นพดล ดวงพร

ดาวดวงที่ 51

ชื่อในการแสดง นพดล ดวงพร

ชื่อ-นามสกุลจริง ณรงค์ พงษ์ภาพ

วันเกิด 15 ธันวาคม พ.ศ. 2484

พิมพ์มือลานดารา 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2552


นพดล มีชื่อเล่นว่า รงค์ เกิดที่อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี คุณพ่อมีอาชีพหมอลำกลอน คุณแม่เป็นนักร้องเพลงพื้นเมืองโคราช นพดลเรียนจบเพียงชั้นป.4 แต่เพราะมีใจรักทางด้านการร้อง การพูด จึงไปสมัครอยู่กับวงดนตรีคณะพิพัฒน์บริบูรณ์อยู่หลายปี พอออกจากวงดนตรีก็ไปจัดรายการวิทยุที่สถานีวิทยุ 08 อุบลราชธานี จากนั้นก็สมัครเป็นลูกศิษย์วงดนตรีจุฬารัตน์ ของครูมงคล อมาตยกุล ซึ่งเป็นผู้ตั้งชื่อให้ว่า นพดล ดวงพร 


ต่อมาในปี 2514 นพดลได้แยกตัวไปก่อตั้งวงดนตรีของตนเอง โดยนำเอาเครื่องดนตรีพื้นบ้านคือ พิณ มาบรรเลงร่วมกับเครื่องดนตรีสากล ตั้งชื่อวงดนตรีว่า คณะเพชรพิณทอง โดยมีหมอพิณคู่ใจที่สร้างตำนานมาด้วยกันคือ ทองใส ทับถนน จุดเด่นของวงเพชรพิณทองอยู่ที่ทีมโฆษกหรือพิธีกรที่ใช้ภาษาท้องถิ่นอีสานเป็นหลักในการนำเสนอเนื้อหา รีวิวประกอบเพลง เป็นทีมตลกที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งประกอบด้วย นพดล ดวงพร ลุงแนบ หนิงหน่อง ใหญ่ หน้ายาน แท็กซี่ เป็นต้น


นอกเหนือจากการร้องเพลงและหางเครื่องตระการตาจำนวนมากแล้ว วงดนตรีเพชรพิณทอง ยังออกเทปเพลง เทปตลกชุดต่าง ๆ หลายชุดที่โด่งดังจำหน่ายเช่น ค้นหาคนดัง หมอลำบันลือโลก หนิงหน่องย่านเมีย บวชลุงแนบ สามใบเฒ่า นอกจากนี้ นพดลยังเป็นผู้ปั้นนักร้องลูกทุ่งไทยอีสานที่มีชื่อเสียงอีกหลายคนเช่น นกน้อย อุไรพร ชุติมา ดวงพร นพรัตน์ ดวงพร วิเศษ เวณิกา 

สิ่งที่นพดลภาคภูมิใจที่สุดในชีวิตการเป็นนักดนตรีก็คือ การนำวงดนตรีเพชรพิณทอง แสดงสดหน้าพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ณ เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2514 ซึ่งต่อมานภดลก็ถือเอาวันแสดงดังกล่าวนี้เป็นวันเปิดวงและจัดให้มีการทำบุญทุก ๆ ปี


ในด้านภาพยนตร์นั้น นพดลจะไม่เรียกตัวเองว่า เป็นดารา หากแต่ชอบที่จะใช้คำว่าเป็นนักแสดงมากกว่า โดยช่วงแรกภาพยนตร์ส่วนใหญ่ที่แสดงมักจะได้รับบทให้ออกมาร้องเพลง ภาพยนตร์เรื่องแรกที่แสดงก็คือ วิวาห์พาฝัน (สมบัติ-อรัญญา) ของละโว้ภาพยนตร์ เข้าฉายเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2514 ตามด้วย ลำดวน (2514 สมบัติ-เพชรา) แต่หลังจากที่นพดลยกวงดนตรีเพชรพิณทองร่วมแสดงในเรื่อง มนต์รักแม่น้ำมูล (2520 สมบัติ-นัยนา) ของ กมล กุลตังวัฒนา ต่อมานพดลก็ได้รับบทเด่นเป็น ครูใหญ่คำเม้า แห่งบ้านหนองหมาว้อ ในเรื่อง ครูบ้านนอก (2521 ปิยะ-วาสนา) ซึ่งเป็นการรับบทที่ไม่ใช่นักร้องเป็นครั้งแรก เมื่อภาพยนตร์เข้าฉาย ก็สร้างชื่อเสียงให้กับนพดลอย่างมาก หลังจากนั้นนพดลก็รับงานแสดงภาพยนตร์แทบทุกบท เช่นเรื่อง หนองหมาว้อ (2522 วาสนา-อุดม) คนกลางแดด (2522 รณ-เบญจวรรณ) 7 สิงห์ตะวันเพลิง (2522 ปิยะ) ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ (2523 ปิยะ-วาสนา) ไฟนรกขุมโลกันต์ (2523 สรพงษ์-ลลนา) ผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมิน (2523 ล้อต๊อก) ลูกแม่มูล (2523 ปิยะ-สุพรรษา) จับกัง กรรมกรเต็มขั้น (2523 สรพงษ์-สุพรรษา) ไข่ลูกเขย (2524 ทูน-เนาวรัตน์) ขบวนการแก้จน (2524 ล้อต๊อก) บันทึกลับครูพร (2524 นพดล-สุริโย) ซึ่งเป็นการรับบทนักแสดงนำครั้งแรก ตามด้วยเรื่อง เสน่ห์บางกอก (2524 สรพงษ์-เนาวรัตน์) สิงโตคำราม (2524 สรพงษ์-เนาวรัตน์) หมามุ่ย (2524 สรพงษ์-เนาวรัตน์) นักสืบฮาร์ด (2525 ทูน-จารุณี) ครูข้าวเหนียว (2528 ล้อต๊อก) ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ (2545 อนุชิต) มากับพระ (2549) นพดลยังแสดงละครโทรทัศน์เช่นเรื่อง โคกคูนตระกูลไข่ เพลงรักริมฝั่งโขง เรไรลูกสาวป่า 


นอกจากนี้ เมื่อปี 2532 นพดลยังได้รับยกย่องให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม ได้รับรางวัลสุพรรณหงส์ ปี 2545 ในฐานะผู้แสดงนำชายยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่อง ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ และต่อมาปี 2552 ได้รับรางวัลผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น