ปริม บุนนาค

ดาวดวงที่ 8

ชื่อในการแสดง ปริม บุนนาค

ชื่อ-นามสกุลจริง หม่อมปริม บุนนาค

วันเกิด พ.ศ. 2466

พิมพ์มือลานดารา 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2551


หม่อมปริม เกิดที่กรุงเทพมหานคร เป็นธิดาพระยานิพัทธ์กุลพงศ์ (ชิน บุนนาค) กับ คุณหญิงเปลื้อง เป็นหลานปู่พระยาประภากรวงศ์วรวุฒิภักดี (ชาย บุนนาค) เข้าเรียนที่โรงเรียนผดุงดรุณี และโรงเรียนมิชชันนารีพระคริสตธรรม จบระดับชั้นประถมศึกษา ท่านบิดาให้ออกจากโรงเรียนมาอยู่บ้าน โดยท่านเป็นครูสอนวิชาต่าง ๆ ให้ โดยเริ่มหัดพิมพ์ดีดตั้งแต่เด็กจนพิมพ์ภาษาอังกฤษได้ และช่วยท่านบิดาพิมพ์จดหมายโต้ตอบกับชาวต่างประเทศ 


หม่อมปริม เริ่มเข้าสู่วงการภาพยนตร์เมื่ออายุประมาณ 16 ปี โดยได้แสดงเป็นนางเอกในภาพยนตร์ 35 มม. ขาวดำ เสียงในฟิล์ม เรื่อง วันเพ็ญ กำกับการแสดงโดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล (เสด็จพระองค์ชายใหญ่) และมีนายชาญ บุนนาค พี่ชายเป็นผู้กำกับเสียง มี นายสนิท พุกประยูร เป็นพระเอก เข้าฉายวันที่ 27 ตุลาคม 2482 ที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง ก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี 


ต่อมาหม่อมปริมได้แสดงละครการกุศลให้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิราชประชาสมาศัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เรื่อง ฟ้าแจ้งจางปาง มีศาสตราจารย์คุณหญิงจินตนา ยศสุนทร และศาสตราจารย์คุณหญิงเต็มศิริ บุณยสิงห์ ร่วมแสดงด้วย หลังจากนั้นพี่ชายก็ชวนไปเล่นละครเวทีที่โรงละครแห่งชาติ 


ในปีต่อมาได้เป็นหม่อมของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง หม่อมปริมได้เปิดร้านเสริมสวยชื่อ โมฬี เนื่องจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล โปรดงานด้านศิลปะทุกแขนงทั้งภาพยนตร์ ละคร วรรณกรรมและโบราณวัตถุ เป็นต้น ท่านได้ตั้งโรงพิมพ์ประชาธิปไตย เขียนคอลัมน์วิจารณ์การเมือง ซึ่งในสมัยนั้นการเขียนบทความเช่นนั้นต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก จึงเปลี่ยนมาเขียนบทละครซึ่งเรื่องที่มีชื่อเสียงมากก็คือ เรื่อง พันท้ายนรสิงห์ ต่อมาก็มีการนำมาแสดงเป็นละครเวที เสด็จพระองค์ชายใหญ่ทรงสร้างละครในนามของคณะอัศวินการละคร หม่อมปริมได้เข้ามาช่วยงานทั้งสองกิจการและได้เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนการแสดงของอัศวินการละคร  


หม่อมปริม มีส่วนช่วยในการจัดการการสร้างภาพยนตร์ของอัศวินภาพยนตร์แทบทุกเรื่องเช่น พันท้ายนรสิงห์ (2493 ชูชัย-สุพรรณ) นางกลางเมือง (2497 สมจิตต์-ฉลอง) ถ่านไฟเก่า (2500 วิไลวรรณ-สมบัติ) นเรศวรมหาราช (2501 รัตนาภรณ์-ชูชัย) สุดชีวิต (2503 ไชยา-อมรา) เรือนแพ (2504 ไชยา-มาเรียจาง-จินฟง-ส.อาสนจินดา) จำปูน (2507 มิสจูลี่ ซีเหย่น-แมน) เป็ดน้อย (2511 ไชยา-สุทิศา) ละครเร่ (2512 สุทิศา-มานพ) เรารักกันไม่ได้ (2513 สมบัติ-สุทิศา) น้ำผึ้งขม (2517 นฤมล-สอาด) ทะเลฤาอิ่ม (2519 สรพงศ์-วิยะดา) อัศวิน 19 (2519 กรุง-อรัญญา) ยมบาลจ๋า (2521 กรุง-อรัญญา) คนมีคาว (2521 สรพงศ์-นัยนา) เงาะป่า (2523 จตุพล-ศศิธร)


อย่างไรก็ตาม หม่อมปริม มีฝีมือในการทำอาหารคาวหวานหลายอย่าง เนื่องจากชีวิตในวัยเด็กเคยอยู่ในบ้านท่านเจ้าจอมพิศว์ (เจ้าจอมในรัชกาลที่ 5) ซึ่งท่านมีศักดิ์เป็นทวด ได้เคยช่วยงานประดิษฐ์และแกะสลักผลไม้ ทำขนมปั้นขลิบ และขนมลูกชุบ เป็นต้น เมื่อมีการประกวดการทำขนมลูกชุบในงานเคหะสงเคราะห์ องการเคหะแห่งชาติ ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกที่สวนอัมพร ประมาณปี พ.ศ. 2496 หม่อมปริมได้ส่งขนมลูกชุบฝีมือของตนเองเข้าประกวดได้รับรางวัลที่ 1 หลังจากนั้นได้ทำขนมลูกชุบเป็นงานอดิเรก ฝากขายที่ร้านอาหารสุโขทัย เมื่อมีคนรู้จักสั่งมากขึ้น จึงรับทำตามสั่งอย่างเดียว ส่วนใหญ่จะปั้นเป็นรูปผลไม้ต่าง ๆ โดยจดจำสูตรจากคุณย่าคือ ท่านชื่น ภรรยาพระยาประภากรวงศ์วรวุฒิภักดี (ชาย) นอกจากนี้ ยังทำท็อฟฟี่กะทิจากสูตรคุณหญิงเปลื้อง บุนนาค มารดาของหม่อมปริมอีกด้วย