วันเกิด 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2466
พิมพ์มือลานดารา 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2551
ชาลี เดิมชื่อว่า สง่า เกิดที่จังหวัดสมุทรสาคร จบจากโรงเรียนอำนวยศิลป์และโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟรุ่นแรก แต่มีความสนใจด้านเสียงเพลง เคยประกวดร้องเพลงตามงานวัดได้ที่ 1 ต่อมา ครูล้วน ควันธรรม ชักชวนไปเป็นนักร้องคณะแซมเบอร์มิวสิคและได้แสดงละครเพลง ต่อมาก็เข้าวงดนตรีประสานมิตร ซึ่งมี สมาน กาญจนะผลิน ประสิทธิ์ พยอมยงค์ สง่า ทองธัช เป็นผู้สนับสนุนให้แต่งคำร้องเพลงจนเป็นที่ประจักษ์แก่วงการเพลง
ในวงการภาพยนตร์นั้น ชาลีแสดงเป็นตัวประกอบมาตั้งแต่ปี 2498 และเคยเป็นพระเอกในปี 2499 เรื่อง โอ้ชนกชนนี คู่กับ อรวรรณ เนียนชำนาญ แม้ต่อมายุคของพระเอก-นางเอกจะเปลี่ยนไป แต่ชาลีก็ยังมีงานแสดงภาพยนตร์ตลอดมา เช่น สลัดดำ (2498 สุรสิทธิ์-วารุณี) สี่สิงห์นาวี (2499 สุรสิทธิ์-วิไลวรรณ) กระท่อมทิพย์ (2504 จิตรกร-ดวงใจ) จอมใจเวียงฟ้า (2505 จิตรกร-อรสา) สวรรค์มืด (2501 สุเทพ-สืบเนื่อง) ขบวนเสรีจีน (2502 สุเทพ-มิสคูมี่) ดอกฟ้าในมือโจร (2501 ลือชัย-ตรีงตา) พรายดำ (2507 ลือชัย-เพชรา) คมแสนคม (2507 ลือชัย-วัลย์ลดา) ค่าน้ำนม (2503 มิตร-ปรียา) สิงห์เดี่ยว (2505 มิตร-นฤมล) อำนาจมืด (2506 มิตร-บุศรา) รัก-ยม (2512 มิตร-เพชรา) โนห์รา (2504 สมบัติ-รัตนาภรณ์) สกาวเดือน (2505 สมบัติ-รัตนาภรณ์) สมิงสาว (2506 สมบัติ-รัตนาภรณ์) กระเบนธง (2509 สมบัติ-โสภา) ฯลฯ ชาลีมีผลงานแสดงภาพยนตร์อีกหลายยุคเช่น ยุคของสรพงศ์ ทูน อำพล สันติสุข ฯลฯ ชาลีได้รับรางวัลตุ๊กตาทองพระสุรัสวดี ดาราประกอบชายยอดเยี่ยมจากเรื่อง คาดเชือก (2527 สรพงศ์)
ระหว่างแสดงภาพยนตร์ ชาลียังเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ด้วย โดยครั้งแรกสร้างในชื่อ ศรินทราภาพยนตร์ เริ่มจากเรื่อง ดวงตาสวรรค์ (2507 สมบัติ-พิศมัย) ซึ่งทำให้ พิศมัย ได้รับรางวัลตุ๊กตาดารานำหญิงยอดเยี่ยมและคุณาวุฒิ ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองผู้กำกับการแสดงยอดเยี่ยม ต่อด้วยเรื่อง ชาติเจ้าพระยา (2508 มิตร-เพชรา) มี เนรมิต กำกับการแสดง พอถึงเรื่องที่ 3 จึงเริ่มใช้ชื่อ อินทรวิจิตรภาพยนตร์ จากเรื่อง ใจฟ้า (2508 มิตร-เพชรา ) พันคำ เป็นผู้กำกับการแสดง แต่เรื่องที่ 4 คือ 7 พระกาฬ (2510 มิตร-เพชรา) มีชื่อ ศรินทิพย์ ศิริวรรณ ภริยาเป็นผู้อำนวยการสร้างและชาลีลงมือกำกับภาพยนตร์เองและจากนั้นก็เรื่อง จั๊กจั่น (2511 มิตร-เพชรา) ไอ้หนึ่ง (2511 มิตร-เพชรา) ปราสาททราย (2512 มิตร-เพชรา) กิ่งแก้ว (2513 มิตร-สุทิศา) สื่อกามเทพ (เนรมิต ร่วมกำกับ 2514 สมบัติ-เพชรา) สวนสน (2515 ยอดชาย-พิศมัย) ขอบฟ้าเขาเขียว (2516 สมบัติ-อรัญญา) ใครจะร้องไห้เพื่อฉัน (2517 ยอดชาย-ภาวนา) ประทีปอธิษฐาน (2517 อุเทน-ภาวนา) ผยอง (2518 สุริยา-นิรุตต์-ปิยะมาศ) นางสาวลูกดก (2519 สมบัติ-พิศมัย) มันทะลุฟ้า (2520 สมบัติ-สรพงศ์-นัยนา) ฯลฯ
ชาลี ยังรับกำกับการแสดงภาพยนตร์ให้กับผู้สร้างรายอื่นด้วย เช่น ความรักเจ้าขา (2512 มิตร-เพชรา) โซ่เกียรติยศ (2518 สมบัติ-อรัญญา) เกวียนหัก (2521 สรพงศ์-นันทนา) ขอเช็ดน้ำตาให้ตัวเอง (2521 สมบัติ-นัยนา) ชั่วฟ้าดินสลาย (2523 วิฑูรย์-ธิติมา) ฝนตกแดดออก (2523 สรพงศ์-ลลนา) สายใจ (2524 พิศาล-เนาวรัตน์) ไอ้หนึ่ง (2525 ทูน-จารุณี) เพลงรักก้องโลก (2526 ทูน-จารุณี) ยันต์สู้ปืน (2527 สรพงศ์-ม.ล.สุรีย์วัล) ลูกสาวคนใหม่ (2527 ทูน-จารุณี) ความรัก (2531 สันติสุข-จินตหรา) ยิ้มนิดคิดเท่าไร (2532 จินตรา-ชูศักดิ์) ฯลฯ
นอกจากนี้ ชาลียังใช้ความสามารถด้านการประพันธ์คำร้อง แต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ไว้มากมาย ซึ่งบางเพลงก็ได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง เช่นเพลงจากเรื่อง ลูกทาส ลูกเจ้าพระยา เพชรตัดหยก อาจารย์อ้วนสติเฟื่อง ที่ได้รับรางวัลสุพรรณหงส์ เช่นเพลงจากเรื่อง บ้านทรายทอง ค่าของคน ไอ้ผาง รฟท. ฯลฯ และปี 2536 ชาลีได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้ประพันธ์คำร้อง-ผู้กำกับภาพยนตร์)