) ผู้การเรือเร่ (2528 สรพงศ์-จารุณี) ลูกทุ่งฮอลลิเดย์ (2529 สรพงศ์-สินจัย) ฟ้าสีทอง (2530 ยุรนันท์-พิม) ผู้พันเรือพ่วง (2530 ยุรนันท์-นาถยา) คุณจ่าเรือแจว (2531 ตวงสิทธิ์-ศศิมาภรณ์)
อาจเป็นเพราะว่า ชรินทร์ชอบร้องเพลง ดังนั้น ภาพยนตร์ส่วนใหญ่ที่ชรินทร์สร้างหรือกำกับจึงจะมีฉากที่เกี่ยวข้องกับเพลงประกอบอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการใส่เพลงประกอบหรือมีนักร้องลูกทุ่ง-ลูกกรุงมาร่วมแสดง ส่วนเรื่อง รักเธอเสมอ เป็นเรื่องแรกที่ชรินทร์ไปถ่ายทำในต่างประเทศ โดยไปถ่ายทำในงานเอ็กซ์โป ประเทศญี่ปุ่น ส่วนเรื่อง น้ำผึ้งพระจันทร์ เป็นภาพยนตร์ 35 มม. เสียงในฟิล์มเรื่องแรกที่ชรินทร์สร้างและกำกับซึ่งมีการไปถ่ายทำที่ประเทศอิตาลี อียิปต์ กรีก นอกจากนี้ ชรินทร์ยังเคยสร้างภาพยนตร์ระบบ 70 มม.เสียงในฟิล์มด้วยเช่น แผ่นดินแม่ ลูกเจ้าพระยา
ชรินทร์ ได้รับพระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า นันทนาคร ซึ่งมีความหมายว่า ผู้ให้ความรื่นรมย์แก่ชาวเมืองและได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ได้รับการยกย่องให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ประจำปี 2541